“ชุมชนจักรยาน” จุดประกายชุมชน สู่เมืองสุขภาวะ
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
หนุนชุมชนขี่จักรยาน เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกาย และร่วมสร้างเมืองสุขภาวะ
"ขอบเขตการส่งเสริมการใช้จักรยานในชุมชนในชีวิตประจำวันนั้น คือการใช้จักรยานเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวันในระยะทางสั้นๆ ประมาณ 1-3 กิโลเมตร แต่ไม่ได้หมายถึง การใช้จักรยานเพื่อออกกำลังกาย นันทนาการ การท่องเที่ยว หรือเพื่อการแข่งขัน เป็นสำคัญ" ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ผู้ผลักดันโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ เล่าถึงแนวคิดของการริเริ่มโครงการที่สนับสนุนให้ชุมชนหันมาส่งเสริมการขี่จักรยานในชีวิตประจาวันมากขึ้น
การใช้จักรยานเป็นพาหนะในชีวิตประจาวัน เป็นหนึ่งในกิจกรรมทางกายที่ได้รับความสนใจและได้รับการส่งเสริมทั่วโลกมาช้านาน แต่ในประเทศไทยด้วยสภาวะแวดล้อมทางกายภาพที่ไม่เอื้ออำนวย และการเติบโตสู่ความเป็นสังคมเมืองที่เน้นความสะดวกสบายมากขึ้น จนทำให้ความนิยมในการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันลดลง แม้ว่าการขี่จักรยานในชีวิตประจำวันนั้น ไม่ว่าจะขี่ไปโรงเรียน ขี่ไปทำธุระ หรือไปทำงาน ประโยชน์ที่ได้รับไม่เพียงผู้ขี่มีสุขภาพแข็งแรงขึ้น แต่ยังช่วยลดปัญหาการจราจรและมลพิษทางอากาศได้อีกด้วย
ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการใช้จักรยานในประเทศไทยมีรูปแบบเป็นสามเหลี่ยมปิรามิด ซึ่งการทำงานต้องเน้นแก้ที่ฐานปิรามิดคือคน 50 ล้านคน การขยายแนวคิดปั่นจักรยานในชีวิตประจำวัน ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันผลักดัน เพื่อนำไปสู่การเป็นเมืองสุขภาวะอย่างยั่งยืน เมื่อคนในชุมชนเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อการใช้จักรยาน และหันมาใช้จักรยานเดินทางสัญจรในชุมชนเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นเหมือนการจุดประกายการสร้างพื้นที่สุขภาวะภายในชุมชนให้เริ่มขึ้นไปทั่วพื้นที่
จากผลสำเร็จของโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะในปีแรก ที่สามารถส่งเสริมให้คนในชุมชนตื่นตัวในเรื่องจักรยาน ทั้งเพื่อการเดินทาง เพื่อการออกกำลังกายได้เพิ่มขึ้น ในงานชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ได้สะท้อนให้เห็นภาพของชุมชนน่าอยู่ด้วยวิถีจักรยาน ซึ่งเกิดขึ้นกระจายไปทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผอ.สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกถึงนโยบายในการขับเคลื่อนว่า ในปีที่สองนี้ สสส.พร้อมเปิดโอกาสให้ชุมชนที่สนใจ 100 ชุมชน ร่วมกันสร้างชุมชนที่เป็นมิตรต่อคนใช้จักรยาน และเป็นการตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศ ในการเพิ่มกิจกรรมทางกายของคนอายุ 11 ปีขึ้นไป ไม่น้อยกว่า 80% ภายในปี 2564
ที่เทศบาลเมืองปากพนัง อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ได้เข้าร่วมโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ภายใต้ความร่วมมือระหว่างชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แนวคิดการสร้างเมืองจักรยานของที่นี่ สามารถเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นนำไปปรับใช้ได้
หนึ่งในต้นแบบชุมชนที่ใช้จักรยาน จุรีรัตน์ เบญจศรี ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองปากพนัง เล่าว่า จากการสำรวจพบว่า 200 ครอบครัวมีจักรยานอยู่แล้วแต่ทิ้งไว้เฉยๆ ก็เริ่มรณรงค์สร้างกระแสปรับเปลี่ยนทัศนคติคนในชุมชน โดยชวนให้ออกมารวมกลุ่มกันปั่นจักรยาน กลุ่มเล็กๆ 10-15 คน ปั่นไปออกกำลังกาย ปั่นไปทำกิจกรรมต่างๆ แล้วขั้นต่อไปไม่ใช่มาปั่นร่วมกิจกรรมอย่างเดียว แต่ใช้ในชีวิตประจำวันด้วย ซึ่งเด็กนักเรียนกลุ่มที่เป็นวัยรุ่นปั่นจักรยานไปโรงเรียนเพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มผู้ใหญ่ก็หันมาปั่นไปทำธุระ ปั่นไปตลาด ปั่นไปซื้อของแถวบ้านมากขึ้น
ปัจจุบันชุมชนยังต่อยอดโครงการสู่เมืองจักรยานในอนาคต โดยส่งเสริมให้โรงเรียนในสังกัดเทศบาลชักชวนให้เด็กนักเรียนปั่นจักรยานมาโรงเรียน รวมทั้งขอความร่วมมือจากสมาชิกโครงการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ใช้จักรยานปั่นไปเยี่ยมบ้านสมาชิกในหมู่บ้าน แทนการใช้รถจักรยานยนต์ และจะส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วยจักรยาน
เกรียงไกร ทวีกาญจน์ นายกเทศมนตรีตำบลหนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ บอกเล่าถึงกิจกรรมการปั่นจักรยานที่ทำกันในชุมชนจนเป็นประจำ นั่นคือ "อาสาปั่นทาดี" ซึ่งเป็นการรวมตัวของเยาวชนที่มาปั่นจักรยาน โดยจะนัดรวมพลกันทุกเช้าวันอาทิตย์ หลังจากรับเอาจักรยานไม่ใช้แล้วจากมหาวิทยาลัยศิลปากร
โดยกิจกรรมนี้เริ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการสอนซ่อมจักรยานเป็นวิชาชีพติดตัว จากนั้นจึงพากันปั่นไป กวาดลานวัด เก็บขยะบนถนน หรือแม้แต่การทอดผ้าป่า เทคนิคในการผลักดันนโยบายหรือกิจกรรมเหล่านี้ให้สำเร็จนั้น เขากระซิบเคล็ดลับว่า การทำงานกับเยาวชนต้องให้เขาสนุก กิจกรรมปั่นจักรยาน เด็กๆ ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากเพราะเป็นกิจกรรมที่สนุก ทำให้เกิดความต่อเนื่อง และปัจจุบันโครงการจึงขยายผลมาเป็นกลุ่มอาสาทำดีเหล่านี้เป็นแรงกระตุ้นให้เครือข่ายอาสาทาดีมีอาสาสมัครเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
"เราอย่าคิดเองคนเดียว แต่ชุมชนต้องมีส่วนร่วมด้วย ตกลงกันว่าจะมีพื้นที่สำหรับจักรยานและจะยั่งยืนได้กิจกรรมนี้ ต้องอยู่ในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญผู้นำต้องทำเอง"นายกเทศมนตรีตำบลหนองพลับ ยังกล่าวอวดผลงานจากการปั่นจักรยานเป็นประจาของตนเองด้วยความภูมิใจว่า "ผมรับตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2542 จนตอนนี้ยังใส่ชุดสีกากีตัวเดิมได้อยู่เลย ก็เพราะปั่นจักรยานนี่แหละ"
ส่วนชุมชนหรือพื้นที่สนใจร่วมสร้างชุมชนจักรยานในชุมชนตนเอง ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัยให้คำแนะนำว่า ควรประเมินความพร้อมของพื้นที่ก่อน อาทิ การทราบจำนวนและปริมาณผู้ใช้จักรยานเดินทางในชีวิตประจำวันในชุมชน โดยเฉพาะการเดินทางในชีวิตประจำวัน เช่น ปั่นไปตลาด ไปโรงเรียน ไปทำธุระในเมือง เป็นต้น
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ คือชุมชนควรมีการจัดกายภาพให้เอื้อต่อการใช้จักรยานหรือมีพื้นที่สีเขียว โดยวิเคราะห์รูปแบบผังเมือง อาจมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของเมืองเพื่อสนับสนุนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้จักรยาน
รวมถึงการจัดการด้านความปลอดภัยภายในชุมชน เช่น จำกัดความเร็วที่ 30 กม.ต่อชม.ในเขตชุมชน บริเวณหน้าโรงเรียน ย่านการค้าพาณิชย์ เป็นต้น ที่สำคัญในการจะขับเคลื่อนเมืองจักรยานไปให้เกิดเป็นรูปธรรมนั้น ชุมชนต้องเข้าใจบริบทของแต่ละท้องถิ่น ว่าการเป็นชุมชนจักรยานท้องถิ่นอาจมีความแตกต่างกันไป
สุดท้ายคือการทำงานแบบมีส่วนร่วม โดยชุมชนต้องจับมือกับอปท. หรือหน่วยงานที่มีความประสงค์จะร่วมสร้างชุมชนจักรยานฯ เพราะโครงการฯเน้นกระบวนการที่จะต้องมีส่วนร่วม คือหัวใจสำคัญที่สามารถขับเคลื่อนให้ชุมชนจักรยานเป็นวิถีอย่างเป็น รูปธรรม