ชุมชนร่วมสร้าง เยาวชน ร่วมใจ ลด ละเลิก ยาสูบ
ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีการรณรงค์เพื่อให้สังคมเกิดการตื่นตัวเกี่ยวกับโทษและพิษภัยของบุหรี่อย่างต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนว่า จำนวนนักสูบหน้าใหม่โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้น
จากผลสำรวจในปี 2554 พบว่า คนไทยสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นถึง 13 ล้านคน ซึ่งเพิ่มจากปี 2552 ถึง 5 แสนคน ที่น่าเป็นห่วงคือ เราต่างรู้ว่าผลร้ายที่เกิดจากควันบุหรี่ทำให้เกิดโรคภัยต่างๆ กว่า 100 โรค เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยมากกว่า 50,000 คนต่อปี และผู้ติดบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการติดสารเสพติดอื่นๆ เพิ่มขึ้น แต่จำนวนนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเยาวชนกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน(สำนัก3) และสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม(สำนัก6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงร่วมมือกันส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนา นวัตกรรมการลด ละ เลิก ยาสูบ ในกลุ่มเยาวชนโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้พัฒนาการจัดการสุขภาวะชุมชนและลดปัจจัยเสี่ยงในชุมชนท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นให้เยาวชนในท้องถิ่นมีบทบาทและส่วนร่วมในการทำงานเพื่อลด ละ เลิกบุหรี่และป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเยาวชนด้วย จึงมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การเข้าร่วมโครงการ “พัฒนานวัตกรรมการลด ละ เลิก ยาสูบในกลุ่มเยาวชน โดยใช้พื้นที่ป็นตัวตั้ง” ณ เวทีฟื้นพลัง ชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์แระเทศไทย พลังชุมชนท้องถิ่น ปฏิรูปสังคม ครั้งที่ 5 ประจำปี 2558 ขึ้น
โดยนายสมพร ใช้บางยาง ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 ได้กล่าวถึงความสำคัญของโครงการนี้ว่า การดูแลเด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ และเป็นพลเมืองไทยที่มีคุณภาพ ถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญของผู้ใหญ่ในสังคม เริ่มจากชุมชนสร้างกระบวนให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ความเข้าใจในการลด ละ เลิกบุหรี่ มีแกนนำเยาวชนนักรณรงค์ ทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อการรณรงค์ การป้องกันนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะเยาวชน รวมถึงลดจำนวนการสูบบุหรี่ของคนในชุมชนและเกิดพื้นที่ปลอดบุหรี่ขึ้น
“สสส. เป็นเพียงผู้จุดประกายและหนุนเสริม ส่วนความสำเร็จขึ้นอยู่กับการร่วมมือร่วมใจกันของคนในชุมชนที่จะขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การสร้างสังคมให้น่าอยู่โดยมีเยาวชนเป็นกำลังสำคัญในการทำงาน โดยมุ่งหวังว่าในอนาคตอัตราการสูบบุหรี่จะลดจำนวนลง และเกิดการลด การละ และนำไปสู่การเลิกในที่สุด” นายสมพรกล่าวทิ้งท้าย
ด้านเยาวชนคนเก่งอย่าง นายอนวัช โชครวย หรือต่อตี้ นักศึกษาจากวิทยาลัยศิลปะสื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แกนนำเยาวชน โครงการพี่สอนน้อง คนสามวัยใจเดียวกัน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานว่า โครงการพี่สอนน้องฯ เกิดจากช่วงปิดเทอมได้พบเห็นเด็กและเยาวชนในชุมชนหันไปสนใจบุหรี่เพิ่มมากขึ้น จึงรวมกลุ่มกันจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันการสูบบุหรี่ขึ้น โดยใช้ช่วงเวลาปิดเทอมตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม จัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชน
ต่อตี้ แกนนำเยาวชนคนแก่ง บอกเล่าการทำงานเพิ่มเติมว่า กิจกรรมที่ทำจะมีตั้งแต่การจัดการเรียนการสอนวิชาพื้นฐาน โดยแบ่งเยาวชนในชุมชนเป็นกลุ่มตามวัยเรียน การทำกิจกรรมเพื่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นการกวาดลานวัด เก็บขยะ และกิจกรรมปลูกป่าชุมชน และยังมีกิจกรรมที่เด็กๆ เสนอขึ้นเอง อย่างการเรียนฟ้อนรำ การปลูกผักสวนครัว นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในท้องถิ่นทั้ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล หรือสถานีตำรวจมาให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ และยาเสพติดชนิดอื่นๆ อีกด้วย
เมื่อชุมชนและเยาวชนต่างร่วมใจกันลด ละ เลิก และป้องกันนักสูบหน้าใหม่ อีกไม่นานสังคมก็จะเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ได้ในที่สุด
เรื่องโดย พิมพ์ชนก ศรเพชร Team Content www.thaihealth.or.th