ชุมชน’บ้านดงยาง-พรพิบูลย์’ต้นแบบเลิกเหล้า

          ชุมชน'บ้านดงยาง-พรพิบูลย์'ต้นแบบเลิกเหล้า thaihealth


แฟ้มภาพ


ครอบครัวที่มีสามีติดเหล้าอย่าง "เสถียร สามพันเย็น" และ "สมบูรณ์ สามพันเย็น" สามีภรรยาที่ทำมาหากินตามประสาชาวบ้านในชนบท และวันนี้เขาทั้งสองมีหลานตัวเล็กๆ ให้ดูแล นับเป็นภาพความอบอุ่นในวัยกลางคนที่ค่อนไปทางสูงอายุ แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้


"สมบูรณ์" ผู้เป็นภรรยา เล่าให้ฟังว่า เธอต้องผ่านร้อนผ่านหนาวและทนทุกข์ทนลำบากมายาวนาน ทั้งนี้เพราะเมื่อก่อนสามีติดเหล้าจนไม่เป็นอันทำมาหากิน เธอต้องทนอายเพื่อนบ้านใกล้เคียง เพราะสามีเมาแบบไม่รู้สติ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงที่หมู่บ้านมีงานบุญประเพณีต่างๆ


"เวลาสามีกินเหล้าและเมามาก็ทะเลาะกันเป็นประจำ เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงกันก็ไม่อยากจะคุยด้วย บางครั้งฉันต้องอุ้มหลานตัวเล็กๆ แอบไปนอนบ้านญาติๆ ที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน เพราะรำคาญสามีและมีแต่จะทะเลาะกันทุกวัน และพูดกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง" สมบูรณ์ กล่าว


แต่หลังจากสามีเลิกเหล้า เธอเหมือนได้สามีคนใหม่ เพราะความอบอุ่นในครอบครัวได้กลับเข้ามาสู่บ้านอีกครั้ง ลูกหลานก็มีความสุขมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่ทุกคนได้มาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน ซึ่งต่างกับเมื่อก่อน ที่บางทีลูกๆ แทบไม่อยากกลับบ้านเพราะไม่อยากกลับมาเห็นสภาพพ่อที่เมา หรือกลับมาก็แทบไม่อยากนั่งอยู่บ้าน เพราะพ่อมีแต่ขอเงินไปซื้อเหล้า แต่ทุกวันนี้เหมือนเป็นคนละคนทุกอย่างที่ว่ามาไม่มีแล้ว นอกจากนี้ในส่วนของการทำงาน ตอนนี้สามีก็สามารถทำนาได้ 2 ครั้ง ทั้งนาปีและนาปรัง ทำให้ได้ขายข้าวมีรายได้เพิ่ม


เรื่องการติดเหล้าของคนในหมู่บ้าน สมัย ไชยคำจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านพรพิบูลย์ ต.บ้านแดง อ.พิบูลย์รักษ์ จ.อุดรธานี หมู่บ้านที่ทั้งสองคนเป็นสมาชิกอยู่ เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนชุมชนแห่งนี้มีปัญหาเรื่องคนในชุมชนติดสุราเหมือนครอบครัวของ "เสถียร" และ "สมบูรณ์" จนทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ พ่วงตามมาอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทะเลาะวิวาทกันในครอบครัว ปัญหาอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาทในงานบุญประเพณี และแม้กระทั่งในยามที่บางครอบครัวมีงานพิธีกรรมอย่างงานศพ ซึ่งเป็นการสูญเสียบุคคลในบ้าน นอกจากเจ้าภาพจะเสียใจแล้วยังต้องมาเสียเงินจ่ายค่าเหล้าให้แขกที่มาร่วมงานอีก ซึ่งเป็นการเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์อย่างมาก


ดังนั้นในปี 2556 ด้วยการแนะนำของศูนย์สุขภาพชุมชนโรงพยาบาลพิบูลย์รักษ์ ชาวบ้านที่นี่จึงได้เริ่มดำเนินโครงการเพื่อจะนำไปสู่การลดเหล้า โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ภายใต้ชุดโครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่โดยสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) ซึ่งมีทีมสนับสนุนวิชาการภาคอีสานเป็นทีมพี่เลี้ยง โดยในการทำงานนั้นได้รวมเอาบ้านดงยางที่เดิมเคยเป็นหมู่บ้านเดียวกันและมีปัญหาแบบเดียวกันเข้ามาทำงานด้วยเกิดเป็นภาพการทำงาน 1 โครงการ 2 หมู่บ้าน ของชาวบ้าน ดงยาง-พรพิบูลย์ ที่มีการทำงานร่วมกันอย่างลงตัว โดยมี "สภาผู้นำชุมชน" เป็นหัวใจหลักในการค้นหารูปแบบการทำงาน


กิจกรรมงานศพปลอดเหล้าถือเป็นกิจกรรมเด่นที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในหมู่บ้าน เพราะอย่างที่บอกไว้ว่า บ้านไหนที่เป็นเจ้าภาพงานศพ นอกจากจะสูญเสียบุคคลในครอบครัวแล้วยังต้องควักเงินจ่ายค่าเหล้าเพิ่มอีก ซึ่งมีแต่เสียกับเสีย ในส่วนของร้านค้าเองก็เข้าร่วมโครงการโดยติดป้ายงดจำหน่ายเหล้าในงานศพและวันพระ ถึงแม้จะสูญเสียรายได้บ้าง แต่เมื่อแลกกับความสุขของหมู่บ้านแล้วทุกคนก็ยอม อีกทั้งยังมีการติดป้ายเชิดชูเกียรติให้แก่บุคคลต้นแบบที่เลิกเหล้าที่ถือเป็นกำลังใจชั้นดีของคนที่เลิกได้และจะเป็นแบบอย่างให้คนที่ยังไม่เลิกได้เห็นคุณค่า ซึ่งบ้านดงยางพรพิบูลย์ มีทั้งหมด 5 ป้าย 5 บุคคลต้นแบบ นอกจากนี้ในช่วงเข้าพรรษาที่นี่จะมีธนาคารเหล้า ที่จะเป็นจุดรับฝากขวดเหล้าเปล่าพร้อมเขียนชื่อคนที่ตั้งสัจจะว่าจะงดเหล้าช่วงเข้าพรรษา โดยในแต่ละปีก็จะมีผู้ที่มาลงชื่อและฝากขวดเหล้าในตัวเลขที่น่าพอใจ


จุดเด่นของการทำงานที่นี่คือ การร่วมไม้ร่วมมือกัน ทั้งในส่วนของผู้นำชุมชนและสมาชิกลูกบ้านทั้ง 2 หมู่บ้าน ที่สำคัญยังต้องดึงภาคส่วนอื่นๆ เข้ามาร่วมเพื่อเติมเต็มในแต่ละบทบาท โดย ศิริมนัส ภูสีไม้ เจ้าหน้าที่จากศูนย์สุขภาพชุมชนโรงพยาบาลพิบูลย์รักษ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่ประกบชุมชนมาโดยตลอด กล่าวว่า "ที่ผ่านมาเรามีการคุยกับชุมชนโดยผ่านเวทีประชาคมเรื่องปัญหาสุขภาพ ที่เริ่มจากปัญหาเล็กๆ ใกล้ตัว เพื่อให้ชาวชุมชนเห็นว่าเรื่องใกล้ตัวเป็นปัญหาของทุกคนต้องช่วยกันแก้ไข เช่น เริ่มต้นจากปัญหาการดื่มเหล้าที่นำไปสู่การทะเลาะวิวาทภายในครอบครัว และอาจทำให้เกิดอาชญากรรมตามมา เป็นต้น ซึ่งบทบาทของเราเป็นทั้งพี่เลี้ยง และผู้สนับสนุนข้อมูลให้ชาวบ้านในชุมชนได้รับรู้รับทราบ"


ทั้งหมดนี้คือผลที่เกิดจากความตั้งใจจริงของชาวบ้านดงยาง-พรพิบูลย์ ที่พอทำงานแล้วก็เกิดผลในวงกว้าง กระทั่งผู้นำท้องถิ่นให้การยอมรับ จนเกิดเป็นนโยบายระดับตำบล ที่จะมีการขยายผลสู่ชุมชนอื่นๆ ทั่วจังหวัด เพื่อให้การพัฒนาท้องถิ่นมีความเข้มแข็งและต่อเนื่อง และไม่เพียงปัญหาเรื่องเหล้าที่ได้รับการแก้ไขเท่านั้น หากแต่รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาชุมชนในเรื่องอื่นๆ ก็พ่วงตามมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการขยะชุมชน ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน รวมถึงงานที่ทำกับเยาวชน เพราะทุกคนที่นี่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ความสุขของชุมชนคือการที่ทุกคนได้อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อหนุน และเมื่อเผชิญปัญหาทุกคนต่างก็ทำหน้าที่ในการแก้ไขร่วมกัน และพอการแก้ไขประสบผล สิ่งที่ตามมาก็คือความสุขอย่างยั่งยืนนั่นเอง


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก โดย กมล หอมกลิ่น

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ