ชุมชนเข้มแข็ง ทุกวิกฤต…ซ่อมได้
หมอประเวศแนะ 10 ทางรอดประเทศไทย
แวะเข้าไปฟังการประชุมของเครือข่ายสถาบันทางปัญญา ปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสุขภาพวะคนไทย เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมาเพราะเห็นว่าเป็นการประชุมครั้งแรกในการเปิดศักราชปี 2553 แล้วก็ได้รับรู้จากปากของ นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส. ว่า การประชุมเพื่อขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก ซึ่งจัดทุกวันอังคารเว้นวันอังคารครั้งนี้เป็นครั้งที่ 26 แล้ว ที่สำคัญคือ เป็นวาระครบรอบ 1 ปีของการประชุมด้วย
ไม่ได้พิธีรีตองฉลองอะไรเป็นกรณีพิเศษหรอกครับ แต่ยังคงมีการระดมสมอง และใช้สติปัญญาอภิปราย แสดงความคิดเห็นกันอย่างเข้มข้น เพื่อหาทางรอดให้กับประเทศไทยท่ามกลางวิกฤตสังคมการเมืองและเศรษฐกิจ อันเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า
“ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องเปลี่ยนไปและเปลี่ยนแปลง”
ครบรอบ 1 ปี ที่ผู้เห็นปัญหาบ้านเมืองต้องแก้ไข ทั้งข้าราชการ นักวิชาการ นักวิจัย นายแพทย์ นักกฎหมาย ครูบาอาจารย์ ข้าราชการ บำนาญ นักพัฒนาสังคม นักบริหารท้องถิ่น ตลอดจนตัวแทนเอกชน มารวมตัวกันภายใต้แนวคิดปฏิรูปหาทางรอดให้ประเทศไทย 10 เรื่อง โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโสเป็นผู้ตั้งโจทย์ อันได้แก่ 1.สร้างจิตสำนึกใหม่ 2.ระบบเศรษฐกิจใหม่สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ 3.ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น 4.สร้างระบบการศึกษาที่พาชาติออกจากวิกฤติ 5.ธรรมาภิบาลของการเมืองการปกครองระบบความยุติธรรมสันติภาพ 6.ระบบสวัสดิการสังคมที่ก้าวหน้า 7.ระบบพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่มีดุลยภาพ 8.การปฏิรูประบบสุขภาพเพื่อสุขภาวะของคนทั้งมวล 9.การวิจัยยุทธศาสตร์ชาติ และ 10.สร้างระบบการสื่อสารที่ผสานการพัฒนาทุกเรื่อง
ผมชักสงสัยขึ้นมาตงิดๆ แล้วว่า ผมโชคดีหรือโชคร้ายกันแน่?!? ที่มารับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ มากมาย ซึ่งมีการนำเสนออย่างเป็นระบบ และมีระเบียบวิธีตามมาตรฐานสากลอันเป็นที่ยอมรับ กระทั่งเกิดมีองค์ความรู้เพิ่มขึ้น และเข้าใจในรากฐานของปัญหาและวิกฤตการณ์ต่างๆ อย่างรอบด้าน
สารภาพตามตรงครับว่า ข้อสงสัยของผมเกิดจากการระดมความคิดเห็นในแต่ละครั้ง ประธานที่ประชุมและคณะ จะมีผู้เสนอหัวเรื่องในการอภิปรายประมาณว่า ทำหน้าที่นั่งหัวโต๊ะบอกกล่าวเล่าสิบถึงที่มาและที่ไปของปัญหาอย่างละเอียดยิบ พร้อมด้วยข้อเสนอแนะ
แต่ละเรื่องแต่ละหัวข้อ ไม่เพียงน่าสนใจ น่าตื่นตาตื่นใจความรู้ที่ได้อย่างตรงไปตรงมาไม่มีรายการกั๊กหรือหมกเม็ดเท่านั้น ทว่า…มันเต็มไปด้วยข้อเท็จจริงที่น่าเจ็บปวดหัวใจว่า ขบวนการโกง ฉ้อฉล มีกันทุกระดับเสียจนรู้สึกเหนื่อยแทนคนที่คิดจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลกว่าจะมีโอกาสเห็นความฝันเป็นจริงได้เมื่อไหร่
อย่างกรณีของ “นมโรงเรียน” นโยบายสาธารณะที่ทุกรัฐบาลภาคภูมิใจเหลือเกินว่า ทำเพื่อเด็กนักเรียน มักจะต้องตกเป็นข่าวทุกปีว่าเกิดปัญหา
ทำไมและเพราะอะไร???? ปัญหานมโรงเรียนจึงแก้ไม่ได้รู้จบ!!!
ถ้าให้ผมวิเคราะห์ตามที่ติดตามและรับรู้ข่าวสารมาอย่างต่อเนื่องรวมทั้งจากการนำเสนอปัญหาเพื่อการหาทางรอดให้กับประเทศไทย เพราะเรื่องของการแก้ปัญหาโกง เป็นข้อห้าการสร้างธรรมาภิบาล ตามแนวคิดปฏิรูปประเทศไทยของคุณหมอประเวศแล้ว สรุปได้ว่า
ปัญหานมโรงเรียน “แตกเลือดกันทั้งระบบ” นั่นเอง (คำว่า “แตกเลือด” เป็นความรู้ใหม่จากที่ประชุมนี้สดๆ ร้อนๆ เป็นภาษาแสลงของชาวปักษ์ใต้ที่อธิบายถึงพฤติกรรมการฉ้อฉลโกงกิน ซึ่งถือว่าสูงสุดของการโกง เริ่มจาก รับประทาน กิน แดก แล้วก็แตกเลือดขอรับ)
จากการศึกษาพบข้อเท็จจริงว่า เส้นทางนโยบายสาธารณะที่เริ่มจากปี 2535 เพื่อแก้ปัญหานมดิบของเกษตรกรโคนมล้นตลาด และต้องการให้เด็กได้บริโภคอาหารเสริมที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายนั้น งบประมาณทุกเม็ดมีการตกหล่นเข้ากระเป๋าบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างการจัดซื้อจัดจ้างบริหารจัดการก่อนถึงมือของเด็กนักเรียนอย่างน้อย 7 กลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม สหกรณ์ กรมปศุสัตว์ โรงงานผลิตนม เอเย่นต์ ผู้รับซื้อและจัดจำหน่ายนม องค์การบริหารส่วนตำบล โรงเรียน เป็นต้น
เรียกว่างบประมาณ 100 บาทจากรัฐบาลเพื่อวัตถุประสงค์สองข้อคือช่วยเกษตรกรกับให้เด็กได้ดื่มนมนั้น มีแค่ 30 บาทเท่านั้นที่บรรลุเป้าหมาย ที่เหลือ 70 บาท “แตกเลือด” กันในระบบจนอิ่มหมีพีมันแล้วลองคิดสิครับว่าจากปี 2537 งบประมาณโครงการนมโรงเรียน 1,207 ล้านบาท แต่ปี 2552 งบประมาณสูงถึง 13,595 ล้านบาท…ใคร?!?เข้มแข็งคร้าบ
นี่แหละครับที่ผมชักสับสนว่า โชคดีหรือร้ายที่รู้มาก ทำให้เครียดมาก และเริ่มรู้สึกเหนื่อยใจแทนท่านผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายที่กำลังเพียรพยายามระดมความคิดปลุกปั้นเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้มีเส้นทางที่ดีกว่าวันนี้
อย่างไรก็ตาม ผมก็คงเขียนบ่นเล่าสู่กันอ่านเท่านั้น เพราะถึงที่สุดผมก็เห็นร่วมด้วยกับอาจารย์หมอประเวศ และคุณหมอสุภกรว่า การปฏิรูปประเทศไทยเป็นเรื่องยากแต่ก็สามารถทำได้หากปัจเจกบุคคลในแต่ละกลุ่มหรือชุมชนมีจิตสำนึก รวมตัวกันแล้วทำสิ่งที่ดีๆ จากนั้นพลังก็จะขยายเป็นเครือข่าย สุดท้ายก็จะพาประเทศไทยและสังคมไทยออกจากหลุมดำไปสู่จุดลงตัวใหม่ได้
ตัวอย่างขององค์การบริหารส่วนตำบลปากพูน ในอำเภอเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่นายธนาวุฒิ ถาวรพราหมณ์ นายก อบต.ปากพูนใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการต่อสู้กับ “มาเฟีย” โครงการนมโรงเรียน จนสามารถสร้างระบบการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมที่ชาวบ้านได้รับเงินงบประมาณทุกเม็ดทุกสตางค์มาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองและพัฒนาท้องถิ่น ก็เป็นคำตอบที่ยืนยันว่า ชุมชนเข้มแข็ง ประเทศไทยจะต้องก้าวพ้นวิกฤตสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนแน่นอน
อาจจะเป็นข้อเสนอที่ทำไม่ได้ง่ายนัก ทั้งจากที่ประชุมเครือข่ายสถาบันทางปัญญา และนายกอบต.ปากพูน ผู้มีประสบการณ์ตรงกับขบวนการ “แตกเลือด” นมโรงเรียน เพราะทุกคนเห็นว่า
ต้องยกเลิกโครงการนมโรงเรียน หากต้องการหยุดวงจรอุบาทว์ของขบวนการโกงกินถึง 7 ขั้นตอน เม็ดเงินหลายพันล้านบาทต่อปี
ความยาก…ในการรื้อกระดานนโยบายสาธารณะดังกล่าว ไม่ใช่ว่าไม่มีใครรู้ และไม่มีใครสนใจ หรือคิดง่ายๆ โดยปราศจากความยินดียินร้ายต่อบรรดาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เสมือนหนึ่งคนทำงานบนหอคอยงาช้างแล้วก็สั่งๆๆๆ เปลี่ยนๆๆๆ ปรับๆๆๆ
แต่เนื่องจากมีตัวอย่างแล้วว่า หากชุมชนเข้มแข็ง มีการจัดระบบพึ่งพาตนเอง ไม่ยอมเปิดช่องโหว่ให้กับขบวนการแตกเลือด เรื่องยากๆ ก็จะค่อยๆ คลี่คลายลงและกลายเป็นเรื่องหมูๆ ในที่สุด อาจจะต้องใช้เวลา แต่ก็เป็นการรอคอยหรือความพยายามที่คุ้มค่า
คงไม่มีใครรู้ดีไปกว่าชุมชนหรือเด็กนักเรียนทั้งหลายหรอกว่าการต้องทนบริโภคอาหารเสริมหรือนมที่มีการยัดเยียดจากส่วนกลางโดยตัวเองไม่อยากกินหรือไม่เต็มใจนั้นเป็นอย่างไร ยิ่งต้องเจอนมบูด มันเซ็งเป็ดชัดๆ
ส่วนผมเองหย่านมแล้ว ฟังนายก อบต.ปากพูนพูดก็รู้สึกฮึกเหิมมีกำลังใจมากขึ้นเพราะนมบูดแก้ได้ด้วยชุมชนเข้มแข็งนั่นเอง และเหนืออื่นใดผมว่าทุกวิกฤตจะกลายเป็นเรื่องสิวๆ ไปทันทีหากชุมชนร่วมมือร่วมใจกันอย่างมีจิตสำนึกรักและหวงแหนสิทธิและผลประโยชน์ของส่วนรวม
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
Update 15-03-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์