ชี้ รถร่วมเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าบขส.
ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เผย อัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน พบว่า รถร่วมมีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าบขส. แนะรัฐปรับเกณฑ์ปลอดภัย
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารนั้น พบประเด็นที่น่าสนใจ คือ ปัจจุบันรถโดยสารจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ รถโดยสารประจำทาง ของ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ภายใต้การกำกับของกระทรวงคมนาคม และรถโดยสารร่วมบริการ ซึ่งเกิดจากจำนวนรถบริการที่ไม่เพียงพอ โดยทั้งระบบจะมีรถโดยสารประมาณ 4,000 คัน เป็นรถของ บขส. ประมาณ 800 คันเท่านั้น ซึ่งพบว่า มาตรฐานของรถทั้งสองประเภทแตกต่างกันมาก
โดยเฉพาะเรื่องการควบคุมความปลอดภัย ตัวรถ การควบคุมระบบความปลอดภัยในตัวคนขับ เช่น การตรวจหาระดับแอลกอฮอล์ การพักผ่อนของคนขับ การให้แรงจูงใจต่างๆ พบว่า ในกลุ่มรถของบขส.มีมากกว่า ทำให้รถร่วมบริการโดยเฉพาะรายเล็กยังน่าเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย
“การเกิดอุบัติเหตุจำนวนมากที่เกิดในกลุ่มรถร่วมบริการ ต้องหาสาเหตุว่ามีความรุนแรงเกิดจากอะไรบ้าง จากตัวรถ ตัวคนขับอย่างไร เพราะทั้งสองอย่างจะต้องสร้างมาตรฐานควบคู่กันไป เพื่อลดความเสี่ยงอุบัติเหตุที่รุนแรง เช่น การกระเด็นออกนอกตัวรถ ทำให้เสียชีวิตได้มาก เพื่อนำไปสู่การยกระดับมาตรฐาน ป้องกันความรุนแรงจากอุบัติเหตุในอนาคต” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับกฎหมายเพื่อควบคุมมาตรฐานของรถบริการสาธารณะปัจจุบัน แม้จะมีกฎหมายแต่พบว่ายังมีอีกหลายส่วนที่ไม่มีการควบคุมคุณภาพมาตรฐาน เช่น ความสูงของรถโดยสาร 2 ชั้น แม้ว่าจะมีกฎหมายควบคุม แต่พบว่ายังไม่มีการตรวจสอบหรือทดสอบ เช่น นำรถเอียง 30 องศา เพื่อดูสมรรถนะของรถ ป้องกันปัญหาพลิกคว่ำ ซึ่งปัจจุบันรถร่วมบริการหลายบริษัทใช้วิธีนำรถจากต่างประเทศเข้ามาต่อเติมหรือประกอบเพิ่ม ทำให้มีปัญหามาตรฐานความปลอดภัย จึงจำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อความปลอดภัยสำหรับประชาชน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด