ชี้เตียง 2 ชั้นต้นตออุบัติเหตุในเด็กและวัยรุ่น
อัตราการบาดเจ็บในวัยรุ่น 18 ถึง 21 ปี สูงเกือบ 2 เท่าของเด็กโต
นิตยสารฟอร์บฉบับออนไลน์รายงานผลการวิจัยอันใหม่ที่ศึกษาพบว่าการใช้เตียง 2 ชั้นนั้นไม่เพียงแต่จะมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บในเด็กเล็ก ๆ เท่านั้นแต่ยังพบด้วยว่าแม้แต่ในเด็กโตจนเป็นวัยรุ่นแล้วก็ยังสมารถเกิดการบาดเจ็บได้เยอะมาก
การวิจัยนี้พบว่า 3 ใน 4 ของเด็กที่ได้รับบาดเจ็บอันเกี่ยวเนื่องกับการใช้เตียง 2 ชั้นนั้นเป็นเด็กที่มีอายุ 10 ขวบหรืออายุน้อยกว่านั้น แต่ที่ข้อมูลที่ค่อนข้างจะน่าแปลกใจมากกว่านั้นคืออัตราการเกิดการบาดเจ็บที่เพิ่มสูงขึ้นในผู้ใช้เตียง 2 ชั้นที่มีอายุตั้งแต่ 18 ถึง 21 ปี
ทั้งนี้เป็นการวิจัยที่ทำขึ้นมาโดยศูนย์เพื่อการวิจัยและนโยบายเรื่องการบาดเจ็บ ร่วมกับสถาบันวิจัยของโรงพยาบาลเด็กในเมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ การวิจัยนี้ระบุว่ามีจำนวนครั้งของอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการใช้เตียง 2 ชั้นเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 36,000 ครั้งในประเทศสหรัฐฯ
ข้อมูลและผลการวิจัยนี้เป็นผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังเป็นเวลา 16 ปีและผลการวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารด้านกุมารเวชศาสตร์ชื่อ pediatrics ฉบับประจำเดือนมิถุนายนนี้
“ทุกคนต้องการความรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงเวลาพักผ่อนนอนหลับ แต่ว่าเตียง 2 ชั้นนั้นถือว่าเป็นแหล่งของการเกิดการบาดเจ็บทั้งในเด็ก ๆ และวัยรุ่นหนุ่มสาวที่พบได้ค่อนข้างบ่อย” คุณลาร่า แมคเคนซีหัวหน้าทีมนักวิจัยจากศูนย์เพื่อการวิจัยและนโยบายเรื่องการบาดเจ็บกล่าว
การวิจัยนี้ระบุด้วยว่าเด็กวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 21 ปี เกิดการบาดเจ็บจากการใช้เตียง 2 ชั้นในอัตราที่สูงเกือบเป็น 2 เท่าของเด็กอายุ 14 ถึง 17 ปี และนักวิจัยวิเคราะห์ว่าสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นน่าจะเป็นเพราะว่าเด็กกลุ่มแรกใช้เตียง 2 ชั้นในอัตราที่ค่อนข้างมากทั้งที่หอพักในมหาวิทยาลัย และในเรือนนอนของทหาร
นอกจากนี้แล้วโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บจากการใช้เตียง 2 ชั้นที่ดูเหมือนว่าจะยิ่งสูงขึ้นในคนที่มีอายุมากขึ้นนั้นอาจเป็นไปได้ว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับขนาดตัวและส่วนสูงที่เพิ่มขึ้นก็เป็นได้
สำหรับการบาดเจ็บที่พบได้บ่อย ๆ จากการตกเตียง 2 ชั้นในคนทุกอายุได้แก่ แผลแตก แผลฟกช้ำ แผลฉีกขาด และกระดูกแตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วกระดูกแตกซึ่งพบว่าเป็นลักษณะการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยที่สุดเป็นอันดับ 3 ในบรรดาการบาดเจ็บประเภทต่าง ๆ ที่เกิดจากการตกเตียง 2 ชั้น พบว่าเป็นสาเหตุให้ต้องส่งโรงพยาบาลและส่งต่อไปยังแผนกผู้ป่วยหนักมากกว่าการบาดเจ็บประเภทอื่นถึง 6 เท่าตัว
ทั้งนี้นักวิจัยได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองและคนที่จำเป็นจะต้องใช้เตียง 2 ชั้นเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บไว้ดังนี้ 1.ให้ทำราวตรงเตียงชั้นบนทั้ง 2 ด้านและต้องใช้ลูกกรงที่ความห่างอย่างมากไม่เกิด 3.5 นิ้วเพื่อป้องกันอวัยวะร่างกายเข้าไปติดในนั้น 2. ใช้ขนาดเบาะปูนอนที่เหมาะสมและมีความปลอดภัยตามมาตรฐาน
3. อย่าให้เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีขึ้นไปนอนชั้นบน 4. ให้ใช้ไฟกลางคืนหรือ ไนท์ไลท์เพื่อช่วยเด็กในการมองเห็น 5.เอาของที่อาจก่ออันตรายออกจากบริเวณรอบ ๆ เตียง 2 ชั้นให้หมด 6. วางเตียง 2 ชั้นให้ห่างจากพัดลมหรือสิ่งที่ยึดติดกับเพดาน
ที่มา : สำนักข่าวต่างประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
update 03-06-51