`ชุดตรวจเค็ม`พกพาสะดวก-เล็งใช้ในชุมชน

          คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหิดล ผลิต'เครื่องตรวจความเค็ม'ในอาหาร-ปัสสาวะ เผยใช้ง่าย พกสะดวก ถูกกว่านำเข้า 5-6 เท่า ตั้งเป้าให้'อสม.'ใช้คัดกรองกลุ่มเสี่ยงในชุมชนหวังลดอัตราป่วย


/data/content/26583/cms/e_bdhkopvxz267.jpg


          เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ผศ.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยในงานแถลงข่าวเรื่อง "ความสำเร็จของเครือข่ายลดบริโภคเค็มในปี 2557" ว่า จากการดำเนินโครงการการผลิตเครื่องตรวจสอบความเค็มในตัวอย่างอาหารและปัสสาวะ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพของประชาชนทั่วไป ในส่วนของเครื่องตรวจสอบความเค็มในตัวอย่างอาหารนั้น ใช้หลักการนำไฟฟ้ามาตรวจสอบความเค็ม โดยปลายของเครื่องจะมีวัสดุนำไฟฟ้า เมื่อนำเครื่องจุ่มลงในอาหารแต่ละชนิด จะแสดงปริมาณเกลือ (โซเดียม) หรือความเค็มของอาหารชนิดนั้นเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยมี 2 โหมด คือ โหมดส้มตำ และโหมดต้มยำ ส่วนอาหารประเภทอื่นๆ สามารถนำมากำหนดเข้าเครื่องทดสอบความเค็มได้เช่นกัน เพราะมีโปรแกรมอยู่แล้ว


          "ปกติแพทย์จะแนะนำว่าไม่ควรกินอาหารที่มีความเค็มเกิน 1-5% แต่เครื่องตรวจสอบความเค็มนี้สามารถวัดความเค็มได้สูงสุดที่ระดับ 20% ดังนั้นจึงเหมาะกับการใช้ในอาหารไทยที่มีรสจัดมากกว่าเครื่องที่นำเข้าจากต่างประเทศ ที่สำคัญราคาถูกกว่าเครื่องนำเข้า 5-6 เท่า หรือราคาต้นทุนประมาณเครื่องละ 1,000 บาท คาดว่าหากมีการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมราคาจะถูกกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีการผลิตออกจำหน่าย แต่หากหน่วยงานใดมีความต้องการที่จะใช้งานก็พร้อมที่จะทำการผลิต" ผศ.ยศชนันกล่าว


  /data/content/26583/cms/e_bdhklpswx128.jpg        สำหรับเครื่องทดสอบปริมาณโซเดียมในปัสสาวะ ผศ.ยศชนัน กล่าวว่า มีลักษณะเป็นแผ่นทำจากสารที่มีความจำเพาะเจาะจงกับโซเดียม หลักการทำงานคล้ายกระดาษ ลิตมัส โดยนำปัสสาวะไปหยดบนแผ่นทดสอบ เพียง 1 หยด แผ่นจะเปลี่ยนสีตามปริมาณโซเดียมที่มีอยู่ในปัสสาวะจากสีอ่อน ซึ่งแสดงว่ามีปริมาณโซเดียมน้อย ไปสีเข้มขึ้นที่มีปริมาณโซเดียมมาก โดยสามารถวัดปริมาณโซเดียมในปัสสาวะได้ในระดับตั้งแต่ 0.1-1% ซึ่งแผ่นทดสอบจะมีสีเข้มมากเมื่อมีปริมาณโซเดียมในปัสสาวะตั้งแต่ระดับ 0.5% ขึ้นไป ขณะนี้สามารถผลิตได้ในราคาต้นทุนแผ่นละ 3 บาท แต่หากนำเข้าจากประเทศราคา 40-120 บาท และว่า แผ่นทดสอบโซเดียมในปัสสาวะนี้ สามารถใช้งานได้ง่าย เหมาะสำหรับนำไปใช้ในการคัดกรอง ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคไต อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังผลิตได้ในปริมาณน้อยและไม่มีวางจำหน่าย แต่หากมีหน่วยงานใดสนใจก็พร้อมขยายสู่ภาคอุตสาหกรรม


          ด้านนายสง่า ดามาพงษ์ เลขานุการคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในอนาคตอาจจะมีการนำนวัตกรรมทั้ง 2 ชิ้น มาใช้งานจริง ด้วยการให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นำไปใช้ในชุมชนทั่วประเทศ โดยใช้เป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่อโรคไต และผู้ที่รับอาหารที่มีความเค็มมาก เพราะจะช่วยลดปริมาณการบริโภคอาหารรสเค็มของคนไทยได้ และหากลดอาหารเค็มได้จะลดความเสี่ยงป่วยเป็นโรคไต หรือความดันโลหิตสูงได้ด้วย


 


 


      ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน 

Shares:
QR Code :
QR Code