ชุมชนอินทรีย์ สายนี้ต้อง ‘สตรอง’

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 


ภาพประกอบจากกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 


ชุมชนอินทรีย์ สายนี้ต้อง ‘สตรอง’ thaihealth


หลายทศวรรษที่ผ่านมา คำว่า “เกษตรอินทรีย์” เข้ามาอยู่ในวิถีการผลิตของสังคมไทยในสถานะของ ‘ทางเลือก’ และแม้ว่าทุกวันนี้กระแสรักสุขภาพ-รักโลกจะมาแรง แต่วิถีการผลิตที่เป็นมิตรกับชีวิตและสิ่งแวดล้อมก็ยังคงเป็นแค่‘ทางเลือก’ ที่ทั้งคนปลูก คนขาย คนซื้อ ต้องเข้มแข็งและยืนหยัดในแนวทางของตัวเองให้ตลอดรอดฝั่ง


ก่อนที่คนปลูกจะถอดใจ ผู้บริโภคจะหนีหาย คนขายจะม้วนเสื่อกลับบ้าน วงสนทนาเล็กๆ ที่ ‘ชุมชนอินทรีย์มีโชค’ ชวนค้นหาทางออกของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีแบบครบวงจร โดยมีกองหนุนคือ สสส.,มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ, เครือข่ายเชียงใหม่เขียว สวย หอม และฮักเวียงช็อป


ผู้ผลิตเข้มแข็ง


วัฒนา ทรงพรไพศาล หนุ่มปกาเกอะญอวัย 30 ปี หอบความฝันที่จะทำเกษตรอินทรีย์กลับไปบ้านเกิดที่อ.แม่แจ่ม แม้จะร่ำเรียนมาในสายเกษตร แต่กว่าจะตั้งหลักได้เขายอมรับว่าหนักหนากว่าที่คิด


“หลังจากที่เรียนจบจากม.แม่โจ้ ผมก็ได้ไปทำงานหลายๆ ที่ รู้สึกว่าตัวเองจบเกษตร แต่ไม่ได้ทำหน้าที่เกษตรกรเท่าไหร่ ก็เลยออกจากงานแล้วไปสมัครที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ก็ได้ทำงานที่เกี่ยวกับเกษตรโดยตรง แต่ทีนี้เวลากลับไปบ้านรู้สึกว่า คนบนดอยมีวิถีชีวิตที่กินเหมือนเดิม แต่ว่าผลิตไม่เหมือนเดิม จากเมื่อก่อนที่เรากินผักตามรั้วบ้าน ในสวน ก็ยังกินเหมือนเดิม แต่ปัจจุบันสารเคมีเยอะมาก ความเสี่ยงก็เยอะมาก


เราคิดว่าในฐานะที่เราจบเกษตรมา น่าจะสามารถทำอะไรให้ชุมชนได้บ้าง ก็เลยตัดสินใจลาออกจากงาน แล้วก็มาทำเกษตร ทีนี้ก็มาดูว่ามีพืชอะไรที่น่าจะทำได้บ้าง ก็คิดถึงพลับ กาแฟ ตอนนั้นสตรอว์เบอรี่ยังไม่ได้คิด พอกลับไปปุ๊บ สตรอว์เบอรี่เป็นที่นิยมมาก แต่ก็เป็นพืชที่ใช้สารเคมีมากที่สุดก็ว่าได้ เลยคิดว่าเราจะทำอย่างไรที่จะปลูกสตรอว์เบอรี่ได้โดยไม่ใช้สารเคมี ก็พยายามไปรวมกลุ่มกับเพื่อน” วัฒนา เล่าเส้นทางกว่าจะมาเป็น ‘วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ แม่นาจร’


หลังจากชักชวนเพื่อนได้เกือบ 20 คน เขาเริ่มขายไอเดีย ลด ละ เลิกการใช้สารเคมีในทุกขั้นตอน ด้วยความยุ่งยากและไม่มั่นใจทำให้สมาชิกในกลุ่มที่ตั้งใจจะเดินหน้าสตรอว์เบอรี่อินทรีย์ต่อเหลือเพียง 6 คน


ชุมชนอินทรีย์ สายนี้ต้อง ‘สตรอง’ thaihealth


หลังจากใช้เวลาลองผิดลองถูกเกือบหนึ่งปี ผลผลิตชุดแรกออกมาปรากฏว่า สตรอว์เบอรี่อินทรีย์ของเขาขาดทุน เพื่อนร่วมอุดมการณ์เหลือเพียง 2 คนที่ยืนหยัดจะสู้ต่อ “คือเคมี ผลผลิตจะออกสู่ตลาดเยอะมาก อย่างผมปลูกได้ 3,000 ต้น เพื่อนผมที่ปลูกเคมีได้ 10,000 กว่าต้น เขาก็ทิ้งอินทรีย์ไป”


ทว่า ระหว่างอุปสรรคยังมีความหวัง เมื่อร้านฮักเวียงช็อปเข้ามารับซื้อผลผลิตทั้งหมด รวมไปถึง “ลูกแดง” (สตรอว์เบอรี่ช้ำลูกเล็กๆ) เพื่อนำไปทำแยมสตรอว์เบอรี่ ทำให้มีรายได้เข้ามาต่อลมหายใจแปลงเกษตรอินทรีย์ และเปลี่ยนเป็น “กำไร” ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวเงิน แต่เป็น “ความสุข” ที่ได้ทำตามความฝัน ที่สำคัญมันยังทำให้เขาสามารถดึงเพื่อนๆ ทั้ง 6 กลับมาเดินในเส้นทางนี้ด้วยกัน


ในมุมมองของเขา เกษตรอินทรีย์จะไปต่อได้ ผู้ผลิตหรือเกษตรกรต้องทำด้วยใจและมีความจริงใจ สร้างความไว้วางใจให้กับผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็ต้องมีตลาดรองรับ ซึ่งความหวังของเขาต่อจากนี้ก็คือ ทำอย่างไรให้ชุมชนผู้ผลิตได้กินพืชผักที่ปลอดสารพิษเช่นกัน


“ทำอย่างไรก็ได้ที่เราจะได้ช่วยเหลือชุมชน มันคือความตั้งใจที่ท้าทายมาก” วัฒนา บอก


ผู้ประกอบการแข็งแกร่ง


แม้ปีที่ผ่านมาจะถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่สดใสของชาวเกษตรอินทรีย์ เพราะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยจากการสำรวจของมูลนิธิสายใยแผ่นดิน พื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 235,523 ไร่ ในปี พ.ศ. 2557 เป็น 284,918 ไร่ ในปี พ.ศ. 2558 เพิ่มขึ้นถึง 20.97% แต่นั่นกลับยังไม่เพียงพอต่อความคาดหวังของผู้บริโภคและทิศทางที่ควรจะเป็น


เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะช่องทางการจัดจำหน่ายที่ยังไม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนส่วนใหญ่ ซึ่ง ‘ฮักเวียงช็อป’ หนึ่งในโครงการด้านเกษตรของเครือข่ายเชียงใหม่ เขียว สวย หอม ถือเป็นตัวอย่างเล็กๆ ของความพยายามที่จะสร้างชุมชนอินทรีย์ขึ้น เพื่อเป็นช่องทางในการก้าวไปด้วยกันอย่างยั่งยืนระหว่างผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค


ชุมชนอินทรีย์ สายนี้ต้อง ‘สตรอง’ thaihealth


ฮักเวียงช็อป ไม่เพียงมีหน้าร้านสำหรับจำหน่ายผลิตภัณฑ์อินทรีย์กลางเมืองเชียงใหม่ ยังเปิดช่องทางการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ รวมไปถึงการมองหาพื้นที่ใหม่ๆ ในการขยายตลาดสินค้าอินทรีย์ ซึ่งล่าสุดได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากนักธุรกิจหัวใจสีเขียวอย่างณรงค์ ตนานุวัฒน์ประธานกรรมการบริหาร มีโชค พลาซ่า ที่พร้อมเปิดพื้นที่ให้คนที่ศรัทธาในการกินอยู่อย่างปลอดภัยได้มาพบปะกัน


“มันเริ่มมาจากผมไปตรวจเลือด 3 ครั้ง อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหมดเลย ทำไมเป็นอย่างนั้น กินข้าวกินอะไรตั้งดี แต่ก็กินไปเรื่อย พบว่าอาหารต่างๆ ที่นำไปปรุงเป็นเคมีล้วนๆ ผมก็เลยพยายามไปตลาดต่างๆ หาซื้ออาหารคลีนกิน ไปตรวจเลือดอีกที ลงไปเลย ผมเลยมีความศรัทธาในเกษตรอินทรีย์ พยายามทานอาหารอินทรีย์”


แม้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้มองเห็นความหวังในการสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘ชุมชนอินทรีย์’ “ผมฝันว่าพื้นที่ตรงนี้จะสร้างสังคมสุขภาพให้คนมีความแข็งแรง ดังนั้นพอทางฮักเวียงช็อปติดต่อมาว่าจะทำชุมชนอินทรีย์ก็ยินดีเลย อนุมัติเลย ผมอยากเห็นการขยายเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เพราะคำว่าอินทรีย์มันสูงสุดของมาตรฐานความปลอดภัยอยู่แล้ว”


ทุกวันเสาร์ลานด้านหน้ามีโชค พลาซ่า จึงถูกใช้เป็นสถานที่นัดพบระหว่างผู้ผลิตสินค้าอินทรีย์และผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าปลอดสารเคมี รวมถึงการเป็นเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อขยายแนวคิดนี้ออกไปสู่สาธารณะ และเป็นต้นแบบให้เกิดชุมชนอินทรีย์ในที่อื่นๆ ต่อไป


“ผมเชื่อว่าการทำอะไรก็ตาม การพัฒนาอย่างสมดุล การพัฒนาอย่างยั่งยืน สองโจทย์นี้จะทำให้ชีวิตยืนยาว เราเกิดมาทุกคนต่างหาความสุข ความสุขที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนตัวเอง ทำจิตใจผ่องใส” ณรงค์ กล่าว ก่อนจะย้ำว่าวัฒนธรรมของล้านนายืนอยู่ได้ด้วยวัฒนธรรมเกษตรอินทรีย์มาก่อน


“เมื่อก่อนสาวเชียงใหม่เอวเล็กนิดเดียว หุ่นดีทุกคนเลย แต่เดี๋ยวนี้ โอโห…คนเชียงใหม่ ตุ้ย สุขภาพไม่ดี กินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ผมก็เลยมองว่า ในฐานะที่ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมชุมชนเล็กๆ ขออาสายกพื้นที่ตรงนี้ให้เรามาสร้างสังคมที่ดีด้วยกัน เป็นที่รวมของชุมชนเกษตรอินทรีย์ คนที่รักสุขภาพทั้งหลาย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราอยากให้เกิด ใครมาเชียงใหม่แล้วอายุยืน 5 เท่า แค่นี้ก็ยิ้มแล้ว”


ผู้บริโภคแข็งแรง


สำหรับผู้บริโภคแล้ว เกษตรอินทรีย์คือขั้นสุดของคุณภาพความปลอดภัย แต่การเข้าถึงอาหารและผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย นอกจากช่องทางการกระจายสินค้าที่ยังไม่ทั่วถึง ยังพ่วงมาด้วยข้อกังวลเรื่องมาตรฐานที่อาจไม่สมเหตุสมผลกับราคาที่สูงกว่าปกติ


“ที่ผ่านมาเรารับรองของเราเอง เชื่อเถอะของผมไม่มีสารเคมี สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น ซื้อไป… ถ้ากินแล้วดี เราก็เชื่อมั่น แต่ถ้าขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง จะทำให้เป็นอุตสาหกรรมได้ ทำให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็งได้ ก็ต้องสร้างมาตรฐาน สร้างแบรนด์ขึ้นมา”


เช่นเดียวกับความเห็นของ บัณรส บัวคลี่ ภาคีคนฮักเจียงใหม่ ที่มองว่าผู้บริโภคไม่เคยได้รับการดูแลในเรื่องของอาหารปลอดภัยเลย "เกษตรอินทรีย์ต้องมีแบรนด์ที่การันตีความเชื่อมั่น หรืออย่างน้อยต้องมีการตรวจสินค้า เพราะว่าในความเป็นจริงผักปลอดภัยที่มีอยู่ในเชียงใหม่ อย่างที่รู้กันมันก็ปลอดภัยบ้างไม่ปลอดภัยบ้าง ถ้าเป็นต่างประเทศนะครับ เขาจะไปตรวจๆๆ แล้วเอามาประจาน ปรับ ร้านอาหารที่เป็นเรสเตอรองค์เล็กๆ หรือเป็นฟู้ดสตรีทอย่างในบ้านเรา เขาจะไปดูแม้กระทั่งเขียงหั่นผัก ต้องแยกกับเขียงหั่นเนื้อ คือผู้บริโภคอย่างเราในความเป็นจริงต้องพึ่งตัวเอง ต้องวิ่งไปหาตลาดที่มีอาหารดีๆ ซึ่งบางทีก็ไปเจอรถติดอีก ผมก็เลยคิดว่าทำอย่างไรให้สินค้ามาหาเราได้ ไปเสิร์ชดูปรากฎว่าในต่างประเทศเริ่มมีแอพพลิเคชั่นของกลุ่มอินทรีย์ แล้วก็มีหลายรูปแบบมาก รูปแบบแรกก็คือ ทำเป็นเครือข่าย ผู้ผลิตมาส่งเอง กับอีกแบบที่เกิดขึ้นแล้วในกรุงเทพฯ คือแอพพลิเคชั่นที่เขาจับเอาแบรนด์ที่เป็นซัพพลาย แล้วตัวเองเป็นตัวกลาง พอเปิดขึ้นมามีอาหารทุกชนิดพร้อมราคา แล้วเราก็จิ้มๆๆ ไป สักพักก็มาส่งถึงบ้าน” บัณรสแสดงความคาดหวังที่จะเห็นรูปแบบใหม่ๆ ในการเข้าถึงสินค้าอินทรีย์


เรื่องนี้ นัยนา หวายคำ ผอ.มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (โครงชุมชนอินทรีย์เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะและสังคม) ให้ความเห็นว่า พร้อมไปกับการสร้างช่องทางใหม่ๆ ในการขยายตลาด จะต้องมีการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ภายใต้นิยามของ “ชุมชนอินทรีย์”


“คำว่า ชุมชนอินทรีย์ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องสุขภาพอย่างเดียว ในความหมายที่มันลึกซึ้งมากกว่านั้นก็คือ ชุมชนที่มีความเกื้อกูล เกื้อหนุนซึ่งกันและกันระหว่าง ผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน เรากินของดีๆ ก็อยากให้เพื่อนกินของดีๆ เรามีสุขภาพดีก็อยากให้เพื่อนมีสุขภาพดี นอกจากนี้ยังหมายรวมถึงเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย” ในความหมายนี้ชุมชนอินทรีย์จึงไม่ได้มีหน้าที่แค่ซื้อขายแลกเปลี่ยน แต่ต้องช่วยกันขับเคลื่อนแนวทางเกษตรอินทรีย์ให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน


“ความเห็นของตัวเอง ผู้ผลิตก็ต้องเข้มแข็ง มีศรัทธามั่นใจ ผู้ประกอบการก็ต้องไม่ถอดใจ ผู้บริโภคดีๆ จะทำอย่างไรให้เขายึดมั่นในวิถีอย่างนี้ได้ เพราะฉะนั้นผู้ผลิตที่ยังยืนยัน ยืนหยัด เราต้องเข้าไปหนุนเสริม ขณะเดียวกันจะทำให้ผู้ผลิตผู้บริโภคมาเจอกัน รวมถึงมั่นใจ ไว้ใจ เชื่อใจกันได้อย่างไร แล้วจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคขยายออกไป คำว่าชุมชนอินทรีย์มันจะได้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น”


ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่สังคมต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำเพื่อให้เกษตรอินทรีย์คือ ‘ทางรอด’ ไม่ใช่แค่'ทางเลือก อย่างที่เคยเป็นมา

Shares:
QR Code :
QR Code