ชี้ SMS ชิงรางวัล เข้าข่ายพนัน เผยเยาวชนตกเป็นเหยื่อโดยตรง
วงเสวนา แฉ sms ชิงรางวัล เข้าข่ายการพนัน ดูดเงินประชาชน ชี้90%ไม่เคยได้รางวัล แต่รายการทีวี-ค่ายมือถือ รวยอื้อฟันกำไรหลายหมื่นล้านต่อปี เพราะแหกกฎ-ไร้การตรวจสอบ เผยเยาวชนตกเป็นเหยื่อโดยตรง ถูกกระตุ้นให้ติด-เสี่ยงโชคตั้งแต่เด็ก ยอมควักค่าขนม 1,500 บาทต่อเดือน แนะออกกฎหมายควบคุม กำหนดอายุผู้เข้าร่วมเสี่ยงโชค พร้อมเสนอพรรคการเมืองกำหนดเป็นนโยบายหาเสียง
วันที่ 26 พ.ค.54 ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ในงานเสวนา “แนวทางการปกป้องเด็กและเยาวชนจากสถานการณ์การเสี่ยงโชคผ่านข้อความสั้นทางโทรศัพท์มือถือ (sms)” จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
โดย น.ส.จุฑิมาศ สุกใส นักวิจัยโครงการการสำรวจสถานการณ์การเสี่ยงโชคผ่านข้อความสั้นทางโทรศัพท์มือถือ (sms) กล่าวว่า การเสี่ยงโชคผ่าน sms ถือว่าเป็นสิ่งที่ใช้ทดแทนการพนัน ซึ่งพบว่า ผู้ประกอบการจะหาทางใช้วิธีนำเสนอการเสี่ยงโชค ในรูปแบบต่างๆ เช่น การเล่นเกมทางทีวี โดยการตอบคำถามชิงรางวัลทาง sms หรือการดาว์นโหลดเพื่อลุ้นรางวัล รวมไปถึงรายการข่าว ละคร รายการกีฬา ทางสถานีโทรทัศน์ ช่องต่างๆ ที่ให้ผู้ชมร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อแลกรับของรางวัล ส่ง sms เสียค่าใช้จ่ายครั้งละ 6 บาท และ 3 บาท ทั้งหมดล้วนเข้าข่ายการพนันทั้งสิ้น
อีกทั้งการเสี่ยงโชคทาง sms เป็นช่องทางที่เช้าถึงง่าย ติดง่าย แต่ตรวจสอบและป้องกันยาก ทำให้บริโภคได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายเกินจำเป็น โดยเฉพาะเด็ก เยาวชนจะเกิดการเสพติดในการเสี่ยงโชค ติดการพนันตั้งแต่เด็ก หรือเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ติดการพนันในอนาคต
น.ส.จุฑิมาศ กล่าวว่า การเสี่ยงโชคทางโทรศัพท์มือถือ ที่ส่งข้อความให้ผู้บริโภคร่วมสนุกชิงรางวัลทาง sms พบว่า ผู้ให้บริการหลายราย ให้ข้อมูลไม่เพียงพอ เช่น แจ้งว่าข้อความละ 6 บาท แต่ไม่แจ้งโดยเปิดเผยว่าต้องเสียค่าบริการทั้งรับและส่งข้อความ หรือการส่งลิ้งค์ให้ดาวน์โหลดเนื้อหา ทำให้เสียค่าอินเทอร์เน็ตบนมือถือ และค่าดาว์นโหลด ใช้ข้อความจูงใจให้สมัครบริการที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงของบริการที่เสนอขาย ล้วนเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคทั้งสิ้น
แนวทางแก้ปัญหาควรควบคุมเนื้อหาด้านการเสี่ยงโชคโดยตรง กำหนดอายุผู้เข้าร่วมเสี่ยงโชค มีคำเตือน มีการขออนุญาตก่อนเปิดให้บริการการประมูลทางโทรศัพท์ sms หรืออินเทอร์เน็ต และควรมีการออกกฎหมายเพื่อให้ผู้รับ ยินยอมก่อนรับข้อความ ผนวกเข้าในกฎหมายที่ควบคุมการพนัน
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) กล่าวว่า ช่องทางตรวจสอบถือว่าทำได้ยาก เนื่องจากผู้ใช้ระบบโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่เป็นแบบเติมเงิน หากเป็นเด็กและเยาวชนที่ส่ง sms เข้าข่ายการพนัน แต่ผู้ปกครองก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ ต้องเสียเงินและมักไม่ได้รับของรางวัล อีกทั้งปัจจุบันมีรายการโทรทัศน์ วิทยุ ที่จัดรายการชิงโชคของรางวัล เข้าข่ายผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก เช่น รายการเล่าข่าวที่ให้ผู้ชมร่วมสนุกตอบคำถาม ซึ่งที่ผ่านมามีการร้องเรียนจากประชาชน
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว ต้องมีการขออนุญาตกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ตามพ.ร.บ.การพนัน และแม้จะได้รับใบอนุญาตแล้วจะต้องมีการประกาศข้อความบนหน้าจอโทรทัศน์ว่าได้รับอนุญาตและมีเลขทะเบียนตามกฎหมาย แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีรายการใดปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้มงวดเรื่องการบังคับใช้กฎหมายมากกว่านี้ โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่กำลังหาเสียง ควรมีการกำหนดเป็นนโยบาย ว่ามีแผนจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร
นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) มีหน้าที่ดูแลผู้ประกอบการที่ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือต่างๆ ไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งหากพบว่าค่ายมือถือต่างๆ ร่วมกับผู้จัดรายการโทรทัศน์ หรือ วิทยุ ฯลฯ ที่มีลักษณะเข้าข่ายการพนัน เอาเปรียบผู้บริโภคก็สามารถดำเนินการ ตักเตือน หรือสั่งระงับการดำเนินการได้
สำหรับรายการโทรทัศน์ที่จัดรายการส่ง sms ชิงรางวัล เข้าข่ายการพนัน จะต้องได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.การพนัน โดยต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ที่กำหนดไว้ตั้งแต่ หลักเกณฑ์ของการชิงโชค ระยะเวลาเปิดรับและสิ้นสุด ซึ่งจะต้องมีการระบุเป็นภาพและเสียงไว้อย่างชัดเจน
“ยังมีสื่ออีกจำนวนมากที่ไม่ได้ขออนุญาต โดยเฉพาะการพนันตามอินเตอร์เน็ต และพบว่ารายได้จากการให้ส่ง sms ชิงโชค สามารถสร้างกำไรให้กับผู้ประกอบการและค่ายมือถือต่างๆได้หลายหมื่นล้านบาทต่อปี ขณะที่การตรวจสอบควบคุมทำได้ยาก ขาดกลไกในการเฝ้าระวังป้องกัน ดังนั้น หากพบว่ามีกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย หลอกลวงผู้บริโภคให้แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินคดีต่อไป” นายไพศาล กล่าว
ด้าน นายอัมมัน โอชา นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรังสิต ชั้นปีที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการเสี่ยงโชคทาง sms กล่าวว่า ตั้งแต่อายุ 9 ขวบตนก็เริ่มเล่นเสี่ยงโชคผ่านทางsms และเลิกเล่นเมื่ออายุ 17 ปี โดยเริ่มจากการอยากรู้อยากลอง มีเวลาว่างจากการเรียน ที่สำคัญรางวัลที่นำมาล่อตาล่อใจก็เป็นสิ่งที่อยากได้ ซึ่งตอนแรกไม่ได้คิดว่าการเสี่ยงโชคแบบนี้จะทำให้ติด แต่เมื่อมีผลกระทบเกิดขึ้นกับตัวเอง เช่น หงุดหงิด โมโห อารมณ์ฉุนเฉียว เพื่อนห้ามไม่ได้ จึงทำให้รู้ว่าเป็นอาการของการติดพนัน ส่วนค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปกับการเล่น จะอยู่ที่วันละ 50 บาท หรือ1,500 บาทต่อเดือน อย่างไรก็ตามอยากฝากไปถึงคนที่เล่นพนันทางsms ให้เลิกเล่น เพราะ90% พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้รางวัลแน่นอน
ที่มา: เว็บไซต์ astv ผู้จัดการออนไลน์