“ชุมชนจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วม” สิทธิของความเท่าเทียมที่ทั่วถึง

“แม้ประเทศไทยจะยอมรับการศึกษาเป็นพื้นฐานที่คนไทยและผู้ที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ต้องได้รับการบริการจากภาครัฐอย่างเท่าเทียม มีคุณภาพและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาที่หลากหลายแต่จากรูปธรรมปัญหาและรายงานศึกษาวิจัยนโยบายการศึกษาภาครัฐ แนวคิดเรื่องบทบาท หน้าที่ของรัฐ ในการจัดสวัสดิการพื้นฐาน (social safety net) ให้แก่ประชาชน

“ชุมชนจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วม” สิทธิของความเท่าเทียมที่ทั่วถึง

พบความไม่เสมอภาคในโอกาสของการเข้าถึง การให้บริการและสวัสดิการการศึกษาของรัฐที่ส่งผลกระทบ ไม่เฉพาะแต่เด็กยากไร้ ด้อยโอกาส กลุ่มเด็กยากจน กลุ่มชาติพันธุ์และอื่นๆ แต่ยังส่งผลกระทบต่อกระบวนการการพัฒนาคุณภาพของคนในสังคม” เนื้อความสรุปตอนหนึ่งในรายงานผลการวิจัยของ ผศ.ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์ และคณะ, 2551

จากผลกระทบดังกล่าว จึงกลายเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงการศึกษาต้องร่วมกันหาคำตอบ เพื่อหาหนทางดึงการศึกษาที่นับวันยิ่งถอยหลังเข้าคลอง กลับขึ้นมายืนหยัดอย่างงดงาม โดยมีกลุ่มครู พ่อแม่ผู้ปกครอง องค์กร ชุมชนและผู้นำชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น รวมเป็น “ภาคีเครือข่ายการศึกษาเพื่อเด็ก” ภายใต้ “โครงการสนับสนุนภาคีเครือข่ายการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม”

โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีนำเสนอบทเรียนการจัดการศึกษา ในหัวข้อ หลักประกันการศึกษาถ้วนหน้า : ชุมชนจัดการศึกษาอย่างมีส่วนร่วม ณ โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ระหว่างวันที่ 1-3 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา

คุณกัลยา แสงยาอรุณคุณกัลยา แสงยาอรุณ ผู้ประสานงาน ภาคีเครือข่ายการศึกษาเพื่อเด็กภาคเหนือ เล่าว่า สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย ได้ดำเนินกิจกรรมกับชนเผ่ามายาวนานต่อเนื่องถึง 17 ปี ควบคลุม 10 กลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ กะเหรี่ยง ม้ง เมี่ยน ลาหู่ ลีซู คะฉิ่น ไทใหญ่ ลัวะ อาข่า และดาราอาง

โดยการเชื่อมโยงกับชุมชนบนพื้นที่สูงมากกว่า 300 ชุมชน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน พะเยา ลำปาง และกำแพงเพชร สมาชิกรวม 3,258 คน ภายใต้โครงการสมาคมฯ มีโครงการที่ทำงานด้านการศึกษาและวัฒนธรรม 4 โครงการ 1.โครงการสร้างฐานเด็กเล็กก่อนวัยเรียนบนพื้นฐานที่สูง โครงการการศึกษาทางเลือกแบบมีส่วนร่วมเพื่อเด็กและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย โรงเรียนชุมชนบ้านอวาคี และโครงการการศึกษาสำหรับเยาวชนไทยภูเขาในประเทศไทย

“เราไม่เน้นให้เด็กเรียนหนังสือในหลักสูตรที่ส่วนกลางจัดให้อย่างเดียว จะสอนวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวเขา ไม่ให้เด็กลืมตัวตนที่แท้จริง ทั้งภาษา วัฒนธรรม ประเพณี เพราะกลัวว่าถ้าให้เด็กเรียนส่วนกลางอย่างเดียว เขาจะลืมชาติพันธุ์ของตนเอง” กัลยา กล่าว

เช่นเดียวกับ นายแวรอมลี แวบูละ ผอ.โรงเรียนบ้านบาราเฮาะ และ นายอาไซน์น่า อับดุลเลาะ ผอ.โรงเรียนบ้านจะแนะ ภาคีเครือข่ายการศึกษาเพื่อเด็กภาคใต้ เล่าว่า แนวความคิดของ “เครือข่ายโรงเรียนตักวา” จะให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลเป็นเจ้าภาพของสถานศึกษา ด้วยการใช้กระบวนการปรับหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนท้องถิ่น เพราะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มองในเชิงวัฒนธรรมเป็นด้านหลัก มีลักษณะความแตกต่างอย่างเห็นเด่นชัดจากพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของประเทศ

ทั้งในด้านศาสนา ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม และครอบคลุมถึงประชาชนส่วนใหญ่มีเชื้อสายมลายู นับถือศาสนาอิสลาม ภาษาพูดเป็นภาษามลายูถิ่นปัตตนา ภาษาเขียนเป็นภาษามลายูกลาง เครือข่ายโรงเรียนตักวา จ.ปัตตานี จึงจัดทำหลักสูตรอิสลามศึกษาให้แก่นักเรียน โดยการเรียนหลักสูตรส่วนกลางครึ่งวัน ส่วนอีกครึ่งวันที่เหลือให้เรียนหลักสูตรอิสลาม ผลจากการสำรวจความคิดเห็นของเด็กนักเรียน พบว่านักเรียนพึงพอใจที่จะทำตามเงื่อนไขดังกล่าว

“ชุมชนจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วม” สิทธิของความเท่าเทียมที่ทั่วถึง

“เด็กบางคนที่เรียนหลักสูตรอิสลามศึกษาควบคู่กับหลักสูตรส่วนกลางมีผลการเรียนดีขึ้นกว่าเดิม เราจึงทำการขยายเครือข่ายโรงเรียนตักวาไปยังโรงเรียนชายแดนใต้กว่า 25 โรงเรียน ซึ่งทุกโรงเรียนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าได้ผลดี ทำให้ส่วนกลางมีนโยบายจัดทำหนังสือหลักสูตรอิสลามศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ 2551” ผู้บริหารเครือข่ายโรงเรียนตักวา กล่าว

จากจุดเล็กๆ ของการสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มเด็กเยาวชนในชุมชน เกิดเป็นความงดงามแห่งไมตรี ท่ามกลางกระแสธารวัตถุนิยมอันเชี่ยวกราก แนวคิดและแนวทางการจัดการเรียนรู้ดังกล่าวบางแห่งสำเร็จในระดับที่ก่อให้เกิดความร่วมมือจากคนในชุมชนมากขึ้น

บางแห่งยังต้องได้รับการส่งเสริมสนับสนุน ทั้งด้านกำลังความคิดและกำลังใจ ด้วยรูปธรรมที่ปรากฏขึ้นในทุกแห่งที่ คือสิ่งดีงามที่เป็นความรัก ความเข้าใจ ความผูกพัน ความสัมพันธ์ในชุมชน เป็นผลตอบรับที่มีค่ายิ่ง โดยเฉพาะต่อการเรียนรู้และดำเนินชีวิตของลูกหลานในชุมชน หากผู้ใดสนใจร่วมสร้างไมตรีกับรูปแบบการศึกษาทางเลือกได้ที่ 08-1376-6904 ,08-4135-1670 หรือ e-mail : [email protected]

เรื่องโดย: ขวัญเรียม แก้วสุวรรณ 
ที่มา: เว็บไซต์คมชัดลึก

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ