ชี้ครัวไทยส่วนใหญ่ทำบุญร่มกันเดือนละ 1 ครั้ง
โธ่ เหตุผลคนพุทธอ้าง “ไม่สะดวก”
แถมพิษข่าวฉาวเหลือบผ้าเหลือง ทำเกือบ ร้อยละ 40 สิ้นศรัทธาพระสงฆ์ 6 ใน 100 คน ไม่อยากนับถือศานาแล้ว พบ “แม่” คือแกนนำพาสมาชิกในบ้านเข้าวัด ชื่นใจวันวิสาขบูชาพุทธศาสนิกชนร้อยละ 40 ตั้งใจใส่บาตรร้อยละ 30 เตรียมเวียนเทียน “พระ” ชี้ ปัญหาสังคมเกิด เพราะครอบครัวไร้ธรรมะแนะยึด “ฆราวาสธรรม 4” เตือนอย่าปล่อยลูกไว้หน้าทีวี
ที่บ้านอารีย์ “เครือข่ายครอบครัว” จัดแถลงข่าว “นำธรรมะมานำครอบครัว” โดย นายสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ คณะกรรมการบริการแผนเรียนรู้สู่สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการสำรวจ family poll โดยมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ในหัวข้อ “ธรรมะกับครอบครัวไทย ห่างไกลหรือใกล้กัน” เมื่อวันที่ 7 – 12 พ.ค. ในกลุ่มตัวอย่าง 466 คน เขตกทม. พบครอบครัวไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 51 เป็นครอบครัวเล็กมีสมาชิก 3 – 4 คน กิจกรรมทางศาสนาที่ทำร่วมกันมากที่สุดคือ ตักบาตรร้อยละ 57.5 มีโอกาสฟังธรรม / เทศน์ เพียงร้อยละ 8.2 เท่านั้น นั่งวิปัสสนาร้อยละ 3.2
“ความถี่ของการทำกิจกรรทางศาสนาร่วมกันมากที่สุดร้อยละ 42.7 คือเดือนละครั้งเดียว รองลงมือร้อยละ 30.3 แล้วแต่โอกาสร้อยละ 11.2 ทำ 3 เดือนครั้ง ร้อยละ 8.8 ทำ 6 เดือนครั้ง อีก ร้อยละ 7.1 ทำปีละครั้ง เหตุผลที่อยากทำ 3 ข้อแรก คือ 1. ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน 2. ให้จิตใจสงบฝึกสติ 3. อยากให้ลูกหลานศึกษาธรรมะ เหตุผลที่ไม่อยากทำ 3 ข้อแรก คือ 1. ไม่สะดวก 2. เหตุผลอื่น ๆ เช่น เห็นข่าวไม่ดีเกี่ยวกับพระ จึงทำให้ไม่เลื่อมใส ไม่มีความคิดจะทำ ว่างไม่ตรงกัน 3. หาสถานที่ลำบาก เมื่อถามว่าเห็นข่าวไม่ดีเกี่ยวกับพระ / ศาสนา รู้สึกอย่างไร เกือบร้อยละ 40 บอกไม่ศรัทธาพระแต่ยังเชื่อในพระธรรมคำสอน ร้อยละ 38.6 ยังศรัทธาเหมือนเดิม ร้อยละ 5.8 ตอบว่าม่ศรัทธาแล้ว” นายสุรินทร์กล่าว
นายสุรินทร์ กล่าวอีกว่า หลักธรรมที่ใช้มากที่สุดในครอบครัวคือ ศีลห้า พรหมวิหาร 4 และอริยสัจ 4 ซึ่ง แม่ คือผู้นำให้ครอบครัวทำกิจกรรมทางศาสนามากที่สุด ตามด้วยพ่อ และปู่ย่าตายาย ทั้งนี้น่ายินดีว่า มีเพียง 5 ใน 100 ครอบครัวเท่านั้น ที่ไม่คิดจะทำกิจกรรมใดในวันวิสาขบูชา แต่ส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 40 จะทำบุญตักบาตร เกือบร้อยละ 30 จะไปเวียนเทียน ส่วนกิจกรรมที่อยากให้มีในวัดหรือสถานที่เรียนรู้ทางศาสนาคือ 1. มีพระมาบรรยายธรรมมะ 2. มีกิจกรรมสำหรับครอบครัว 3. มีห้องสมุดธรรมะให้คนทั่วไปมาศึกษา 4. มีสถานที่ให้นั่งวิปัสสนา
พระอาจารย์ดุษฎี เมธังกุโร เจ้าอาวาสวัดทุ่งไผ่ กล่าวว่า ครอบครัวไทยปัจจุบัน ไม่มีหลักธรรมประจำบ้าน ทำให้ไม่เสียสละ ไม่แบ่งปัน ต่างคนต่างอยู่ จึงเกิดปัญหาสังคมดังทุกวันนี้ หลักธรรมง่าย ๆ ที่จะทำให้ครองเรือนเป็นสุข คือมีสุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนควรมี สุข จากมีทรัพย์ จ่ายทรัพย์ ไม่เป็นหนี้ และการไม่ประพฤติโทษ หมายถึง การหาเงิน ต้องมาจากงานสุจริต ทำด้วยความอดทน ใช้จ่ายสิ่งมีประโยชน์ หลักธรรมอีกข้อที่ควรมีคือ ฆราวาสธรรม 4 หรือ ธรรมสำหรับการครองเรือน 1. สัจจุ คือ ซื่อสัตย์ต่อกัน 2. ทมะ คือ การข่มใจ 3. ขันติ คือ ความอดทน 4. จาคะ คือ เสียสละไม่คับแคบเห็นแก่ตนหรือเอาแต่ใจตัว
พระอาจารย์พระดุษฎี เมธังกุโร กล่าวอีกว่า ครอบครัวส่วนใหญ่ เอาความถูกใจมาก่อนถูกต้อง ใช้เงินเลี้ยงลูกชดเชยความรู้สึกผิดที่ไม่มีเวลาให้ ลูกก็ไม่รู้คุณค่าของเงิน ไม่เคารพ พ่อ แม่ ทุกคนคิดแต่เรียกร้องสิทธิ จนลืมคำว่า หน้าที่ ลูกเรียกร้องให้พ่อแม่เลี้ยงดู พ่อ แม่เรียกร้องให้ลูกดูแลกลับคืน ขาดความเสียสละต่อกัน พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ควรมี พรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา คือ ดูแลเอาใจใส่ลูก ไม่ใช่ให้ลูกอยู่กับทีวี ให้ทีวีสอน พ่อ แม่ มีลักษณะนิสัยอย่างไร ลูกจะเป็นเช่นนั้น
“ความทุกข์จากเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพง น้ำมันขึ้นราคา ไม่ใช่ปัญหาทั้งหมด แต่ปัญหาใหญ่คือคนไม่มีศีลธรรม เมื่อไม่มีธรรมะก็ไม่มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่เกิดสติที่จะเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ การห่างศาสนา ห่างวัด ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ไม่ว่าจะ ไม่สะดวก ไม่มีเวลา พระไม่ดี ล้วนเป็นข้ออ้าง เพราะการเข้าวัด คือ การเสียสละ สร้างความอดทน สร้างบารมี อาจเป็นสิ่งที่ทำยาก แต่ดีกว่าสิ่งใด ๆ ทั้งสิ้น” พระดุษฎีกล่าว
ศ.นพ.คงศักดิ์ ต้นไพจิตร อายุศาสตร์คลินิก มหาวิทยาลัย วอชิงตันดีซี อิน เซ็นหลุยส์ กล่าวว่าธรรมะกับการเรียนรู้ของเด็ก เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กันอย่างยิ่ง เพราะธรรมะทำให้เกิดสติ ความรู้ตัวเมื่อมีสติ ก็พร้อมเรียนรู้ และสามารถพิจารณาได้ว่า สิ่งไหนผิด สิ่งไหนถูก เมื่อแยกแยะได้ ก็จะไม่ยุ่ง เกี่ยวกับอบายมุข ทั้งการพนัน ยาเสพติด การฝึกธรรมะตั้งแต่วัยเด็ก ถือเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อ แม่ ต้องปลูกฝังและเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูก
ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
Update 15-05-51