ชุมชนต้นแบบพึ่งตนเอง ปลูกผักเพราะรักสุขภาพ
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า
ภาพประกอบจากแฟนเพจอีสานสร้างสุข
โครงการ ‘ออมสุขภาพ แบ่งปันสุขภาวะ’ ชุมชนต้นแบบพึ่งตนเอง ปลูกผักเพราะรักสุขภาพ ลดรายจ่ายในครัวเรือน
ชุมชนสี่แยกบายพาสกุดลาดเป็นชุมชนขนาดเล็ก มีจำนวนครัวเรือน 32 หลังคา เป็นกลุ่มชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่สาธารณะซึ่งมีปัญหาเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัย และมีปัญหาการถูกไล่รื้อจากหน่วยงานรัฐ และเมื่อเกิดปัญหาสมาชิกกลุ่มจึงรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งเดิมเป็นที่หัวไร่ปลายนา และบางส่วนเป็นที่ดินที่ผู้ว่าฯ ในสมัยนั้นจัดสรรให้เข้าอยู่ทำกิน แม้ว่าพวกเขาจะมีจุดแข็งในเรื่องการเรียกร้องสิทธิ์เพื่อปกป้องวิถีการดำเนินชีวิตของตัวเอง แต่กระนั้นเรื่องปากท้องก็มีความสำคัญยิ่ง และด้วยความที่เป็นชุมชนกึ่งเมืองซึ่งมีทำเลที่ตั้งไม่ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานีแค่ประมาณ 10 กิโลเมตร ประกอบกับชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำงานรับจ้างในเมือง ทำให้เรื่องอาหารการกินนั้น จำเป็นต้องพึ่งพาตลาดสดหรือกับข้าวถุงข้างทางเพื่อความสะดวก ซึ่งอาหารเหล่านี้ส่วนใหญ่ที่เป็นจำพวกผักและผลไม้ในตลาด แน่นอนว่าต้องปนเปื้อนสารเคมีที่ไม่มีความปลอดภัยเหมือนเราปลูกกินเองแน่นอน
นายศักดิ์สิทธิ์ บุญญะบาล หนึ่งในสมาชิกกลุ่มผู้เป็นกำลังสำคัญของชาวบ้าน เปิดเผยว่า “ที่ผ่านมาเราใช้สุขภาพอย่างเดียวเลย เราไม่เคยออม เราใช้สุขภาพด้วยการกินอาหาร เช่น การกินผักเราไม่รู้เลยว่าเป็นผักมาจากที่ไหนและกระบวนการปลูกเป็นอย่างไร เราเลยคิดว่าการปลูกผักกินเองจะเป็นการออมสุขภาพหรือการกินอาหารที่ปลอดภัยเพื่อรักษาสุขภาพของเราให้ยั่งยืน” ศักด์สิทธิ์ เล่าให้ฟังถึงที่มาของโครงการ “ออมสุขภาพ แบ่งปันสุขภาวะ” ซึ่งเป็นโครงการขนาดเล็กที่ได้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้รูปแบบที่เรียกว่าหน่วยจัดการระดับจังหวัด ซึ่ง จ.อุบลราชธานี มีมูลนิธิประชาสังคมเป็นทีมพี่เลี้ยงที่คอยดูแล
จากการร่วมกันทำงานโดยเน้นให้สมาชิกกลุ่มปลูกผักอินทรีย์ไว้บริโภคในครัวเรือน ซึ่งกติกาหลักก็คือ สมาชิกที่ร่วมโครงการต้องปลูกผักอินทรีย์ในครัวเรือนอย่างน้อย 5-10 ชนิด และเงื่อนไขสำคัญคือเมื่อปลูกแล้วต้องรับประทานเพื่อการสร้างสุขภาพที่ดี ลดปัญหาเรื่องโรคภัยจากสารเคมีที่มากับสารปนเปื้อนในผักและผลไม้ตามตลาด ซึ่งผลจากการทำงานเพื่อส่งเสริมสมาชิกในกลุ่มปรากฏว่า ตอนนี้มี 20 ครัวเรือน ในทั้งหมด 32 ครัวเรือน ที่หันมาปลูกผักอินทรีย์ไว้กินเองในบ้าน
นอกจากนี้ โดยภาพรวมยังสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการซื้อผักลงได้ถึง 250 ต่อสัปดาห์ ซึ่งผักที่ปลูกส่วนใหญ่จะเป็นผักสวนครัว และผักพื้นบ้านที่เป็นผักท้องถิ่นและเคยมีในชุมชน เช่น ก้านตง อ่อมแซบ ผักติ้ว ผักเม็ก กระโดน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีบางครัวเรือนปลูกผักขายตามท้องตลาดทั่วไป เช่น คะน้า กวางตุ้ง และผักสลัดต่างๆ จนสามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่ม ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนี้ถือว่าคุ้มเกินคาด ที่แม้แต่สมาชิกแกนนำผู้ริเริ่มโครงการเองก็ยังคาดไม่ถึงว่าผู้ที่ร่วมโครงการจะให้การตอบรับขนาดนี้เมื่อเทียบกับงบประมาณที่ได้รับแค่ 50,000 บาท ในระยะเวลาการดำเนินงานแค่ 9 เดือน ซึ่งคณะทำงานต้องทำกิจกรรมการประชุมเพื่อพบปะและแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยงบประมาณไม่ได้มีไว้เพื่อค่าอุปกรณ์ใดๆ ยกเว้นค่าเมล็ดพันธุ์บางอย่างที่หาไม่ได้ในชุมชน นอกนั้นถ้าใครอยากทำอย่างอื่น เช่น โรงเรือนหรืออุปกรณ์ที่ทันสมัยขึ้นทุกคนจะต้องออกค่าใช้จ่ายเอง
เหมือนกับที่ พงศ์ทัต ตะไก่แก้ว อีกหนึ่งสมาชิกที่ลงมือปลูกผักอินทรีย์ ได้เล่าเรื่องนี้ให้ฟังว่า “หลังจากได้ความรู้จากโครงการ ทั้งความรู้ที่ได้จากการอบรมและการออกไปศึกษาดูงานตามสถานที่ต่างๆ จึงเกิดแรงบันดาลใจว่าต้องปลูกผักไว้กินเองเพื่อสุขภาพของเรา ผักที่เราปลูกเองจะเป็นผักที่ปลอดภัยอยากกินเมื่อไหร่ก็ได้ แม้ว่าบางอย่างจะต้องลงทุนเอง เช่น การก่อสร้างโครงเหล็กเพื่อทำโรงเรือนในการปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์ รวมทั้งการทำโรงเรือนอินทรีย์แบบยกแปลงให้พื้นลอยที่ทำให้ง่ายต่อการจัดการที่เราไม่ต้องกังวลเรื่องหญ้าและแมลงที่ไต่ตามพื้น แต่แน่นอนอุปกรณ์เหล่านี้เราต้องลงทุนเอง โครงการจะให้เฉพาะความรู้และวิธีการทำงานเพื่อให้เรานำมาต่อยอดเท่านั้น” พงศ์ทัต กล่าว
นี่คือเรื่องราวของกลุ่มคนตัวเล็กบนเนื้อที่เล็กๆ แต่มีพลังที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นพลังที่เอื้อต่อการดำเนินวิถีชีวิตของพวกเขาเอง ซึ่งโจทย์ท้าทายของพวกเขาคือการปกป้องสิทธิ์ของตัวเองในที่อยู่อาศัยและที่ทำกินที่ทุกคนได้มาอยู่อาศัยเมื่อไม่รู้กี่ปีมาแล้ว เพื่อเป็นมรดกให้ลูกหลานได้ดำรงวิถีสืบไปตามแบบที่ควรเป็น