“ชุมชนตำบลบางปู” วิสาหกิจแห่งความสุข
เศรษฐกิจ ความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว รวมไปถึงเด็กและเยาวชน ไม่ได้เป็นปัจจัยแห่งปัญหาของ ชุมชนตำบลบางปู จ.สมุทรปราการ อีกต่อไป
เป็นระยะเวลากว่า 18 เดือนแล้ว ที่ชุมชนตำบลบางปู ในฐานะวิสาหกิจชุมชนที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มแม่บ้าน เพื่อทำผ้าเช็ดเท้าส่งขายในปี 2540 ได้นำ “เฮฮา” (HeHa) หรือ โครงการเสริมสร้างสุขภาวะอุตสาหกรรมแบบมากมีศรีสุข (สบม.) หนึ่งในเครื่องมือจากหลักคิด องค์กรสุขภาวะ หรือแฮปปี้ เวิร์กเพลส (Happy Workplace) เข้ามาสร้างให้วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้กลายเป็นพื้นที่แห่งความสุข
จากการวิเคราะห์ปัญหาในครั้งแรก โดย สายหยุด พูลสวัสดิ์ ประธานกลุ่มสตรีพัฒนาอาชีพบางปู ร่วมกับเหล่าสมาชิกในชุมชน และได้กำหนดเป้าหมายที่จะพัฒนาพื้นที่ต่อใน 5 ประการด้วยกัน คือ 1. คนในชุมชนมีงานทำ 2.เกิดการรวมกลุ่มเพื่อประกอบอาชีพ 3. หนี้สินนอกระบบของชุมชนลดลง 4.จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวและเด็กเยาวชน และ5.รวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมของชุมชน
โดยมีความเชื่อว่า “ถ้าคนในชุมชนมีเศรษฐกิจดีแล้ว จะมีเวลาดูแลครอบครัวและดูแลลูกมากขึ้น ปัญหาด้านครอบครัวและเยาวชนจะลดลง” การพัฒนาชุมชนตำบลบางปู จึงเน้นให้ความสำคัญต่อเรื่องปากท้อง ด้วยการส่งเสริมให้ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ แต่ก็ทำกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาด้านครอบครัวและเยาวชนควบคู่กันไปด้วย
เพื่อให้แผนพัฒนาชุมชนเกิดเป็นผลสัมฤทธิ์ที่ยั่งยืน แผนกิจกรรมของวิสาหกิจชุมชนตำบลบางปู จึงเป็นไปในลักษณะทยอยคิด ทยอยทำ และต่อยอดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง มีการเพิ่มกิจกรรมตามความต้องการของสมาชิก รูปแบบของการจัดกิจกรรมเน้นการให้สมาชิกมีส่วมร่วมมากที่สุด ทั้งการมีส่วนร่วมในการคิดกิจกรรมและการปฏิบัติในช่วง 1 ปีครึ่ง จึงเกิดกิจกรรมแห่งความสุขขึ้นมากมายในที่แห่งนี้ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 แผนงาน 16 กิจกรรมด้วยกัน ดังนี้
1.แผนงานการส่งเสริมอาชีพในชุมชน มี 7 กิจกรรม ได้แก่ สร้างอาชีพหลักให้กลุ่มแม่บ้านเป็นการทำพรมเช็ดเท้าส่งขาย เปิดร้านค้าชุมชน ริเริ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ รวมกลุ่มเพื่อประกอบอาชีพ ระดมเงินทุนชุมชน จัดกิจกรรมออมวันละบาท และตั้งกองทุนหมู่บ้าน
2.แผนงานเพิ่มความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว และลดปัญหาเด็กเยาวชน มี 9 กิจกรรม ได้แก่ จัดงานวันชุมชน ริเริ่มกิจกรรมสวดมนต์วันอาทิตย์และกิจกรรมนอนวัดวันโกน จัดการสอนความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ และ ICT ให้ในชุมชน บอกต่อและลงมือทำโครงการลดพุง สร้างชุมชนดีด้วยการจัดโครงการงดหล้างดบุหรี่ เปิดโครงการแนะนำการดูแลสุขภาพฟัน เพิ่มโครงการฌาปนกิจชุมชน และรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว และลดปัญหาเด็กเยาวชน
นอกจากนี้ ยังเกิดปรากฎการณ์การตั้งบรรทัดฐานในการอยู่ร่วมกันของชุมชน ซึ่งสมาชิกได้ถือปฏิบัติกันเองโดยไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ตัวอย่างเช่น ยกย่องบุคคลตัวอย่างที่เลิกเหล้าและบุหรี่ให้เป็นบุคคลต้นแบบของชุมชน ซึ่งก็คือ พัก จันโชติ ขณะที่การกู้ยืมเงินนอกระบบของสมาชิกก็จะถูกต่อต้าน ด้วยการไม่พูดคุยกับผู้ที่หันไปพึ่งการกู้เงินนอกระบบ และทางกลุ่มชุมชนยังมีมติให้หยุดทำงานเป็นเวลา 3 วัน เป็นต้น
ผลลัพธ์ที่ได้จากนำเฮฮามาพัฒนาให้ตำบลบางปูกลายเป็นวิสาหกิจชุมชนสร้างสุข จึงเกิดเป็นรูปธรรม ส่งผลดีทั้งต่อด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การที่คนในชุมชนมีงานทำจำนวน 150 คน ด้วยอาชีพที่หลากหลายทั้งทำผ้าเช็ดเท้าจากเศษพรม การตัดเย็บเสื้อผ้าทั้งถุงมือ เสื้อ กางเกง ผ้าม่าน ผ้าเอี้ยม ที่นอนปิกนิค กระเป๋าผ้า ฯลฯ การขายสินค้าในร้านค้าชุมชน การรวมกลุ่มประกอบอาชีพ ซึ่งในจำนวนนี้ มีทั้งผู้ที่ทำเป็นอาชีพหลักและทำเป็นอาชีพเสริม รวมถึงมีการจ้างงานผู้สูงอายุและคนพิการในชุมชนด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น เพราะเกิดการรวมกลุ่มเพื่อประกอบอาชีพ 5 กลุ่ม จากเงินกู้กองทุนบทบาทสตรี เพื่อมาประกอบอาชีพ ปัจจุบันมีอยู่ 5 กลุ่มอาชีพด้วยกัน คือ ร้านค้าชุมชนพอเพียง ร้านค้ารีไซเคิล ซึ่งทั้งสองอาชีพนี้มีความก้าวหน้ามากที่สุด และยังมีโครงการรับทำป้ายประชาสัมพันธ์และสื่อโฆษณา โครงการเลี้ยงปลาช่อนและปลาสลิด รวมถึงโครงการรับตัดเย็บเสื้อผ้า
ขณะที่หนี้สินนอกระบบของชุมชนก็ลดลงเหลือเพียง 2 ครอบครัว ในที่นี้มีตัวชี้วัดที่สำคัญคือ การพูดคุยของสมาชิกเรื่องปัญหาหนี้นอกระบบลดลง ผู้ให้กู้นอกระบบไม่ค่อยเข้ามาในชุมชน และสถิติการกู้ยืมเงินจากกองทุนหมู่บ้านเพิ่มขึ้น
การรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมที่สมาชิกแต่ละคนสนใจก็เป็นไปได้ด้วยดี เช่น กลุ่มแอโรบิคบางปูพัฒนา กลุ่มรำไทย กลุ่มสัจจะ กลุ่มประมง กลุ่มผู้สูงอายุ และชมรมเยาวชน ที่ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 52 คน เป็นเด็กอายุระหว่าง 12 – 18 ปี โดยทางกลุ่มเน้นการรณรงค์เรื่องยาเสพติดในชุมชน
ผลพลอยได้จากการพัฒนาชุมชนให้เป็นสุข ยังทำให้วิสาหกิจชุมชนตำบลบางปู มีอัตราการเกิดขโมยในชุมชนและปัญหายาเสพติดลดลงอีกด้วย จากสถิติที่เก็บโดยชุมชน พบว่าการร้องเรียนต่อผู้ใหญ่บ้านในกรณีรถมอเตอร์ไซต์หายลดลง รวมไปถึงอุปกรณ์ในการทำประมง เช่น น้ำมัน อวน ฯลฯ แทบไม่มีผู้มาร้องเหมือนเมื่อก่อน ด้านปัญหาการติดยาเสพติดของคนในพื้นที่ ก็เปลี่ยนกลายเป็นหมู่บ้านสีขาว โดยเฉพาะในชุมชนหมู่ 4 บ้านคลองบางปู ที่รณรงค์จนประสบความสำเร็จ
โครงการเสริมสร้างสุขภาวะอุตสาหกรรมแบบมากมีศรีสุข (สบม.) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เฮฮา” เป็นโครงการของสมาคมเครือข่ายบริการวิศวการ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ (สสส.) โดยเฮฮานำเสนอแนวทางการสร้างองค์กรให้มีความสุขปัจจุบันทดลองใช้ในองค์กรต่างๆ กว่า 100 องค์กร ซึ่งวิสาหกิจชุมชนตำบลบางปู อำเภอเมืองสมุทรปราการ เป็นหนึ่งในองค์กรที่ทดลองใช้เครื่องมือเฮฮาจนประสบความสำเร็จ กลายเป็นวิสาหกิจชุมชนมีสุข.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์