ชี้เน้นรณรงค์แต่ผู้ชายทำ สาวอมควันเพิ่ม

สสส.เผยเด็กหญิงหัดพ่นควันครั้งแรกไม่ถึง 12 ขวบ

 ชี้เน้นรณรงค์แต่ผู้ชายทำ สาวอมควันเพิ่ม

          สาวไทย น่าห่วง กลายเป็นสิงห์อมควันเพิ่ม เหตุค่านิยมผิดๆ เชื่อสูบแล้วสังคมยอมรับ ตะลึง หัดพ่นควันครั้งแรกไม่ถึง 12 ขวบ เท่าผู้ชาย อ้างคลายเครียด แถมสูบโชว์พ่อแม่ เผยบริษัทบุหรี่ ทุ่มงบศึกษา ทำมวนเล็กเรียว รสผลไม้ หลอก ผศ.ดร.วิลาสินี ชี้เน้นรณรงค์แต่ผู้ชายทำ สาวอมควันเพิ่ม ศจย.เตรียมระดมสมองนักวิชาการ นักวิจัย ในงาน ประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7

 

          วานนี้(3 สิงหาคม) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รศ.ธราดล เก่งการพานิช ภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการศึกษาสถานการณ์การสูบบุหรี่ของวัยรุ่นหญิงในประเทศไทย โดยการสำรวจกลุ่มตัวอย่างในนักเรียนหญิงในระดับ มัธยมต้น ปลาย และ อุดมศึกษา จำนวน 3,093 คน แบ่งเป็น กทม.- ปริมณฑล และต่างจังหวัด ทั่วประเทศ พบว่า มีวัยรุ่นหัดสูบบุหรี่ครั้ง แรกมีอายุต่ำกว่า 12 ปี ร้อยละ 10.2 สูบอายุระหว่าง 12-13 ปี ร้อยละ 21.2 ในจำนวนนี้ต้องสูบทุกวันหรือเกือบทุกวัน ร้อยละ 42.1 เกือบทุกวัน โดยสูบมากกว่า 5 ม้วนต่อวัน ร้อยละ 33.4 ขณะที่ผู้ชายสูบในช่วงอายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่ถึงร้อยละ 10 และจำนวนการสูบใกล้เคียงกันคือ ผู้ชายสูบมากกว่า 5 มวนต่อวัน อยู่ที่ร้อยละ 40

 

          ที่น่าตกใจคือ มีวันรุ่นจำนวนมากที่ยอมรับว่าเคยสูบบุหรี่ต่อหน้าพ่อ แม่ หรือพ่อ แม่สูบบุหรี่ด้วย มากถึง ร้อยละ 18.8 และสูบพร้อมกับเพื่อน ร้อยละ 89.3 วัยรุ่นส่วนใหญ่จะซื้อบุหรี่มาสูบเอง ร้อยละ53.8 โดยซื้อบุหรี่จากร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อ มากที่สุด คือ ร้อยละ 68.1 ขณะที่วัยรุ่นหญิงร้อยละ 70.5 เห็นว่าบุหรี่ที่สูบได้มาง่ายมากรศ.ธราดล กล่าว

 

          รศ.ธราดล กล่าวว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 6.4 เคยสูบในช่วง 30 วันที่ผ่านมา และร้อยละ 5.8 เคยสูบในช่วง 7 วันที่ผ่านมา นักเรียนหญิงในระดับอุดมศึกษา และในเขตเมือง จะสูบมากกว่าชนบท ส่วนสถานที่ที่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่เป็นที่บ้าน หรือบ้านเพื่อน มากถึง ร้อยละ 49.2 สูบในโรงเรียน หรือสถาบัน ร้อยละ 13.7ส่วนเหตุผลที่สูบเพื่อลดความเครียด และผ่อนคลาย ร้อยละ 48.2 ตามเพื่อน ร้อยละ 32 ขณะที่ในกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 39.6 มีแผนจะเลิกบุหรี่ในอนาคต ปัจจัยที่ทำให้วัยรุ่นหญิงหันมาสูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้นคือ มีเพื่อนสนิทสูบบุหรี่ 1-5 คน มีทัศนคติเชิงบวกต่อการสูบบุหรี่โดยเชื่อว่าการสูบบุหรี่เป็นสัญลักษณ์ของคนสมัยใหม่ และสูบบุหรี่เพื่อสังป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อนด้วยกัน

 

          นายสถาพร จิรัตนานนท์ มูลนิธิณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า การสูบบุหรี่ของวัยรุ่นหญิงกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญที่ขยายตัวไปทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนากลุ่มนักสูบหน้าใหม่ที่เป็นผู้หญิงจะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการเจริญเติบโตของประชากรที่จะมีสัดส่วนผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าในอีก 16 ปีข้างหน้า คือในปี พ.ศ. 2568 จำนวนผู้หญิงในประเทศกำลังพัฒนาจะเพิ่มจาก 2.1 พันล้านคนในปัจจุบัน เป็น 3.5 พันล้านคน และในจำนวนนี้ป็นผู้หญิงที่สูบบุหรี่มากถึง ร้อยละ 20 หรือประมาณ 700 ล้านคน ขณะที่สถิติการสูบบุหรี่ของผู้หญิงทั่วโลกเมื่อปี 2544 มีเพียง ร้อยละ 3 ของประชากรทั่วโลก หรือประมาณ 200 ล้านคนเท่านั้น

 

          ผู้หญิงในแถบเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา น่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายในการทำการตลาดของบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ พบว่า บริษัทบุหรี่ทุ่มงบประมาณมหาศาลศึกษาความต้องการของผู้หญิงเพื่อผลิตบุหรี่ที่มีรูปลักษณ์ รสชาติ ตรงตามความต้องการของผู้หญิงให้มากที่สุด เช่น ม้วนบุหรี่เล็ก เรียวยาว แสดงถึงหุ่นของผู้หญิงที่มีรูปร่างผอม เพรียว หรือรสชาติอ่อนละมุน กลิ่นผลไม้ ดอกไม้ เป็นต้นนายสถาพร กล่าว

 

          ด้าน ผศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในกลุ่มผู้หญิงยังไม่เข้มแข็งมากนักเพราะพุ่งเป้าการรณรงค์ไปที่กลุ่มนักสูบผู้ชาย การระดมความคิด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทำงานทางวิชาการ งานวิจัยใหม่ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาและทางออกร่วมกัน

 

          ศ.เกียรติคุณ แพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า จากศูนย์ข้อมูลข่าวสารเวชภัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข มีข้อมูลว่าในขณะนี้มีประชากรไทยสูบบุหรี่สูบบุหรี่ปีละ 11.03 ล้านคน ซึ่งการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเสียชีวิตของคนไทยเป็นอันดับที่ 3 รองจากเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยและการดื่มสุรา มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคที่มีสาเหตุจากการสูบบุหรี่ เช่น โรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจและหลอดเลือด ปีละ 42,000-52,000 คน รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาปีละ 51,569 ล้านบาท ซึ่งผู้ที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่โดยเฉลี่ยจะอายุสั้นลง 12 ปี และป่วยหนักเป็นเวลา 1.7 ปี ก่อนเสียชีวิต ดังนั้น การดำเนินการเพื่อให้สังคมไทยปลอดบุหรี่ จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก

 

          ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมียาที่ช่วยรักษาภาวะติดบุหรี่บรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว คือยา nortriptyline ซึ่งมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าช่วยเลิกบุหรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัด ราคาเฉลี่ยเม็ดละ 1 บาทและการรักษาผู้สูบบุหรี่ 1 คนใช้ยาประมาณ 270 เม็ด เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องเสียไปในการรักษาผู้ป่วยในโรคที่มีสาเหตุหลักจากการสูบบุหรี่ถือว่าคุ้มค่ากว่าซึ่งสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ครอบคลุมเรื่องการรักษาภาวะติดบุหรี่ได้ สอบถามเพิ่มเติมสายด่วนบัตรทอง 1330 ตลอดเวลา

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน

 

 

update : 04-08-51

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code