ชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ อนาคตของการ’ปั่น’

เป็นหนึ่งในกระแสที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับการปั่นจักรยาน ไม่เพียงสุขภาพแข็งแรงขึ้น แต่ยังลดมลภาวะโดยรวม ไม่ให้โลกแบกรับภาระเยอะเกินไปนัก


ชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ อนาคตของการ\'ปั่น\' thaihealth


แฟ้มภาพ


ในงาน ชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ จึงถือเป็นการสรุปภาพรวมกระแสการปั่นจักรยานได้อย่างเห็นภาพชัดเจนที่สุด เพราะไม่เพียงแต่ความนิยมในการปั่นเพื่อ "สุขภาพ" นั้นจะถ่ายโอนจากกลุ่มคนทำงานออฟฟิศไปสู่ชาวบ้านซึ่งทำงานที่มีโอกาสขยับเนื้อตัวได้มากกว่าแล้ว แต่ยังสะท้อนให้เห็นภาพของความรักสุขภาพที่ปรากฏขึ้นอย่างช้าๆ และงดงาม


"อันที่จริงผมออกกำลังกายประจำ แต่พออายุมากขึ้นก็ออกกำลังกายได้น้อยลง วิ่งได้น้อย แล้วทีนี้ในชุมชนมีคนปั่นจักรยานก็เลยสนใจบ้าง"เกรียงศักดิ์ ทวีกาญจน์ นายกเทศมนตรีตำบลหนองพลับ กล่าวไว้อย่างอารมณ์ดี และนั่นคือจุดเริ่มต้นของเขา ก่อนจะนำมาสู่การปั่นเป็นประจำ


"ผมรับตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2542 จนตอนนี้ยังใส่ชุดสีกากีตัวเดิมได้อยู่เลยนะ" เป็นคำตอบกลั้วหัวเราะต่อคำถามถึงผลของการปั่นจักรยานเป็นประจำ พลางขยายความถึงกิจกรรมการปั่นที่ทำกันในชุมชนจนเป็นประจำ นั่นคือ "อาสาปั่นทำดี" ซึ่งจัดขึ้นทุกวันอาทิตย์ หลังจากรับเอาจักรยานไม่ใช้แล้วจากมหาวิทยาลัยศิลปากร กิจกรรมนี้ก็เริ่มขึ้นอย่างราบรื่น ฝึกฝนฝีมือของเยาวชนในชุมชนให้ซ่อมจักรยาน (ซึ่งผ่านการใช้งานมาอย่างโชกโชน ไม่แปลกอะไรหากจะชำรุด ให้ได้ฝึกปรือฝีมืองานซ่อมสักหน่อย) จากนั้นแล้วจึงปั่นไปกวาดลานวัด เก็บขยะบนถนน กระทั่งทอดผ้าป่า


"ผมคิดว่าถ้าจะผลักดันนโยบายหรือกิจกรรมเหล่านี้ อย่าคิดเองคนเดียว แต่ชุมชนต้องมีส่วนร่วมด้วย ตกลงกันว่าจะมีพื้นที่สำหรับจักรยาน และจะยั่งยืนได้ กิจกรรมนี้ต้องอยู่ในชีวิตประจำวัน" เขากล่าวปิดท้ายทรงศักดิ์ โชตินิติวัฒน์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลพระแท่น เสริมว่า การปั่นจักรยานในชุมชนของเขานั้นได้ทั้งความปลอดภัยและสุขภาพดี ทั้งยังรักสิ่งแวดล้อม กิจกรรมเด่นคือ การปัดกวาดลานวัด ทำบุญด้วยกัน ชุมชนจักรยาน มีคนมาเข้าร่วมกิจกรรมทุกเพศทุกวัย มันจึงเกิดความสามัคคีและความสัมพันธ์ขึ้นในชุมชน จากที่ต่างคนต่างอยู่ ก็ได้มาแลกเปลี่ยน รวมทั้งสนใจกิจกรรมเรื่องอื่นๆ ของเทศบาลด้วย" 


เขายิ้มกว้าง ก่อนจะกล่าวถึงประเด็นการทำโครงการให้สำเร็จว่า แท้จริงแล้วต้องการอาศัยการมีส่วนร่วมจากชุมชนเป็นหลัก หลักสำคัญจึงเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วม เช่น การบอกต่อว่าปั่นแล้วได้เพื่อน มีชุมชนมากขึ้น หรือหลังปั่นก็รู้สึกรักบ้านเกิดเมืองนอนมากกว่าเดิม ผมปั่นไปเห็นทิวทัศน์ เห็นไร่อ้อย เห็นระบบชลประทาน เราคิดว่าทำยังไงให้เขาเห็นเหมือนเรา รู้สึกเหมือนเรา


 


"สองข้างทาง" ที่เห็นในยามปั่นจักรยานซึ่งช้ากว่าการขับรถ จึงเป็นแรงขับสำคัญในการทำให้เขาผลักดันโครงการนี้จนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง


ขณะที่สาวใต้ จุรีรัตน์ เบญจศรี ผอ.กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ทม.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ให้ความเห็นว่าหน้าที่ประสานงานของเธอนั้น บทบาทสำคัญคือการประสานคนจากทุกเครือข่ายให้มีส่วนร่วมด้วยกัน ทำกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ การที่มีคนมาเข้าร่วมนับ 100 คน ทำให้เป็นการประชาสัมพันธ์โครงการไปในตัวและนำไปสู่การที่ทุกคนในชุมชนละลายพฤติกรรมร่วมกัน 


"ก่อนหน้านี้จะมีกิจกรรมเดิน วิ่ง ทุกเช้าวันเสาร์ แต่พอมีจักรยานก็บวกจักรยานเข้าไปด้วย"เธอตอบพร้อมรอยยิ้มหวานๆ ที่กระจายผ่านใบหน้าคมๆ ของสาวใต้ 


วกกลับมาที่หนุ่มเหนืออย่าง สถิตย์ มโนสร้อย ผอ.กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ทต.เวียงหนองล่ม จ.ลำพูน บทบาทหน้าที่ของเขาไม่ต่างจากจุรีรัตน์นัก นั่นคือเน้นที่การประสานงานเป็นหลัก และแน่นอนว่าโยงใยไปถึงสายงานหลักของเขาอย่างเรื่องสุขภาพและสาธารณสุข


"สมาชิกมารวมตัวกัน มีพยาบาลมาให้ความรู้ การตรวจวัดความดัน ประเมินสุขภาพเบื้องต้น"เขาตอบช้าๆ "เป้าหมายต่อไปคือเราตั้งใจว่าจะให้มีคลินิกจักรยาน"


 "อยากให้เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและสิ่งแวดล้อม การใช้ชีวิตร่วมกันของคนในชุมชน มีเส้นทางที่เอื้อต่อการปั่น เช่น กลางคืนมีไฟสว่าง ถนนชะลอความเร็วได้"


ทั้งหมดที่ทั้ง 4 เอ่ยขึ้นมานี้ มากน้อยล้วนสะท้อน ให้เห็นถึงกระแสการปั่นจักรยานที่คึกคักในชุมชน ต่างจังหวัด สอดคล้องกับที่ ทพ.กฤษดา เรือง อารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวไว้ถึงความปรารถนาที่จะทำแนวคิดนำร่องขึ้นมาต่อกระแสการปั่นจักรยานที่เกิดขึ้นในประเทศไทยผ่านนโยบาย นโยบายเมืองปั่นได้เมืองปั่นดี โดยเน้นให้แต่ละจังหวัดทำ 3 ส. ได้แก่


1.ส. เส้นทาง จราจร คือเส้นทางไหนที่พอจะทำให้เกิดการเดินทางได้ ก็เลือกมาสักหนึ่งเส้นทาง


2.ส. สนาม สักหนึ่งสนาม


3.ส. สวนสาธารณะ ที่มีความพร้อม เพราะปัจจุบันเด็กต้องมีสถานที่ให้หัดเริ่มขี่จักรยาน


"ผมอยากให้เลือกจากที่มีความพร้อมก่อน เคยคุยกับคนที่เขาอยู่ในเนเธอร์แลนด์ ว่า 60 ปีที่แล้วเขาก็มีปัญหาเหมือนเรา รถเต็มเมืองเลย เส้นทางจักรยานก็ไม่มี แต่เริ่มคิดกันว่าต้องทำและเริ่มทำบางส่วน อย่างปัจจุบันถ้าเคยได้ไป ทางจักรยานเขาใหญ่กว่าทางรถยนต์อีก" กฤษดากล่าว ก่อนจะเสริมอย่างมีความหวังถึงเส้นทางจักรยานในประเทศไทยที่เขาเชื่อว่าในอีก 5-6 ปีข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นอีกเยอะมาก ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของกระแสในตอนนี้


แต่ใช่ว่าจะเชื่อโดยลืมมองความจริง เพราะอย่างไรเสีย ความจริงที่ว่าการไปแบ่งทางจักรยานในพื้นที่ชุมชนนั้น "ถือเป็นเรื่องลำบากมาก เราไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องที่เหมาะสม" เขายิ้ม "แต่ถ้าเริ่มสร้างถนนสายใหม่ควรคิดถึงเส้นทางจักรยานแต่ต้น ก็จะมีประโยชน์มาก"


แต่ถนนนับสิบนับร้อยสายในประเทศไทยนั้น แน่นอนว่าแรกเริ่มนั้นล้วนไม่ได้ถูกออกแบบสร้างมาเพื่อเอื้อให้จักรยานได้มีพื้นที่ร่วมใช้ กฤษดาเข้าใจในส่วนนี้และเห็นว่าถนนที่มีอยู่แล้วนั้นไม่จำเป็นต้องมีเส้นทางจักรยาน ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ การทำถนนให้เรียบเพื่อให้ใช้ได้อย่างปลอดภัยทั้งผู้ใช้จักรยานและรถยนต์


"และสิ่งที่อยากขายคือ ไอเดียที่ว่าต้องใช้คอนเซ็ปต์ว่าแบ่งปันถนนร่วมกัน" ทั้งนี้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้นั้น เขาคิดว่าส่วนใหญ่เป็นปัญหาเชิงทัศนคติ


"คนขับรถจะรู้สึกว่าจักรยานเป็นส่วนเกินของถนน ขณะที่คนปั่นจักรยานก็รู้สึกว่า คนขับรถไม่ดูแลเลย นี่เป็นทัศนคติที่ต้องปรับ และแน่นอนว่า สสส.กำลังคิดเรื่องนี้ เพราะหลายๆ เมืองที่เคยไปเช่น ลอนดอน ก็ใช้ถนนปนกัน ไม่มีทางจักรยานก็ขี่ได้ เพียงแต่เขาระวังกัน"


นั่นจึงเป็นเรื่องที่ไกลไปกว่าพื้นที่ที่ต้องเตรียมพร้อม เพราะลึกไปจนถึงทัศนคติและความรู้สึกที่มีต่อเพื่อนร่วมถนน เพื่อจะได้ใช้ชีวิตร่วมกันบนถนนสายเดียวกัน


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

Shares:
QR Code :
QR Code