ชุมชนลุ่มน้ำตรังผนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม
“แม่น้ำตรัง” นอกจากจะเป็นแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดใน จ.ตรัง แล้ว ยังเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของชุมชนต่างๆ 2 ฟากฝั่งลำน้ำที่มีความยาว 195 กิโลเมตร เนื่องจากมีความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติประกอบไปด้วยป่าไม้ พรรณพืชและสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศถึง 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม
แม่น้ำตรังจึงมีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรมประมง และการท่องเที่ยว เกี่ยวโยงกับวิถีชีวิต อาชีพ และเศรษฐกิจของผู้คนจำนวนมากตลอดลำน้ำ
แต่ปัจจุบันแม่น้ำตรังกำลังประสบปัญหาตื้นเขิน ลำน้ำเปลี่ยนทางกัดเซาะตลิ่งและที่ทำกินของชาวบ้าน จากปัญหาการดูดทราย การปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม การตัดไม้ทำลายป่า ลักลอบทำประมงผิดกฎหมาย ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำสายนี้หล่อเลี้ยงชีวิต
“เครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรัง” ที่ประกอบด้วยชุมชนในพื้นที่ ต.วังมะปรางต.ท่าสะบ้า อ.วังวิเศษ, ต.หนองตรุด ต.ทับเที่ยงอ.เมือง, ต.บางหมาก ต.ย่านซื่อ ต.บางเป้าอ.กันตัง ที่มีอาณาเขตพื้นที่ครอบคลุมแม่น้ำตรังตลอดทั้งสาย ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ก่อนไหลออกสู่ทะเลอันดามัน จึงจัดทำโครงการ”การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรัง” เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติตลอดลำน้ำตรัง ฟื้นฟูและเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายรอเก็ก หัดเหม หัวหน้าโครงการ บอกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำตรัง ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน และถือว่าเป็นประเด็นหลักในขณะนี้คือปัญหาน้ำเน่าเสีย เพราะมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ชุมชนประมงได้รับผลกระทบชัดเจน แต่พอเกิดกลุ่มขึ้นมาเพื่อช่วยกันดูแลกุ้งหอยปูปลาต่างๆ ก็เริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
ขณะที่ลุ่มน้ำตรังตอนกลางค่อนขึ้นไปตอนบน จะมีปัญหาเรื่องการดูดทราย ที่ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทางน้ำกัดเซาะ ทำให้ตลิ่งพังที่ทำกินของชาวบ้านหายไป
ส่วนชาว ต.บางหมาก ที่อยู่ตอนกลางค่อนไปยังตอนล่างของลำน้ำ มีวิถีชีวิตที่เกี่ยวพันกับแม่น้ำตรังอย่างแยกไม่ออก เพราะมี “ป่าต้นจาก”ผืนมหึมาตลอด 2 ฝั่งลำน้ำ ชาวบ้านมีรายได้จากการแปรรูปผลผลิตจากต้นจาก อาทิ น้ำตาลจากตับจากมุงหลังคา และลูกจากเชื่อม
ชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งก็ประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง แต่ทั้งหมดได้รับผลกระทบโดยตรง หากคุณภาพของแม่น้ำตรังปนเปื้อนสารเคมี ทุกสัปดาห์แกนนำชาวบ้านจะพายเรือออกไปกลางแม่น้ำ เพื่อตรวจวัดคุณภาพของน้ำในขณะนั้นว่ามีสภาพเป็นอย่างไร เพื่อนำมาเปรียบเทียบกันกับช่วงที่ผ่านมา
ส่วน นายดน หมาดเด็นอายุ 58 ปี แกนนำชาวบ้าน ต.บางหมาก สะท้อนว่า ปัญหาหลักของชุมชนตอนกลาง ถึงปลายน้ำ คือเรื่องน้ำเน่าเสียที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม และในอดีตยังมีปัญหาเรื่องของการจับสัตว์น้ำอย่างผิดวิธี ด้วยการเบื่อปลา ทำให้สัตว์น้ำลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว
“แต่เมื่อมีการรวมกลุ่มเฝ้าระวัง และทำความเข้าใจกับชุมชนโดยรอบ ปัญหาเรื่องการเบื่อปลาก็หมดไป เหลือแต่เรื่องน้ำเสียที่ทำให้ปลาตาย ที่ทำให้ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพประมงขาดรายได้” นายดน ระบุแกนนำชาวบ้านระบุด้วยว่า จากปัญหาน้ำเน่าเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ทางเครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรังประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องทันทีที่พบว่าคุณภาพของน้ำลดต่ำลง และมีการปนเปื้อนของสารเคมี ก็จะแจ้งให้หน่วยงานเข้าตรวจสอบโรงงาน เพื่อแจ้งให้หยุดปล่อยน้ำเสียแต่ก็ได้ผลเป็นครั้งคราวเท่านั้น
“น้ำเน่าเสียยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ทางกลุ่มไม่สามารถแก้ไขได้โดยลำพัง บางโรงงานเมื่อเราแจ้งไปก็หยุดแต่พอเผลอก็แอบปล่อยน้ำเสียออกมาอีกเรื่องโรงงานอุตสาหกรรมต้องเป็นการคุยกันในเวทีระดับจังหวัดอยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาเป็นประธาน โดยให้ทุกฝ่ายและเครือข่ายของเราได้ร่วมกันพูดคุยหาทางออก”
“ชุมชนต่างๆ ตลอดลำน้ำตรัง ที่ตอนนี้มีเป้าหมายสำคัญร่วมกัน คือจะต้องขับเคลื่อนการทำงาน และหาหนทางการป้องกันการปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรม ลงสู่แม่น้ำตรังให้ประสบความสำเร็จ”นายประวิทย์ ผลิผลอายุ 51 ปี แกนนำเครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรัง เสนอแนวทาง
ขณะที่ นายช่วย โปหลงอายุ 65 ปี ประธานกลุ่มอนุรักษ์คลองลำพู ต.บางหมาก ร่วมเล่าว่าหลังจากรวมตัวกันเป็นเครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรังแล้ว ยังต่อยอดจนเกิดเป็น “กลุ่มอนุรักษ์คลองลำพู” ลำคลองสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำตรัง เพื่อขยายผลการดำเนินงานไปสู่เด็ก และเยาวชนในชุมชนของตนเอง
“ทางกลุ่มร่วมกับเครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรัง จัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับเยาวชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กๆ ในชุมชนได้เรียนรู้ และเห็นความสำคัญเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะการทำงานด้านการอนุรักษ์ ถ้าจะให้ยั่งยืนได้จะต้องส่งต่อการทำงานไปยังคนรุ่นต่อไป ซึ่งเยาวชนคนในพื้นที่เป็นความหวังในการดูแลแม่น้ำตรังต่อไปในอนาคต” นายช่วย กล่าวนี่คือสิ่งที่คนลุ่มน้ำตรัง ผนึกกำลังรักษาสภาพแวดล้อมและทรัพยากรของชุมชน
จากการพูดคุยกับแกนนำเครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรัง พบว่าเป้าหมายคืออยากเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้นตลอดลำน้ำสายนี้ โดยต้องการให้เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกัน ระหว่างภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ และองค์กรชุมชน เมื่อมีปัญหาก็จะได้ยื่นข้อเสนอสู่เวทีระดับจังหวัด ผลักดันให้เกิดแนวทางแก้ปัญหาที่ชัดเจนได้
เนื่องจากชาวบ้านทุกคนตั้งใจและมุ่งมั่นรักษาชุมชนของพวกเขา หากหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาหนุนเสริมการทำงานของชาวบ้าน ก็จะสามารถต่อยอดการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง สร้างความเข้มแข็งให้ทุกๆ ชุมชนได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด