ชุมชนร่วมใจ พัฒนาแนวทางรักษา สร้างชีวิตใหม่ให้ผู้ป่วยจิตเวช
อย่าเรียกพวกเขาว่า “คนบ้า” แต่ให้เรียกพวกเขาว่า “ผู้ป่วย” เพราะการไปตีตราพวกเขาว่าบ้า ส่งผลให้พวกเขาไม่กล้าออกสู่สังคม ต้องทำให้เขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับสังคมที่เขาอยู่ อย่าปิดประตูใส่พวกเขาด้วยคำว่า “บ้า”
พระปลัดมานัส เลขานุการชมรมส่งเสริมดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน โดย มีพระสงฆ์เป็นแกนนำ เล่าถึงหัวใจของการทำงานด้านจิตเวช ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ และมักจะตีตราคำว่า “บ้า” ให้กับผู้ป่วยจิตเวชอยู่เสมอ
ปัจจุบันตำบลอุดมทรัพย์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วยทางจิตเวชอยู่เกือบร้อยคน ทั้งหมดได้อาศัยความเอื้อเฟื้อจากพระภิกษุที่สละเวลานอกเหนือจากกิจของสงฆ์ มาช่วยดูแล ตลอดจนพัฒนาแนวทางในการเยียวยารักษาผู้ป่วยจิตเวชให้สามารถอยู่ร่วมกับคนใน ชุมชนได้
ชมรมส่งเสริมดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน โดยมีพระสงฆ์เป็นแกนนำ เริ่มต้นขึ้นเมื่อราวปี 2543 โดย พระครูประโชติสังฆกิจ หรือหลวงพ่อใหญ่ เจ้าอาวาสวัดห้วยพรหม ได้รับการร้องขอจากนักสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราช นครินทร์ ให้ช่วยทำโครงการดังกล่าวขึ้น
พระปลัดมานัส เล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกนั้น ผู้ป่วยจิตเวชจึงต้องไป ๆ กลับ ๆ ระหว่างบ้านกับโรงพยาบาล โดยไปอยู่ที่โรงพยาบาลครั้งหนึ่งเป็นเวลานาน พอกลับมาอยู่บ้านได้ไม่นานก็จะเกิดอาการคลุ้มคลั่งอีก จนต้องกลับไปใหม่ วนเวียนไปมาอยู่อย่างนี้
หลวงพ่อใหญ่จึงเรียกประชุม เชิญทีม อบต. รวมถึงกลุ่มอาสาสมัคร เข้าร่วมหารือกัน พัฒนากระบวนการอย่างค่อยเป็นค่อยไป จุดหนึ่งที่เห็นร่วมกันคือ คนไข้อยากอยู่บ้าน แล้วจะทำอย่างไรให้พวกเขาไม่ต้องกลับไปโรงพยาบาล ก็เลยเกิดเป็นการออกเยี่ยมผู้ป่วยถึงบ้าน ทั้งพระสงฆ์ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อาสาสมัคร โดยใครอยู่หมู่ไหน ห้ามเยี่ยมหมู่นั้น ให้ไปเยี่ยมหมู่อื่น จากนั้นจึงเอาปัญหามาวิเคราะห์ร่วมกัน
ผลจากการออกเยี่ยม จึงทำให้เห็นคำตอบว่า ทำไมผู้ป่วยจึงมีอาการกำเริบและเรื้อรัง สาเหตุหลักคือความยากจน ไม่สามารถหยุดทำงานได้ ทำให้ไม่อาจไปรับยาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการทำงานหนักและการกินยาทำให้ตัวแข็ง น้ำลายไหล จึงเป็นเหตุให้ผู้ป่วยไม่ยอมกินยา
หลวงพ่อใหญ่เคยจัดการเรื่องปัจจัยเพื่อให้ผู้ป่วยเดินทางไปรับยาได้ โดยให้คนละ 300 บาท แต่สำหรับผู้ป่วยประมาณ 80 คน เป็นเงินจำนวนมากเกินไป จึงมีการดำเนินการใหม่ โดยทำเรื่องให้โรงพยาบาลจิตเวชฯ นัดคนไข้ไปรับยาพร้อมกัน ทางชมรมจะเช่ารถ แล้วพาคนไข้ไปรับยาในครั้งเดียว ส่วนเรื่องการกินยานั้น ก็ได้กลุ่มพระสงฆ์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร คอยออกเยี่ยมให้ผู้ป่วยกินยาอยู่เสมอ และเฝ้าติดตามถึงผลข้างเคียงของการกินยา
อีกหนึ่งปัญหาหลัก ที่เสมือนเป็นหัวใจในการรักษา นั่นก็คือ ชุมชนไม่ยอมรับผู้ป่วยจิตเวช ทางกลุ่มผู้ดำเนินการได้คิดแก้ปัญหาด้วยการทำกิจกรรม โดยหลวงพ่อใหญ่ได้คิดกุศโลบายเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับชุมชน อาทิ การจัดพิธีสะเดาะเคราะห์ประจำปี งานประจำปีผู้สูงอายุ หลวงพ่อใหญ่จะเทศนาเรื่องผู้ป่วยจิตเวชแทรกเข้าไป เพื่อละลายพฤติกรรมความคิดที่เป็นอคติของคนในชุมชนให้เบาบางลง และไม่ว่าจะเป็นงานอะไรที่ชาวบ้านมารวมตัวกัน ท่านก็จะขอแทรกเรื่องนี้ตลอดพระปลัดมานัสเสริม
กิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางโครงการคิดขึ้นนั้น มีเป้าหมายหลักสำคัญ 3 อย่าง คือ ส่งเสริม ป้องกัน และฟื้นฟู เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยจิตเวช ไม่มีอาการทรุด และส่งเสริมคนธรรมดาให้ไม่หนีผู้ป่วยจิตเวช โดยเริ่มกระจายความเข้าใจสู่ชุมชน
นอกจากนั้นในช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ ยังให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น วันลอยกระทง ก็ทำการส่งเสริมให้เป็นวันผู้ป่วยจิตเวชด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้เข้ามามีส่วนร่วม และอยู่ร่วมกับผู้อื่นเช่นคนปกติ แต่กระนั้น ก็ยังไม่เกิดการยอมรับเท่าที่ควร
ต่อมามีการใช้ดนตรีบำบัด โดยนำผู้ป่วยมาร่วมตีกลองยาว มี เจ้าหน้าที่ อบต. คมกฤต ผดุงเวียง มาเป็นผู้ฝึกสอน ร่วมด้วยกลุ่มจิตอาสา รวมเป็นวงขึ้นมา เมื่อหลวงพ่อใหญ่เห็นจึงแนะให้ไปตีกลองยาวรอบหมู่บ้านตลอดทั่วตำบลอุดม ทรัพย์ เพื่อชักชวนให้ผู้คนมาร่วมงานเทศน์มหาชาติ กลองยาวแห่ไปที่ใด ก็มีชาวบ้านออกมาร่วมขบวน ผู้ป่วยก็มีโอกาสได้สัมผัสกับบรรยากาศ และเมื่อชาวบ้านได้เห็นว่าผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนได้ ก็เริ่มมีการเรียกวงกลองยาวไปร่วมงานต่าง ๆ ทั้งงานบวชนาค งานฉลองตราตั้งพระครู จนถึงงานแต่งงาน
ปัจจุบันวงกลองยาวนี้มีสมาชิกเกือบ 30 คน มีผู้ป่วยจิตเวชเป็นสมาชิกร่วมวงถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งได้กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เห็นว่า กิจกรรมต่าง ๆ นับเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและผู้คนในชุมชน ในการสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงปัญหาของผู้ป่วยจิตเวช ที่ต้องพึ่งพาชุมชนในการให้ความรักความช่วยเหลือในการฟื้นฟูสภาพจิตใจของ บรรดาผู้ป่วย
ชมรมส่งเสริมดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน โดยมีพระสงฆ์เป็นแกนนำ ของตำบลอุดมทรัพย์ จึงนับเป็นเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจกันของคนทั้งตำบล ก่อเกิดเป็นพลังผลักดันอันยิ่งใหญ่ ตลอดระยะเวลากว่าทศวรรษ มีความสำเร็จที่ต่อยอดแตกกิ่งก้านไปอีกมากมาย ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นได้เพราะความมุ่งมั่นของชุมชน เป็นผลให้ผู้ป่วยจิตเวชของตำบลอุดมทรัพย์ มีคุณภาพชีวิตที่ทัดเทียมกับคนอื่น ๆ จนวันนี้ได้กลายเป็นแหล่งการเรียนรู้ หนึ่งของตำบลอุดมทรัพย์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เปิดยิ้มรับชุมชนท้องถิ่นและผู้สนใจร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เฉกเช่นรอยยิ้มที่มีปรากฏให้เห็น ยามที่พวกเขารับรู้และภาคภูมิใจว่า ตนเองก็มีคุณค่าและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเช่นเดียวกัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์