ชี้ 3 ทางออก สอนเด็กดูแลตัวเอง ให้ความสำคัญ “เด็กเรียนใกล้บ้าน” เพื่อลดการสูญเสียจากรถตู้รับ-ส่ง นักเรียน
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
สสส.-นักขับเคลื่อนนโยบายเด็ก แนะ ป้องกันเด็กเสียชีวิตในรถตู้โรงเรียนทำได้ รัฐ-อปถ. ต้องให้ความสำคัญ “เด็กเรียนใกล้บ้าน” ลดเสี่ยง ลดตาย ชี้ 3 ทางออก สอนเด็กดูแลตัวเอง – ครูเช็กให้ชัวร์ – คนขับตรวจสอบซ้ำ หยุดความสูญเสีย
นางสุนีย์ ไชยรส รองคณบดีฝ่ายพัฒนาสังคม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กศูนย์ถ้วนหน้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้าเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กรณีการเด็กนักเรียนอายุ 7 ปี โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรี เสียชีวิตภายในรถรับ-ส่งนักเรียน เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นความสูญเสียที่สังคมต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในเด็ก เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในชีวิตที่ทุกคนควรได้รับตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนเติบโต ทางออกที่จะลดปัญหามี 3 ข้อ ได้แก่ 1.ผู้ปกครองต้องสอนให้ลูกหลานรู้จักเอาตัวรอด พร้อมเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉินในรถเมื่ออยู่เพียงลำพัง เช่น สอนวิธีการปลดล็อก บีบแตร เพื่อขอความช่วยเหลือ 2.ครูที่ประจำรถรับ-ส่ง ต้องเช็กชื่อเด็กทั้งก่อนและหลังขึ้น-ลงรถทุกครั้ง อีกวิธีคือคุณครูในชั้นเรียน ต้องสังเกตว่าเด็กคนไหนหายไป หรือถามไถ่จากเพื่อนๆ ว่าลาหรือไม่ 3.คนขับรถ ต้องช่วยตรวจสอบความเรียบร้อยหลังรับ-ส่งเด็กทุกครั้ง เพื่อทำให้มาตรฐานป้องกันความปลอดภัยที่รัดกุม
นางสุนีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์นี้ควรเป็นบทเรียนที่ทำให้ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เห็นความสำคัญกับคำว่า “เด็กเรียนใกล้บ้าน” เพื่อลดภาระและความเสี่ยงจากการเดินทาง ที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย ผลักดัน ขับเคลื่อนนโยบาย และส่งเสริมให้เกิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนที่ใกล้บ้าน มีคุณภาพและมาตรฐานเรื่องหลักสูตรการศึกษา ค่าเทอมราคาเหมาะสม ผู้ปกครองไปรับ-ส่งเองได้ หรือมีกระบวนการช่วยเช็กความปลอดภัยที่รัดกุม กรณีที่ต้องให้เด็กขึ้นรถโรงเรียน หากทำเช่นนี้ได้เชื่อว่าจะลดภาระเสี่ยงทางสุขภาวะ เช่น รถติด เครียด เหนื่อยล้าจากการเดินทางใกล้ และยังช่วยลดสถานการณ์เด็กเสียชีวิตภายในรถตู้รับ-ส่งนักเรียน หรือเกิดอุบัติเหตุระหว่างเดินทางไปเรียนหนังสือได้
“ปัญหาเด็กเสียชีวิตในรถตู้โรงเรียนไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรก มันเกิดขึ้นซ้ำซาก ทางออกระยะยาว ขอเสนอให้ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำสวัสดิการที่ครอบคลุมเพื่อเด็กทุกกลุ่ม ทุกคนอย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะการทำศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็กมีคุณภาพและได้มาตรฐาน ทั้งการดูแลและการเรียนการสอน เพื่อทำให้ผู้ปกครองไว้ใจส่งเด็กเข้าไปอยู่ในความดูแล หากทำให้เกิดขึ้นได้ เด็กได้อยู่ใกล้บ้าน เชื่อว่าจะลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในชีวิตของเด็กได้” นางสุนีย์ กล่าว