ชี้ผลวิจัย ยุงลายถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้-ใต้ติดเชื้อสูงสุด

“กรมวิทย์-จุฬาฯ” วิจัยพบ ยุงลายถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก ไม่จำเป็นต้องไปนำเชื้อจากผู้ป่วย แนะป้องกันตัวเองไม่ให้ยุงกัด นอกจากนี้ยังพบว่า พบว่า สารออกฤทธิ์ที่ดีที่สุดในช่วงการระบาด คือ ดีท หรือไดเอททิล ทูลูอาไมล์ ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ที่องค์การอนามัยโลก แนะนำให้ใช้ป้องกันโรคที่นำโดยแมลง โดยใช้ได้ในเด็กที่อายุเกิน 4 ขวบ เพราะเด็กเล็กทาแล้วจะรู้สึกร้อนที่ผิว

วันนี้ (13  มี.ค.) นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย  อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  กล่าวว่า  จากผลงานวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าทุกภาคของประเทศไทย ยุงที่ติดเชื้อไข้เลือดออก มีทั้งยุงลายบ้านและยุงลายสวน โดยเฉพาะภาคใต้ยุงติดเชื้อสูงสุด โดยอัตราการติดเชื้อในยุงลายบ้าน 38 % และยุงลายสวน 24 % แหล่งเพาะพันธุ์สำคัญคือวัสดุเหลือทิ้งที่ขังน้ำฝน อยู่นอกชายคาบ้านซึ่งยากที่จะควบคุม และผลงานวิจัยยังพบอีกว่า ยุงลายมีการถ่ายทอดเชื้อจากแม่ยุงไปสู่ลูกได้ในสภาพธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องไปนำเชื้อจากผู้ป่วย

นพ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า  สิ่งที่จำเป็นที่สุดขณะนี้ คือการป้องกันตัวเองและคนในครอบครัว ไม่ให้ยุงกัดโดยใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงที่มีประสิทธิภาพดี ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีห้องปฏิบัติการมาตรฐานสำหรับตรวจประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ป้องกันการกัดของยุง พบว่า สารออกฤทธิ์ที่ดีที่สุดในช่วงการระบาด คือ ดีท หรือไดเอททิล ทูลูอาไมล์ ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ที่องค์การอนามัยโลก แนะนำให้ใช้ป้องกันโรคที่นำโดยแมลง โดยใช้ได้ในเด็กที่อายุเกิน 4 ขวบ เพราะเด็กเล็กทาแล้วจะรู้สึกร้อนที่ผิว

สำหรับเด็กเล็กให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารออกฤทธิ์ชนิดไออาร์ซึ่งป้องกันยุงได้ดีเช่นกัน แต่ให้ระวังอย่าใช้ผลิตภัณฑ์ที่เก็บไว้เป็นเวลานานหลังจากผลิตเพราะความคงทนสู้ดีทไม่ได้ เนื่องจากเป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบสารจากธรรมชาติที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ใช้ในเด็กตั้งแต่ 6 เดือนได้

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code