ชุดตรวจออทิสติกเด็กอ่อนกว่า12เดือนเครื่องแรกของไทย

ที่มา: เว็บไซต์เดลินิวส์


ชุดตรวจออทิสติกเด็กอ่อนกว่า12เดือนเครื่องแรกของไทย thaihealth


แฟ้มภาพ


          สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ พัฒนาชุดตรวจออทิสติก ในเด็กอ่อนกว่า 12 เดือน เครื่องแรกของไทย ช่วยกระตุ้นพัฒนาพัฒนาการ เตรียมโชว์ในเวทีวิชาการระดับโลก


          นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคออทิสติกพบมากในอันดับต้นๆ ของเด็กไทย เกิดจากความผิดปกติการทำงานของสมองตั้งแต่กำเนิด มีพัฒนาการบกพร่องทางด้านภาษา และพฤติกรรม ทั้งนี้จากสำรวจปี2558 พบเด็กอายุ 0-5 ปีมีอัตราป่วย 6 ต่อ 1,000 คน เพิ่มขึ้น 6 เท่าในรอบ 11 ปี คาดว่าทั่วประเทศมีผู้ป่วยประมาณ 4 แสนคน รายใหม่ปีละประมาณ 5 พันคน เฉลี่ยวันละ 13 คน เข้าถึงบริการรักษาร้อยละ 44 ทั้งนี้ภาวะนี้แม้รักษาไม่หายขาดแต่ช่วยให้ใช้ชีวิตได้ปกติและจะได้ผลดีที่สุดเมื่ออายุต่ำกว่า 3 ขวบ แต่ส่วนใหญ่จะเริ่มหลังอายุ 3 ขวบไปแล้ว


          ล่าสุด สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ ได้พัฒนาทีดาส (Thai Diagnostic Autism Scale :TDAS ) เครื่องมือตรวจวินิจฉัยภาวะออทิสติกได้ตั้งแต่อายุ 12-48 เดือนได้ผลสำเร็จ แม่นยำสูง มาตรฐานเทียบเท่าเครื่องมือระดับนานาชาติ ได้ยื่นจดลิขสิทธิ์แล้ว นับเป็นเครื่องมือวินิจฉัยภาวะออทิสติกเครื่องแรกของไทยที่เตรียมใช้ในปี 2562 มั่นใจว่าจะช่วยเด็กออทิสติกได้รับการรักษาเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังเตรียมนำเสนอในเวทีประชุมออทิสติกโลก ที่ประเทศอังกฤษในวันที่ 27-28 ก.ย.นี้ด้วย


          พญ.กาญจนา คูณรังษีสมบูรณ์ รักษาการ ผอ.สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เด็กออทิสติร้อยละ 50 จะไม่สามารถพูดสื่อสารได้ ร้อยละ 50 จะมีไอคิวต่ำ โดยในช่วงขวบปีแรกเด็กมักจะไม่สบตา เรียกชื่อก็ไม่หันมอง ไม่ยิ้มตอบ ไม่หัวเราะ ไม่ชอบให้อุ้ม ไม่มีท่าทีเรียกร้องความสนใจ ไม่มีภาษาท่าทางเพื่อการสื่อสาร เช่นการชี้นิ้วบอกความต้องการ ค่อนข้างเงียบ ไม่ส่ง อาการผิดปกติจะเริ่มเห็นชัดขึ้นในขวบปีที่ 2 เด็กจะพูดเป็นคำๆ ไม่ได้ และพูดภาษาต่างดาวที่ไม่มีความหมายหรือเรียกว่าภาษาจากอน (Jagon) เข้าใจคนเดียว สำหรับเครื่องมือทีดาส จะใช้ในระดับโรพ.ศูนย์ รพ.เฉพาะทาง เพื่อประเมินพฤติกรรมร่วมกับการพิจารณาของแพทย์ หากพบว่ามีพัฒนาการล่าช้าผิดปกติจะมีทีมสหวิชาชีพเข้ามาแก้ไข ฟื้นฟูก่อน 3 ขวบซึ่งสมองกำลังพัฒนาก็จะได้รับการกระตุ้นกลับมาทำงานได้ดีขึ้น ความบกพร่องต่างๆ น้อยลง ไอคิวเพิ่มขึ้น


          ด้าน พญ.ดวงกมล ตั้งวิริยะไพบูลย์ กุมารแพทย์เชี่ยวชาญประจำสถาบันพัฒนาการเด็กฯ กล่าวว่า ชุดเครื่องมือตรวจวินิจฉัย ประกอบด้วย ของเล่นกระตุ้นประสาทสัมผัสของเด็ก 12 รายการ ได้แก่รถยนต์ ลูกบอล หุ่นรูปสัตว์ บล็อกไม้ โทรศัพท์ของเล่น ตุ๊กตาเด็ก ของเล่นเสริมทักษะพัฒนาการ 5 ด้านคือการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กหยิบจับ พัฒนาการภาษา การมอง การใช้มือและการได้ยิน พัดลมตั้งโต้ะจิ๋ว กล่องใส ชุดเป่าฟองสบู่ ชุดเครื่องครัวและอาหารจำลอง และผ้าสี่เหลี่ยม รวม 47 ชิ้น ต้นทุน 10,500 บาท การใช้ต้องใช้ 2 ส่วนประกอบกัน 1.สัมภาษณ์ผู้ปกครองครอบคลุมความบกพร่องในการสื่อสารปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของเด็กในหลายๆ สถานการณ์ และด้านพฤติกรรมความสนใจของเด็ก และ2.การสังเกตพฤติกรรม เด็กขณะเล่นชุดเครื่องมือใน 6 กิจกรรม คือ1.การเล่นอิสระ 2.การเรียกชื่อ 3.เก็บของเล่นใส่กล่อง 4.เป่าฟองสบู่ 5. ทำอาหาร 6.จ๊ะเอ๋ และปูไต่ ใช้เวลาประมาณ 45 นาที.


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code