‘ชีวิตใหม่ ไร้ขยะ’ คนสร้างต้องจัดการเอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
'ชีวิตใหม่ ไร้ขยะ' คนสร้างต้องจัดการเอง ประเทศไทยสร้างปริมาณขยะทางทะเล และขยะมูลฝอย 27.4 ล้านตัน ติดอันดับ 6 ของโลก
ประเทศไทยสร้างปริมาณขยะทางทะเล และขยะมูลฝอย 27.4 ล้านตัน ติดอันดับ 6 ของโลก 1 ใน 5 ของปริมาณขยะทั้งหมดอยู่ในเขตกรุงเทพฯ เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ใช้สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม กลายเป็นปัญหาระดับโลก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความตระหนักต่อสาธารณชนในการจัดการขยะและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดการสร้างขยะ ภายใต้แนวคิด "Go Zero Waste ชีวิตใหม่ ไร้ขยะ" โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดนิทรรศการหมุนเวียน เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึก ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้
ปราณี หวาดเปีย ครูโรงเรียนรุ่งอรุณ ถ่ายทอดประสบการณ์การจัดการขยะในโรงเรียน ว่า ในโรงเรียนมีเด็กและบุคลากรรวมกว่า 1,000 คน ที่ผ่านมาแต่ละคนก็จะทิ้งขยะรวมๆ ในถุงดำแล้วนำไปวางไว้ท้ายโรงเรียนที่เป็นคอกขยะ รอให้หน่วยงานมาเก็บไป แต่พื้นที่ดังกล่าวอยู่ใกล้กับหมู่บ้าน จนวันหนึ่งคุณยายในหมู่บ้านพูดขึ้นว่าโรงเรียนสวยแต่เหม็นมาก เพราะเศษอาหารต่างๆ จะถูกทิ้งรวมกับขยะอื่นๆ ด้วยจึงเน่าเหม็นเป็นแหล่งอาศัยของหนู แมลงสาบ แมลงวันที่ล้วนแต่ก่อโรค บวกกับมีปัญหาปริมาณขยะมากจนล้นที่เก็บ โรงเรียนจึงเริ่มต้นลุกขึ้นมาจัดการขยะตั้งแต่ปี 2547 จากเดิมโรงเรียนมีขยะวันละ 206 กิโลกรัม หลังจากจัดการปัจจุบันมีขยะราว 30 กิโลกรัมต่อวัน
การดำเนินงานของโรงเรียนเริ่มต้นจากการปลูกฝังให้เด็กทุกระดับชั้นตั้งแต่อนุบาล-ประถมศึกษา รู้จักคัดแยกขยะแต่ละประเภท โดยจะแยกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.เศษอาหาร จะนำไปให้กับคนที่เลี้ยงสัตว์ 2.ขยะที่ย่อยสลายได้ง่าย เช่น เปลือกผลไม้ จะนำไปทำปุ๋ยดิน หรือน้ำหมักชีวภาพที่ต่อยอดไปสู่สูตรน้ำยาล้างจาน หรืออื่นๆ 3.รีไซเคิล ซึ่งจะมีถังขยะรองรับ 4-5 ถัง และ 4.ขยะห้องน้ำ และขยะอันตรายต่างๆ ก็จะนำให้ กทม.ไปจัดการต่อ ส่วนที่เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์จะประสานความร่วมมือกับโครงการจุฬาฯ รักษ์โลกเข้ามาดำเนินการ
"หลักการสำคัญของการคัดแยกขยะคือทุกคนต้องตระหนักว่าตนเองเป็นคนสร้างขยะ เพราะฉะนั้นต้องเป็นคนจัดการเอง โดยการเปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากร ก่อนจะทิ้งเป็นขยะควรคิดก่อนว่า 1 ชิ้นมีอะไรเป็นองค์ประกอบบ้าง ตัวอย่าง กินมันฝรั่งกระป๋องเสร็จแล้วไม่ควรทิ้งเลย แต่ควรแยกองค์ประกอบ เช่น ฝาพลาสติก ฟรอยด์ ก้นเป็นเหล็ก กระป๋องมีทั้งกระดาษ ฟรอยด์และพลาสติก เพราะบางส่วนนำมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้" ปราณี กล่าว
ขณะที่ ผศ.กุลธิดา จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า เริ่มจากการทำงานนำร่องในเขตภาษีเจริญ 54 ชุมชน ทำให้เจอปัญหาสำคัญในเรื่องขยะ จึงสำรวจชุมชนทั่วกรุงเทพฯ ราว 2,000 แห่ง พบว่าปัญหาแรกของทุกชุมชนคือเรื่องขยะ ซึ่งทุกคนในชุมชนรับรู้ปัญหาแต่เมื่อถามว่าจะจัดการอย่างไร ทุกคนจะชี้ไปที่คนอื่นหมด โดย ลืมคิดว่าขยะเกิดจากตัวเราเอง เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันจัดการเอง เกิดเป็นโครงการนำร่องในเขตภาษีเจริญที่มีกำแพงขยะท่วมกว่า 2 เมตรในพื้นที่ 2 ไร่ ด้วยการท้าทายชุมชนว่าจะเปลี่ยนพื้นที่ภูเขาขยะให้เป็นที่สาธารณะใช้วิ่งหรือออกกำลังกายเอาหรือไม่ ช่วงแรกชุมชนบอกเป็นไปไม่ได้ ต้องเริ่มด้วยการสร้างศรัทธาในตัวเองให้เห็นว่าสามารถทำได้ โดยท้าทายว่าภายใน 15 วันจะต้อง ย้ายขยะออกไปทั้งหมด ทุกๆ คนในชุมชนจึงมาช่วยกันและสามารถทำสำเร็จ
เมื่อนำขยะออกไปชุมชนจึงมีพื้นที่ 2 ไร่ ที่ปัจจุบันปลูกต้นไม้และดูแลเป็นพื้นที่สำหรับออกกำลังกายของคนในชุมชน ส่วนกำแพงที่เคยใช้กั้นขยะจนท่วม กลายเป็นห้องสมุด มีหนังสือที่คนในชุมชนสามารถเข้ามาหยิบยืมหรืออ่านหนังสือได้ยามว่าง ต่อยอด ด้วยการปลูกฝังเรื่องการคัดแยกขยะ นำมาแปรรูป และจัดตั้งเป็นการกองทุนสวัสดิการชุมชนที่เป็นกลุ่มออมทรัพย์ โดยร่วมมือกับ ผู้ประกอบการเกี่ยวกับขยะว่าหากชาวบ้าน คัดแยกขยะให้จะต้องหัก 10% ของราคาที่ขาย มาให้กับกองทุนเมื่อชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ เห็นว่าที่นี่ประสบความสำเร็จจึงเข้ามาเรียนรู้ และนำไปใช้ในชุมชนต่างๆ ด้วย
ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย อาจารย์ ภาควิชาเทคโนโลยียางและโพลิเมอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตัวแทนกลุ่ม Trash Hero ประเทศไทย เล่าว่า การทำงานของกลุ่มจะเป็นลักษณะกองโจรโดยจะรวมตัวกันแล้วไปเก็บขยะตามสถานที่ต่างๆ แล้วนำไปให้หน่วยงานท้องถิ่นดำเนินการต่อ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มนี้มีอยู่ราว 61 กลุ่ม 6 ทวีป 13 ประเทศทั่วโลก แต่ส่วนตัวเป็นอาจารย์สาขายางและโพลิเมอร์ด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ ก็จะแยกออกมาและเอาทำผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น รองเท้า โดยใช้รองเท้า 10 ข้างสามารถทำเป็นรองเท้าใหม่ได้ 1 คู่ หากเป็นขยะทะเลที่เก็บได้ 10 กิโลกรัม เป็นรองเท้าที่นำมาทำใหม่ได้ราว 10%
สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า สสส.ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายสนับสนุนให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อสร้างปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยหลายวิธี เช่น 1.การจัดตั้ง "กองทุนการจัดการขยะเพื่อสวัสดิการชุมชน" ที่บ้านแสงสาคร จ.บึงกาฬ 2.นวัตกรรมการจัดการขยะในชุมชน อาทิ "ไซดักขยะ" จากตาข่ายไนลอน ที่บ้านนาดี จ.ศรีสะเกษ "ถังกรีนโคนกำจัดขยะ" อุปกรณ์ช่วยทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารย่อยสลายขยะอินทรีย์ในครัวเรือน 3.ระดับนโยบายสนับสนุน "แผนงาน ด้านสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพ" ภายใต้ แผนควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ผลักดันข้อเสนอและนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) และแผน พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12
สำหรับนิทรรศการหมุนเวียน "Go Zero Waste ชีวิตใหม่ไร้ขยะ" จัดที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. จะแบ่ง 4 โซน ได้แก่ 1.โซน Check&Shock สำรวจพฤติกรรมการบริโภคในชีวิตประจำวันของตัวเองในบ้าน ร้านค้า โรงเรียน และสำนักงาน 2.โซน Waste Land สถานการณ์ปัญหาขยะในปัจจุบันและวิธีการแยกขยะ 3.โซน Waste Wow นวัตกรรมการจัดการขยะใกล้ตัว อาทิ กล่องหมักปุ๋ย Eco brick ถนนเพื่อคนตาบอด และ 4.โซน Zero Waste World เรียนรู้ต้นแบบวิถีการจัดการขยะจากสถานการณ์ขยะล้นโลกในปัจจุบันที่ส่งผลต่อสุขภาวะ ตั้งแต่ระดับบุคคล ชุมชน องค์กร และประเทศ ผ่านองค์ความรู้ในการลดการสร้างขยะ (Reduce)
การนำขยะหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) และการนำขยะมาแปรรูปแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) รวมทั้งการคัดแยกขยะ การนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปของผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ผลักดันนโยบายของประเทศในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกเพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหาขยะ