ชุมชนท่ากะไดร่วมใจ‘แก้ไขจุดเสี่ยง’ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า 


ภาพประกอบจากเว็บไซต์แนวหน้า 


ชุมชนท่ากะไดร่วมใจ‘แก้ไขจุดเสี่ยง’ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน thaihealth


ชุมชนท่ากะไดร่วมใจ‘แก้ไขจุดเสี่ยง’ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน พลังชุมชนเฝ้าระวังแก้ไขปัญหา สร้างความปลอดภัยให้ผู้ใช้รถใช้ถนน


เส้นทางลัดย่อมเป็นทางเลือกของผู้ขับขี่รถยนต์บนท้องถนน เพราะประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะเส้นทางจากจังหวัดพังงาสู่อำเภอตะกั่วป่า หากผู้ขับขี่เลือกเส้นทางข้ามเขาไปทางตำบลกะปง ซึ่งเป็นทางลัด ก็จะสามารถประหยัดเวลาไปถึงครึ่งชั่วโมง และร่นระยะทางไปได้ราวสามสิบกิโลเมตร


นอกจากผู้สัญจรทั่วไปแล้ว เส้นทางกะปงยังเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดพังงา เนื่องจากตำบลกะปงเป็นพื้นที่สูงของจังหวัดพังงาที่รถยนต์เข้าถึง ติดกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ และอุทยานแห่งชาติคลองพนม (ภูตาจอ) กะปงจึงเป็นพื้นที่สูงที่มีศักยภาพการท่องเที่ยวของพังงาด้วยจุดชมทะเลหมอก ดอกไม้และพืชผักเมืองหนาว แหล่งเกษตรอินทรีย์และธรรมชาติสวยงามด้วยป่าเขา น้ำตก และธารน้ำร้อน


แม้ว่าทางหลวงหมายเลข 4090 สู่ตำบลกะปงจะได้รับการดูแลจากหน่วยงานรับผิดชอบอย่างดี แต่ด้วยภูมิอากาศร้อนชื้นฝนตกบ่อยของภาคใต้ และเส้นทางสูงชันคดเคี้ยวเป็นบางตอนทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงบนเส้นทางสายนี้อยู่เสมอ โดยเฉพาะที่บ้านท่ากะได ซึ่งตั้งอยู่ตรงทางลาดตรงยาวลงมาจากบนเขา เป็นจุดเสี่ยงอุบัติเหตุอย่างมาก ชาวบ้านในพื้นที่เองก็ยังเคยประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนหลายครั้ง จึงเป็นที่มาของการรวมตัวกันเพื่อหาหนทางป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น


“ที่นี่ฝนตกชุกมาก ถ้าขับรถเร็วเกินกำหนดหรือไม่ชำนาญเส้นทางจะเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะตอนฝนตก โดยมากจะเป็นคนนอกพื้นที่ ชาวบ้านมักจะรู้ปัญหา แต่ก็ยังประสบอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ ไม่ร้ายแรง”


อดิศักดิ์ งามแป้น ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 บ้านท่ากะได ซึ่งเป็นหมู่บ้านหน้าด่านก่อนเข้าตัวสู่ตำบลกะปงกล่าว และอธิบายว่า สภาพถนนหลักและถนนในหมู่บ้านนั้นมีสภาพดี ทำให้ผู้สัญจรใช้ความเร็วได้ดี แต่เมื่อฝนตกจะมีปัญหาจากเมือกน้ำที่ไหลจากรถขนส่งปลาสด และก้อนยางที่ตกหล่นอยู่ตามพื้นถนน อีกทั้งยังมีเศษวัสดุก่อสร้างพวกดินและทรายซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้รถลื่นไถลได้


“และนอกจากนั้น มีกิ่งไม้ต้นไม้คลุมทางมาก เวลาฝนตก ความชื้นสูง ถนนจะแห้งยาก และยังมีต้นหญ้าขึ้นข้างทางทำให้เกิดน้ำท่วมขังเพราะหญ้าไปกันไม่ให้น้ำระบายลงขอบถนน” ผู้ใหญ่อดิศักดิ์อธิบาย


ปัญหาที่ถูกมองด้วยความเป็นห่วง ส่งผลให้ชุมชนแห่งนี้หันหน้าเข้าหากันและร่วมหาทางออก ด้วยการร่วมมือในชุมชนประกอบกับการช่วยเหลือของหลายฝ่าย หนทางจัดการแก้ไขปัญหาก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง และเมื่อได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงเกิดกระบวนการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้มแข็งของสภาผู้นำเกิดเป็นกลุ่มผู้นำชุมชนที่สามารถสรรหารูปแบบการแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนไปในทางดีขึ้นที่ดำเนินงานภายใต้ “โครงการจัดการจุดเสี่ยงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนในชุมชนบ้านท่ากะได ตำบลกะปง อำเภอกะปง จังหวัดพังงา”


จากการประชุมสภาผู้นำ กำหนดแผนงาน และร่วมมือกับคนในชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชุมชนบ้านท่ากะไดสามารถกำหนดแนวทางการทำงานและลงมือทำอย่างได้ผล เริ่มจากการตัดใบปาล์มและกิ่งไม้ที่ยื่นออกมาตามแนวถนน ที่คอยบดบังทัศนวิสัย การตัดหญ้าปกคลุมถนนที่ทำให้ถนนแคบลง รถแล่นสวนทางลำบาก และยังทำให้ถนนลื่น มีการจัดทำป้ายเตือนอันตรายจากการจราจรตามจุดต่างๆ ที่ชาวบ้านสามารถทำกันเองได้


ส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับสายไฟตามถนนที่มีต้นไม้ปกคลุม ก็ได้ประสานงานให้การไฟฟ้ากะปง และ อบต.ท่านา มาจัดการ ซึ่งนับได้ว่า จุดเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุในหมู่บ้านที่มีอยู่ 15 จุด และจุดเสี่ยงอุบัติเหตุบนถนนสายหลัก8จุด ชาวบ้านสามารถจัดการเองได้ถึงร้อยละ 80


ซึ่งจากการสนับสนุนของ สสส. ได้ก่อให้เกิดการขยายผลการดำเนินงานออกไปสู่เรื่องอื่นๆ โดยมีจุดเริ่มต้นจากการมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งในรูปแบบสภาผู้นำ ที่ทำให้เกิดกระบวนการจัดการที่ดี สามารถสร้างความสำเร็จให้แก่ชุมชนบนความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านจนทำให้อุบัติเหตุต่างๆ ลดลง


ชลิต นรินทร สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลท่านา ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานของชุมชนอธิบาย และกล่าวเสริมว่าบริเวณที่มีคนมาทิ้งขยะนั้นอยู่บนป่าเขา ไม่สามารถจัดเวรยามไปเฝ้าระวังห้ามปรามผู้ทิ้งได้ เพราะผู้ทิ้งขยะมาจากนอกชุมชนและอาจจะมาในตอนกลางคืน นอกจากตามเก็บลงมากำจัดด้านล่างแล้ว ทางคณะทำงานจะทำป้ายห้ามทิ้งขยะไปติดตั้งเพื่อลดปัญหา


จากจัดการจุดเสี่ยงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนที่นอกจากสามารถลดอุบัติเหตุในหมู่บ้านท่ากะไดลงไปได้ ลดความเสียหายทั้งเรื่องของทรัพย์สินต่างๆ และการบาดเจ็บเสียชีวิตจากผู้ที่สัญจรผ่านเส้นทาง ยังขยายผลไปจนก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันรักษาความสะอาดในชุมชนและพื้นที่ต้นน้ำได้อีกด้วย ซึ่งการพัฒนาต่อยอดกิจกรรมไปได้อย่างต่อเนื่องย่อมแสดงถึงแนวโน้มความสำเร็จอย่างยั่งยืนโดยที่ชุมชนสามารถจัดการด้วยตัวเองได้ ซึ่งจะเป็นแบบอย่างให้แก่ชุมชนอื่นๆ ให้ลุกขึ้นมาจัดการปัญหาของตนเองได้เป็นอย่างดี

Shares:
QR Code :
QR Code