ชุมชนหันหน้าร่วมแก้ปัญหาเรื่องเพศในวัยเรียน
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
แฟ้มภาพ
"คำบอกเล่าจากเครือข่ายทำงานด้านสุขภาวะเด็ก และเยาวชนหลายพื้นที่สะท้อนให้เห็น "กระบวนการมีส่วนร่วม" เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหา ที่ตรงจุด โดยเฉพาะมีบทบาทในการแก้ปัญหาเรื.องเพศในวัยรุ่นและท้องไม่พร้อมในวัยเรียน"
ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตคนไทยค่อนข้างมาก หลายครอบครัว พ่อแม่มีภาระ "จำเป็น" ที่ต้องหารายได้ จึงใช้เวลาส่วนใหญ่ "ทำมาหากิน" มากกว่าความเอาใจใส่ดูแลหรืออบรมบุตรหลาน นานวันจึงกลายเป็น "ระยะห่าง" ที่ก่อร่างความสัมพันธ์เปราะบางในครอบครัว เพื่อถม "ที่ว่าง" ในจิตใจ เด็กเยาวชนยุคใหม่จึงหันไปหาสิ่งเร้าภายนอกแทนที่ และอาจนำมาสู่ปัญหาสังคมมากมาย ตามมา
ในเวทีการสัมมนาสรุปบทเรียนโครงการการจัดการเรียนรู้แบบเครือข่ายโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เสียงจากคนทำงานเครือข่ายหลากหลายพื้นที่ ต่างยอมรับว่าปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ ส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากสภาพครอบครัวในกลุ่มเปราะบาง
ปาริชาติ ปรียายาโชติ ผอ.โรงเรียนปรียาโชติ จ.นครสวรรค์ บอกเล่าปัญหาจากพื้นที่ตนเองผ่านเวทีเสวนาการสร้างความตระหนักและป้องกันปัญหาสุขภาวะทางเพศว่า ปัญหาสุขภาวะทางเพศที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียนของเธอนั้น โดยเฉพาะปัญหาวัยรุ่นหรือการท้องไม่พร้อม ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเยาวชนที่มาจากครอบครัวที่มีปัญหา เช่น ครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวยากจน อยู่กับปู่ย่า ครอบครัว ที่พ่อแม่ไม่มีเวลาให้กับลูก ส่วนครอบครัวเข้มแข็ง อบอุ่น แม้จะมีปัญหาน้อยกว่า แต่ก็อาจถูกเร้าโดยปัจจัยแวดล้อม เช่น เทคโนโลยี เพื่อน
เช่นเดียวกับ เดือนนภา เหง้าโคกงาม ครูโรงเรียนเกิ้งวิทยานุกูล จ.มหาสารคาม ได้เสริมข้อมูล จากการศึกษาปัญหาเชิงลึก พบว่านักเรียนร้อยละ 45 เป็นครอบครัวแตกแยก ร้อยละ 60 มีพ่อแม่อายุเฉลี่ยเพียง 35 ปี ร้อยละ 68 อาศัยอยู่กับ ตา-ยาย นักเรียน 3 กลุ่มแรก ร้อยละ 85 เสี่ยงมีปัญหาด้านการเรียนและปัญหาด้านพฤติกรรม นักเรียนกลุ่มเสี่ยงร้อยละ 70 เกิดจากครอบครัวที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน เนื่องจากความอ่อนแอของครอบครัว นักเรียนกลุ่มเสี่ยงด้านพฤติกรรมร้อยละ 15 มีพฤติกรรมชู้สาว นักเรียนกลุ่มเสี่ยงร้อยละ 5 ท้องในวัยเรียน และออกโรงเรียนกลางคัน
"ครู" จึงเป็นอีกบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยมีความใกล้ชิดกับนักเรียน ปาริชาติกล่าวว่าจากการที่โรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการกับ สสส. ทำให้สามารถจัดการปัญหาได้เป็นระบบมากขึ้น เริ่มจากการจัดอบรมให้ความรู้เรื่องเพศที่ถูกต้อง และทำให้เขามองเห็นทางเดินอนาคตของตนเอง ซึ่งเด็กกลุ่มเสี่ยงบางคนสามารถเปลี่ยนได้ อีกทั้งยังมีการจัดอบรมนักเรียนแกนนำที่สามารถเข้าถึงและดึงเพื่อนออกมาจากปัญหาต่างๆ รวมถึงการประชุมผู้ปกครองให้รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อหาทางออกร่วมกัน
ด้าน เดือนนภา แชร์ถึงสิ่งที่เธอได้ดำเนินการว่า แนวทางการแก้ปัญหาเริ่มจากการสร้างเครือข่ายนักเรียนแกนนำ แกนนำผู้ปกครอง กลุ่มสหวิชาชีพ หรือกลุ่มที่สามารถให้ความรู้ได้ รวมถึงวัดและชุมชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา มีการให้ความรู้สุขภาวะทางเพศ จัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพศวิถี และแทรกในรายวิชาเพศรอบด้าน รวมถึงถอดบทเรียนเป็นหนังสือเล่มเล็กเพื่อให้เด็กเข้าใจเรื่องเพศมากขึ้น อีกทั้งยังได้รับความช่วยเหลือจากกรรมการสถานศึกษาในการสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองในการคุยเรื่องเพศกับลูก
อีกหนึ่งเสียงบอกเล่า คุณากร บุญสาลี รอง ผอ.โรงเรียนพรานวิบูลวิทยา จ.ศรีสะเกษ ร่วมถ่ายทอดให้ฟังว่า ครูจะต้องสร้างความเข้าใจและเปิดใจเรื่องเพศมากให้ขึ้น รวมถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนที่จะทำให้การทำงานประสบความสำเร็จง่ายขึ้น สำหรับการแก้ปัญหาใช้แนวคิด "เข้าใจ เข้าถึง และช่วยเหลือ" โดยครูต้องรับรู้ปัญหามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เป็นทั้งครูวิชาการและครูปกครองในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการ สร้างเครือข่ายแกนนำนักเรียนและ แกนนำผู้ปกครองและออกเยี่ยมบ้านนักเรียนเพื่อรับข้อมูลที่ถูกต้อง ทั้งยังได้ทำโครงการท้องไม่พร้อมร่วมกับชุมชนเพื่อป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัย อันควร การทำงานกับชุมชนทำให้เข้าถึงเด็กง่ายขึ้น
ส่วนกลุ่มแม่บ้านที่ทำงานจิตอาสาในชุมชน จงจิต เพ็ญพาน ผู้รับผิดชอบโครงการศูนย์ฯ ปิยโสภณ จ.อุดรธานี บอกว่า ภายในชุมชนมีกลุ่มวัยรุ่นจำนวนมาก เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาในวัยรุ่นจึงได้ชวนวัยรุ่นมาทำกิจกรรมจิตอาสา เช่น พาเด็กไปสวดมนต์และทำความสะอาดวัด มีกิจกรรมฝึกวิชาชีพทั้งการทำน้ำยาเอนกประสงค์ ทำแจ่วบอง โดยมีเด็กเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 50 คน และสอดแทรกการสอนเรื่องเพศโดยการยกตัวอย่างของคนที่เคยผิดพลาด
เพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า จากการที่ สสส.และเครือข่ายสนับสนุนแนวคิด "กระบวนการมีส่วนร่วม" นำมาสู่ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในรูปเครือข่าย 40 เครือข่าย โรงเรียน ศูนย์การเรียนและแหล่งเรียนรู้ จำนวน 211 แห่ง ในพื้นที่ 18 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน น่าน นครสวรรค์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุทัยธานี ลำปาง มหาสารคาม สกลนคร อุดรธานี สิงห์บุรี สงขลา พัทลุง ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล
ผศ.ดร.พิณสุดา สิริธรังศรี หัวหน้าโครงการการจัดการเรียนรู้แบบเครือข่ายเพื่อส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เสริมว่า การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการศึกษาเป็นวิธีการที่ประหยัด คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน โดยใช้หลัก 8 ด้านคือ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมวางแผน ร่วมดำเนินการ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมแก้ปัญหา ร่วมติดตามประเมินผลและร่วมชื่นชม ผลจากการทำโครงการทำให้โรงเรียนไม่โดดเดี่ยว มีเพื่อนเดิน ได้นวัตกรรมเรียนรู้กัน และเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
"บูเกะตาโมเดล" คือหนึ่งในตัวอย่างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน โดยมีการร่วมกันออกแบบกิจกรรม นำมาสู่ยุทธศาสตร์ดังกล่าว อรุณ เบ็ญญคุปต์ ประธานเครือข่ายบูเกะตา จ.นราธิวาส เล่าถึงการทำงานแบบมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาภายในชุมชนให้ฟังว่า ภายในโรงเรียนและสภาพแวดล้อมรอบข้าง มีปัญหาหลากหลายโรงเรียนและชุมชนจึงได้คิดหาแนวทางร่วมกัน กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเกิดจากความร่วมมือ โดยการใช้บ้าน โรงเรียนและมัสยิด มาเป็นผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมร่วมกัน ผลลัพธ์คือทำให้โรงเรียนและชุมชนได้ใกล้ชิดและมีความเข้าใจกันมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเครือข่ายบูเกะตา ยังขยายแนวคิดและความร่วมมือไปยัง 4 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสตูล รวมแล้วทั้งหมด 109 โรงเรียน โดยเครือข่ายที่เข้าร่วมจะนำโมเดลดังกล่าวไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ตนเอง โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ซึ่งมีส่วนช่วยในการเชื่อมโยงและขยายเครือข่ายให้สามารถทำงานได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น