ชุมชนปอดใส ไร้ควันบุหรี่
ที่มา : เว็บไซต์คมชัดลึก
แฟ้มภาพ
สสส. จับมือภาคีเครือข่าย จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนระบบบริการเลิกบุหรี่ครั้งที่ 2 "ชุมชนปอดใส ไร้ควันบุหรี่"
โครงการสนับสนุนและสื่อสารการขับเคลื่อนงานของภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การขับเคลื่อนระบบบริการเลิกบุหรี่ ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ "ชุมชนปอดใส ไร้ควันบุหรี่" เพื่อให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนโครงการตัวอย่างที่นำไปสู่การลดบริโภคยาสูบในระดับชุมชน ซึ่งเกิดจากการขับเคลื่อนของภาคส่วนต่างๆ พร้อมเปิดวงเสวนางานวิจัยการควบคุมยาสูบในระดับชุมชน เพื่อเป็นการส่งต่อองค์ความรู้ให้ชุมชนอื่นทั่วประเทศ นำไปใช้เป็นกรณีศึกษา พร้อมต่อยอดและพัฒนาโครงการของตนเอง มุ่งสู่การลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ในพื้นที่ต่อไป
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิต คือ การเติมชีวิตให้กับเวลา และการเติมเวลาให้กับชีวิต ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศไทยมีผู้สูบบุหรี่ใกล้เคียงที่ 10 ล้านคน ซึ่งในอีก 5 ปีข้างหน้า ทุกฝ่ายต้องการจะให้คนเลิกบุหรี่อีกล้านคน เพื่อให้เหลือจำนวนผู้สูบบุหรี่ที่ 9 ล้านคน ถ้าหากชักชวนให้บุคคลเลิกสูบบุหรี่ได้ ตั้งแต่อายุ 30 ปี จะเป็นการเติมเวลาชีวิตให้กับคนที่เลิกสูบไปประมาณ 10 ปี เชื่อว่าเป็นสิ่งทีทุกคนต้องการ และถือเป็นการเติมที่ไม่ต้องเสียเงิน และยังสามารถประหยัดเงินได้เดือนละประมาณ 750 บาท อีกด้วย
ทั้งนี้ การร่วมมือกันระหว่างภาคเครือข่ายถือเป็นสิ่งที่ดี และยังเป็นการเติมชีวิตให้กับเวลาของคนที่ทำงาน ให้ชีวิตมีความหมายมากขึ้น เชื่อมั่นว่า การรวมตัวในวันนี้ จะทำให้ชีวิตมีความสุข ในการให้คนได้เลิกบุหรี่ได้ ซึ่งขณะนี้กำลังจะเข้าใกล้สู่ปีใหม่แล้ว หลายคนอาจจะมีความตั้งใจบางอย่างเป็นของตนเอง จึงเชื่อว่ามีคนที่อยากเลิกบุหรี่จำนวน แต่ยังขาดคนที่จะเข้ามา "ชวน" และ "ช่วย" ซึ่งต้องขอบคุณทุกองค์กรและภาคีที่เข้ามา "ชวน" และ "ช่วย" ในครั้งนี้ ซึ่งก็ยังต้องการความหลากหลายของบริบทที่แตกต่าง ได้เข้ามาร่วมกันทำงานตามบทบาทของตนเอง เพื่อเติมชีวิตให้กับเวลา และเติมเวลาให้กับชีวิตของผู้อื่นร่วมกันต่อไป
ขณะที่ ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า ศจย. มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อนำองค์ความรู้ไปใช้ในการขับเคลื่อนการควบคุมยาสูบทั้งในระดับชุมชนและประเทศ เพราะปัจจุบันตัวเลขความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ อยู่ที่ประมาณ 87,000 ล้านบาท แต่เก็บภาษีจากยาสูบได้เพียง 68,000 ล้านบาท ทำให้เกิดความสูญเสียมากกว่า ซึ่งที่ผ่านมา ศจย. ได้พยายามเผยแพร่องค์ความรู้ ต่อสู้ทางวิชาการกับบริษัทยาสูบ พร้อมสร้างความเข้มแข็งในระดับชุมชนอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การควบคุมยาสูบในชุมแต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างกันทั้งทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิต ทำให้มีการแยกรูปแบบการจัดการ 3 ลักษณะ คือ พื้นที่ชนบท พื้นที่เมือง และพื้นที่กึ่งเมือง ซึ่ง ศจย. ก็ได้มองเห็นถึงความแตกต่างเหล่านี้ จึงได้ดำเนินงานด้วยการปรับรูปแบบให้เข้าบริบทของพื้นที่ต่างๆ
ส่วน ผศ.ดร.วรรณภา นาราเวช คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะทำงานพัฒนาศักยภาพนักวิจัยและวิชาการ ศจย. ประจำภาคกลาง กล่าวว่า จากการสำรวจ (ออนไลน์) ประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร กว่า 1,200 ตัวอย่าง พบว่า มีคนสูบบุหรี่ ประมาณร้อยละ 15 ซึ่งบางส่วนก็สูบบุหรี่ในอาคารชุด ทำให้เกิดผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากควันบุหรี่จะกระจายไปห้องที่อยู่รอบข้าง ส่งผลต่อสิทธิการใช้ชีวิตร่วมกันของผู้อื่น และอีกหนึ่งปัญหาที่ประสบ คือ ความเพิกเฉยของผู้ประกอบการ ที่ไม่ดูแลเอาใจใส่เรื่องนี้ รวมไปถึงพฤติกรรมทางสังคมที่เน้นอยู่แบบตัวใครตัวมัน
ซึ่งอยากชี้ให้เห็นว่า เรื่องควันบุหรี่ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะมีสารนิโคตินอยู่ สามารถก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อแบบเรื้อรังในระยะยาวได้ หากรับการสูดดมเป็นเวลานาน และจะส่งผลต่อสุขภาพเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ดังนั้น ต้องมีการทำงานที่เน้นกระตุ้นให้ทุกฝ่ายหันมาใส่ใจเรื่องการห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่อาคารชุดกันมากขึ้น
ด้าน ผศ.ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าคณะทำงานพัฒนาศักยภาพนักวิจัยและวิชาการ ศจย. ประจำภาคเหนือ กล่าวว่า ในพื้นที่ชนบทก็ประสบปัญหาเรื่องของการขาดพลังอำนาจทางความรู้ ทรัพยากร และเครือข่ายทางสังคม ดังนั้น การนำความรู้จากส่วนกลางลงไปทำความเข้าใจกับประชาชนผ่านการทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสร้างให้ประชาชนได้ตระหนักรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่ และเกิดการสานพลังร่วมกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งในระดับตำบลและอำเภอต่อไป พร้อมกันนี้จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย เช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข นักวิจัย และผู้นำชุมชน ในการรณรงค์สร้างความตระหนักให้ลดการบริโภคยาสูบด้วย
เภสัชกรหญิง ทรัพย์พานิช พลาบัญช์ เภสัชกรชำนาญการ ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด กล่าวถึงบทบาทของเภสัชกรตามโครงการ "ร้านยากับการให้บริการเลิกบุหรี่ในชุมชน" ว่า ที่ผ่านมาการทำงานของเภสัชกร นอกจากจะอยู่ในห้องทำงานตามโรงพยาบาลแล้ว ก็ยังมีเภสัชกรชุมชนที่อยู่ตามร้านยา ซึ่งร้านยาอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมาก ใช้เวลาอยู่ในชุมชนจนถึง 3-4 ทุ่ม ดังนั้น จึงเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ จากการดำเนินงานมากว่า 2 ปี (2561-2563) มีผู้รับบริการเลิกบุหรี่ 85 คน เลิกสูบบุหรี่ได้ 12 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 14 และในปีนี้ยังมีผู้เข้ารับบริการถึง 46 คน ซึ่งที่ผ่านมาร้านขายยาทำได้เพราะได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจาก สสส. และเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อการควบคุมยาสูบ ทั้งด้านงบประมาณ องค์ความรู้ รวมทั้งสื่อต่างๆ และยังได้รับกำลังใจในการทำงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมฝากว่า หากต้องการจะเลิกบุหรี่ก็สามารถค้นหาคำว่า "ร้านยาเภสัชอาสา" ในกูเกิ้ล จะแสดงแผนที่ให้เห็นว่าร้านยาร้านไหนที่เปิดบริการเพื่อปรึกษาในการเลิกสูบบุหรี่ได้