ชุมชนร่มเย็นสืบสานภูมิปัญญา
ปัญหาสังคมในปัจจุบัน นอกจากจะมาจากสิ่งเร้าทางวัตถุที่เจริญอย่างรวดเร็ว รวมถึงการขาดความเข้าใจและการเอาใจใส่จากครอบครัว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเด็กและเยาวชน สุดท้ายปัญหาเหล่านั้นก็ย้อนกลับสู่สังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่เว้นแม้แต่ชุมชนที่ 4 หมู่ 7 ชุมชนร่มเย็นในจังหวัดสุรินทร์ ชุมชนเล็กๆ ที่มีประชากรเพียง 945 คน 140 หลังคาเรือน ก็เช่นกัน
จากการสำรวจพบว่า ปัญหาที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ได้แก่ เด็กและเยาวชนที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาจะมีการจับกลุ่มมั่วสุม ลักทรัพย์เพื่อนำเงินไปเติมเงินโทรศัพท์มือถือ เล่นเกมออนไลน์ และซื้อเครื่องดื่มมึนเมา เมื่อเกิดความคึกคะนองทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทระหว่างกลุ่ม ขับขี่รถเสียงดังสร้างความรำคาญให้กับคนในชุมชน
เมื่อเล็งเห็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในชุมชน หากทิ้งไว้นานมีแต่จะเป็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ไขได้ยาก ชุมชนขาดคุณภาพและการพัฒนาในที่สุด ผู้ใหญ่ในชุมชนร่มเย็นจึงได้ร่วมกันวิเคราะห์และหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการจัดตั้ง “สภาผู้นำชุมชน” โดยรับสมัครเลือกและคัดเลือกประชาชนจิตอาสา ซึ่งมีทั้งคณะกรรมการกองทุนเงินล้านของชุมชน ปราชญ์ชุมชน ผู้นำชุมชน ครู อาสาสมัคร สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลร่มเย็น มาเป็นแกนนำหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ จำนวน 20 คน สร้างบทบาทให้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคม
สำหรับแนวทางสำคัญที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนในท้องถิ่น คือการเติมเต็มช่องว่างระหว่างผู้สูงวัยกับเด็กและเยาวชน สร้างความสัมพันธ์ให้กับสมาชิกในครอบครัว ด้วยการฝึกทักษะพัฒนาอาชีพ ถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากผู้สูงวัยไปสู่เยาวชนรุ่นหลัง ทั้งที่อยู่ในและนอกระบบการศึกษาให้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้
ทั้งนี้สภาผู้นำชุมชนได้มีการประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวไปยังกลุ่มเยาวชนเป้าหมายนอกพื้นที่ และได้รับความร่วมมือจากกัลยาณมิตรชุมชนใกล้เคียง อาทิ คณะครูโรงเรียนท่าตูมสนิทราษฎร์วิทยาคม โรงเรียนท่าตูมประชาเสริมวิทย์ โรงเรียนอนุบาลทองอุ่น โรงเรียนเทศบาลท่าตูม องค์การบริหารส่วนตำบลท่าตูม และเทศบาลตำบลท่าตูม ส่งผลให้เด็กและเยาวชนทั้งในและนอกชุมชนมีความสนใจเข้าร่วมโครงการถึง 120 ครอบครัว
ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นำมาถ่ายทอดให้กับเยาวชนที่ร่วมโครงการ ได้แก่ นวดแผนไทยเบื้องต้น การทำบายศรี การทำลูกประคบสมุนไพร และการทำดอกไม้จันทน์ โดยเป้าประสงค์เพื่อลดช่องว่างระหว่างวัย ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ร่วมกัน และยังเป็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นไปในตัวอีกด้วย โดยมีการขอความร่วมมือกับร้านเกมส์ในชุมชน ในเรื่องเวลาปิด-เปิดการให้บริการแก่เด็กและเยาวชนในชุมชน และมีการจัดประชุมเดือนละครั้งเพื่อรายงานผลการดำเนินกิจกรรมและร่วมกับแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินกิจกรรม
ผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ สามารถแก้ปัญหาการมั่วสุม ทะเลาะวิวาทของเด็กและเยาวชนในชุมชนได้ในระดับหนึ่ง ในส่วนของสภาผู้นำชุมชนมีการขับเคลื่อน หนุนเสริม โครงการของหมู่บ้าน เพิ่มจำนวนครอบครัว ผู้ปกครองและเยาวชนให้เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนคิดเป็น 100% ของจำนวนประชากรในท้องถิ่น และก่อให้เกิดการต่อยอดกิจกรรมเป็น ชมรมภูมิปัญญาท้องถิ่นในโรงเรียน 4 ชมรม คือ ชมรมนวดแผนไทย ชมรมทำบายศรี ชมรมทำดอกไม้จันทน์ และ ชมรมทำลูกประคบ
ในความสำเร็จดังกล่าว นอกจากจะเสริมสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนแล้ว ยังเพิ่มความแน่นแฟ้นให้คนในครอบครัว ลดปัญหาความเหินห่างระหว่างวัย และที่สำคัญภูมิปัญญาชาวบ้านก็จะได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นไม่ให้เลือนหายไปจากชุมชน
ที่มา : สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส.