ชุมชนร่วมสร้างท้องถิ่นน่าอยู่
สสส.ระดมคนกล้า 267 อปท.กว่า 2,000 คน เดินหน้าสร้างนวัตกรรมลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ชู 6 ประเด็น "ยาสูบ-แอลกอฮอล์, อุบัติเหตุ-เกษตรกรรมยั่งยืน-เด็ก-ครอบครัว-ผู้สูงอายุ" ตั้งเป้าปี 2558 เห็นผล ผุดเครือข่ายครอบครัว 320 แห่ง โรงเรียนผู้สูงอายุ 250 แห่ง เครือข่ายอาสาทำความดี 120 แห่ง
เมื่อเร็วๆ นี้ นายสมพร ใช้บางยาง ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการจัดการความรู้พิธีความร่วมมือประเด็นเฉพาะนวัตกรรมลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือเป็นองค์กรที่มีความใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด และเป็นกลไกสำคัญในการเข้าไปจัดระบบการจัดการในพื้นที่ ดังนั้นแผนสุขภาวะชุมชน สสส. จึงเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการใช้ทุนทางสังคมและศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นของตนเองเป็นทรัพยากรหลักในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้น่าอยู่นำไปสู่ "เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่"
โดยการประชุมปฏิบัติการครั้งนี้ มีองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 267 แห่ง กว่า 2,000 คน เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ลดปัจจัยเสี่ยงและสร้างปัจจัยเสริมทางสุขภาพ โดยมุ่งเน้น 6 ประเด็น ได้แก่ 1.การควบคุมการบริโภคยาสูบ 2.การควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และลดอุบัติเหตุจราจร 3.การขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนสู่อาหารเพื่อสุขภาวะ 4.การพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ 5.การสร้างเสริมสุขภาพเด็กและเยาวชน 6.การส่งเสริมครอบครัวอบอุ่นและเฝ้าระวังตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ถือเป็นการสร้างนวัตกรรมเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นอย่างต่อเนืองยั่งยืน
น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า จากการสำรวจความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของ อปท.เพื่อสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จำนวน 385,565 คน ใน 4 ด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ด้านสิทธิและโอกาส และด้านเข้าถึงข้อมูลและความรู้ พบว่าในภาพรวมประชาชนพอใจมากถึงค่อนข้างพอใจถึง 95.7%
ดังนั้นจะเห็นว่า อปท.เป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในการขับเคลื่อนนวัตกรรมลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งทั้ง6 ประเด็น โดยตั้งเป้าภายในปี 2558 เห็นผล ผุดเครือข่ายครอบครัว 320 แห่ง โรงเรียนผู้สูงอายุ 250 แห่ง เครือข่ายอาสาทำความดี 120 แห่ง
ด้านนายธวัชชัย ฟักอังกูร รองประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส.กล่าวปาฐกถาพิเศษ "สานนวัตกรรม เสริมบริการสาธารณะ" ตอนหนึ่ง ว่า การจัดการความรู้และร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนานวัตกรรมลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งทั้ง 6 ประเด็นครั้งนี้ มีการใช้กฎ กติกา การมีส่วนร่วมในการควบคุมการบริโภคยาสูบ และการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และลดอุบัติเหตุจราจร พัฒนาระบบ โดยใช้วิธีค่อยๆ ทดลองทำ จนเกิดความคุ้นชินในการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ ขับเคลื่อน โดยใช้วิธีสร้างความเข้าใจร่วมกันในการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนสู่อาหารเพื่อสุขภาวะส่งเสริม โดยใช้การสนับสนุน การรวมตัว ในการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชน และการส่งเสริม ครอบครัวอบอุ่นและเฝ้าระวังตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
"การทำงานให้สำเร็จประกอบด้วย 6 ประการ 1.ทุกคนในชุมชนต้องเห็นพ้องที่จะช่วยแก้ไขปัญหา 2.ยอมรับในกติกาที่กำหนด โดยเฉพาะให้กลุ่มเป้าหมายมีส่วนร่วม 3.การส่งเสริม สนับสนุน ควรเน้นการสร้างเครือข่ายในการเสริมพลัง 4.ควรใช้วิธีทำความเข้าใจถึงคุณค่าและประโยชน์ที่จะได้รับในลักษณะที่เกื้อกูลกัน 5.การพัฒนาระบบควรใช้วิธีทดลองปฏิบัติแบบค่อยเป็นค่อยไป 6.อย่าตั้งเป้าไว้สูง อย่าหวังผลเลิศ ได้ผลน้อยยังดีกว่าไม่สำเร็จ ปัญหาแต่ละตำบลชุมชนมีความยากง่ายต่างกัน" นายธวัชชัยกล่าว
น.ส.เพ็ญพัค รัตนคำฟู นายกเทศมนตรีตำบลเกาะคา อ.เกาะคา จ.ลำปาง กล่าวว่า การขับเคลื่อนประเด็น "สร้างครอบครัวอบอุ่นและเฝ้าระวังตั้งครรภ์ในวัยรุ่น" ใน ต.เกาะคา พบว่าปัญหาการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี ยังขาดความรู้เรื่องทักษะชีวิต เพศศึกษาและการป้องกัน ซึ่งสถาบันครอบครัวเป็นสถาบันแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นของเด็กและเยาวชน
ซึ่งกระบวนการแก้ปัญหามี 3 ข้อ คือ 1.ไม่ซ้ำเติม 2.คลี่คลายปัญหา และ 3.ป้องกันการเกิดซ้ำ โดยการดำเนินการของ ต.เกาะคา เริ่มจากการป้องกันในการสร้างศูนย์ให้ความรู้และคำปรึกษาสำหรับเยาวชนและครอบครัวเกี่ยวกับเรื่องเพศ มีการจัดกิจกรรมอบรมเดือนละ 3 ครั้ง สำหรับพ่อแม่ในชุมชนเพื่อให้ความรู้แก่บุตรหลาน รวมถึงให้ความรู้โรงเรียนในชุมชน
นอกจากนี้มีเจ้าหน้าที่ประสานงานให้คำแนะนำหลังจากคลอดบุตร การแก้ปัญหา การติดตามเด็กกลุ่มที่ท้องไม่พร้อม มีการสื่อสารในทางบวก ไม่ใช้ความรุนแรง เน้นสร้างแบบอย่างที่ดียกย่องครอบครัวต้นแบบในชุมชน ซึ่งผลที่ได้ทำให้ทุกวันนี้มีเด็กตั้งครรภ์ไม่พร้อมในชุมชนลดลงอย่างมาก
'เอ็มโอยู' นวัตกรรมลดปัจจัยเสี์ยงด้านสุขภาพ
เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 440 แห่ง กว่า 2,200 คน ประกาศเจตนารมณ์ พร้อมลงนามความร่วมมือลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง
น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่จำนวน 440 แห่ง จำนวน 2,200 คน จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการจัดการความรู้และพิธีความร่วมมือประเด็นเฉพาะนวัตกรรมลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง 6 ประเด็น
ซึ่งสาระสำคัญในการลงนามความร่วมมือ ได้แก่ 1.พัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ โดยจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ เป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
2.สร้างเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนขบวนการร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เน้นทักษะ "4 สร้าง"ได้แก่ สร้างจิตอาสา อาสาทำดี สร้างวินัย และนิสัยอดออม
3.ขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนสู่อาหารเพื่อสุขภาวะ โดยส่งเสริมสนับสนุนปลูกผักสวนครัวไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของครัวเรือนที่มีอยู่ในชุมชนและสนับสนุนให้มีตลาดสีเขียว
4.การควบคุมการบริโภคยาสูบโดยสร้างและขยายครอบครัวปลอดบุหรี่ สร้างคนต้นแบบ และสร้างค่านิยม "ไม่สูบบุหรี่" ในชุมชน รวมถึงจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดบุหรี่ สร้างกติกาหรือมาตรการทางสังคมที่เป็นข้อตกลงร่วมกันในชุมชน และมีช่องทางการบำบัด ฟื้นฟูและให้คำปรึกษาแก่ผู้สูบบุหรี่ที่ต้องการลด ละเลิก
5.สร้างครอบครัวอบอุ่นและเฝ้าระวังตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เน้นการสร้างเครือข่ายครอบครัวเป็นกลไกในการขับเคลื่อนโดยใช้ทุนและศักยภาพของกลุ่มแม่บ้าน เพิ่มพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการครอบครัว
6.ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอุบัติเหตุ โดยลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญสร้างเครือข่ายร้านค้าในพื้นที่ไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และงดจำหน่ายเครื่องดื่มในวันสำคัญทางศาสนา
"การจัดการความรู้และร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนานวัตกรรมลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งทั้ง 6 ประเด็นครั้งนี้มีการใช้กฎ กติกา การมีส่วนร่วมในการควบคุมการบริโภคยาสูบ และการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดอุบัติเหตุจราจร"
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต