ชุมชนน่าอยู่ภาคใต้เกิดได้ แค่ “ริเริ่ม” และ “ร่วมมือ”
จากเหตุก่อเกิดในอาทิตย์ที่แล้ว ถึงคราวสานต่อให้ยืนนานในอาทิตย์นี้ และเพื่อให้ “โครงการชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ในภาตใต้”ของประเทศไทยอัพเกรดทวี “ความสุข” เพราะมี “สุขภาวะ” มากยิ่งขึ้น…
บนเวที “ร่วมขับเคลื่อนชุมชนเมืองและท้องถิ่นให้น่าอยู่สู่วิถีการจัดการตนเอง” ที่จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ (สจสต.)และ มอ.วิทยาเขตหาดใหญ่
สรุปรวมและนำเสนอผลการพูดคุย ถึงทิศทางที่ประชาชนด้ามขวานไทยจะขยับปฏิบัติการจากระดับพื้นที่ ไปสู่การแสวงหาพื้นที่และคลอดวิถีพึ่งตนเองออกมาเป็นนโยบาย ใช้สร้างสุขให้ชุมชนตัวเองและชุมชนเรือนเคียงอย่างยั่งยืน ในด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกษตรอาหารและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงประเด็น เยาวชน ครอบครัว ผู้สูงอายุ และโรคเรื้อรัง ผ่าน “เส้นทางการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นน่าอยู่ภาคใต้”
เกี่ยวกับเรื่องนี้ กำไล สมรักษ์ ตัวแทนจากวงอภิปราย วาดแผนการลงมือปฏิบัติงานให้ได้คุณภาพและประสบความสำเร็จแก่เครือข่ายเพื่อนพ้องที่เข้าร่วมรับฟังกว่า 450 คน โดยเธอระบุว่าจุดเริ่มต้นของการคิดจะทำโครงการใดๆ สักโครงการหนึ่งเพื่อพัฒนาชุมชนของตนให้น่าอยู่ต้องเริ่มจากสานต่อสิ่งดี ปัญหามี นำมาแก้ไข โดยใช้การจัดการตนเองในระดับหมู่บ้าน ส่วนวิธีการนั้น ควรเริ่มพัฒนาคนและสิ่งแวดล้อม ผ่านการประชุม สร้างทีม พัฒนาแกนนำ สร้างเครือข่ายเสริมการเรียนรู้ ปลูกจิตสำนึก และสร้างต้นแบบที่ดี
เมื่อริเริ่มได้ดังนั้น ผลที่ตามมาจะเริ่มปรากฎเช่น เกิดกลุ่มผู้นำ ทำงานเป็นทีม มีแกนนำ ได้ต้นแบบ มีอาชีพ ได้นวัตกรรม มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ สุดท้ายจะพึ่งพาตนเองได้ ส่วนก้าวเดินต่อไปเมื่อชุมชนตนเริ่มเข้มแข็งแล้วก็ควรเสนอนโยบายที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการจัดการตนเองอย่างยั่งยืน
กำไล ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ภาคใต้ ให้มีประสิทธิภาพด้วยว่า จำเป็นต้องวิเคราะห์ปัญหา ค้นหาสิ่งที่เลือกเรื่องหลัก และพัฒนาร่วมกันซึ่งการทำเรื่องดังกล่าวได้ ต้องมีข้อมูล แผนชุมชน และสภาผู้นำ ส่วนกิจกรรมที่ก่อเกิดนั้นแฝงกุศโลบายเชื่อมร้อยให้คนมาร่วมสร้าง และการร่วมสร้างจะสำเร็จได้ต้องมีการประชุมทีมวางแผนงานกันทุกเดือน และสื่อสารระหว่างกันบ่อยๆ
“เคล็ดลับสุดท้ายที่ทำให้ชุมชนท้องถิ่นของตนเองน่าอยู่คือ สร้างแรงจูงใจ ด้วยการให้พื้นที่เป็นเจ้าของ ให้โอกาสกับทุกคนทุกวัยในชุมชนและปล่อยให้การจัดการเป็นวิถีชุมชนไม่ตั้งเงื่อนไขเพิ่ม โดยทุกคนต้องร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลใช้ความรู้สร้างความรู้เพิ่ม ส่วนพี่เลี้ยงโครงการมีหน้าที่หนุนเสริมและเพิ่มภาคีให้ท้องถิ่น นอกจากนี้ ควรจะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และวิธีการทำงานกับชุมชนอื่นๆ เพื่อปรับแก้ข้อเสียเสริมข้อดี หรือเผยแพร่สิ่งดีๆ ให้ชุมชนอื่นๆ ไว้เป็นแนวทาง” ตัวแทนจากเวทีอภิปราย กล่าว
อย่างไรก็ดี บนเวทียังมีนำเสนอโครงการของชุมชนที่ทำสำเร็จอย่างน่าสนใจไว้เป็นตัวอย่างให้เหล่าภาคีได้ศึกษา เรียนรู้ และนำกลับไปปรับประยุกต์ใช้ เกษมณี ชัยรัตนมโนกร ตัวแทนชุมชนใน จ.ปัตตานี ปันประสบการณ์ให้ฟังว่า ชุมชนของเธอนั้นตั้งใจทำโครงการชุมชนปลอดภัยและเน้นความสะอาด เนื่องจากในอดีตมีเหตุการณ์ไฟไหม้ตลาดของชุมชนไม่ต่ำกว่า 4 ครั้งย่อย และอีก1 ครั้งใหญ่ที่ไหม้ทุกมุมของตลาด นอกจากนี้ยังมีระเบิดอีก 4 ครั้ง จนคนในชุมชนเริ่มทนไม่ไหว บางคนเลยเริ่มหาหนทางที่ดีให้กับที่อยู่อาศัย จนมาเจอกับโครงการ สสส. จึงศึกษา เขียนโครงการของบประมาณ และลงมือทำ ด้วยการเคลียร์พื้นที่ให้สะอาดสะอ้าน ลดจุดเสี่ยงเกิดภัยอันตราย
“ไม่น่าเชื่อว่าเดิมชุมชนของเราไม่มีแม้แต่ข้อมูลที่เทศบาล ไม่มี อสม.ไม่มีอะไรเลย แต่คนในชุมชนเห็นพ้องกันว่าอยากให้ชุมชนปลอดภัยเราก็ลงเริ่มต้นลงมือทำเขียนโครงการยื่นไปที่ สสส. จากนั้น หาข้อมูลที่เป็นประโยชน์และนำมาเผยแพร่ให้ชุมชนได้ทราบ ซึ่งนั่นหมายความว่าต้องประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอัคคีภัย หน่วยงานป้องกันวัตถุระเบิดพร้อมกับจัดทำข้อมูลชมชนขึ้นมา จากต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างคิด และต่างคนต่างทำ ก็กลายเป็นมีแกนนำในชุมชนที่เป็นหลักรวบรวมคนที่คิดเหมือนกัน ดึงมาทำงานด้วยกันแบบเป็นทีม ผลที่ได้คือเราได้แผนพัฒนาชุมชน มี อสม.จากเทศบาลลงมาดูแลหมู่บ้าน คนในชุมชนก็มีความสุข ซึ่งสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น มาจากความตั้งใจที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนให้ดีขึ้น เพราะไม่อยากย้ายไปไหน” เกษมณี กล่าวจากใจ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์