ชีวิตเด็กใช่ว่าจะไร้สิทธิ
‘ต้นทุนชีวิต‘สิทธิที่‘เด็กต้องได้!!‘
“คำว่าต้นทุนชีวิต หมายถึงต้นทุนขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการพัฒนา ทั้งชีวิต จิตใจ สังคม สติปัญญา เพื่อให้คนคนหนึ่งสามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้อย่างเข้มแข็ง”…นี่เป็นการระบุของ นพ.สุริยเดว ทรีปาตีผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จากการเสวนา”ต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชน”ที่จัดโดยมูลนิธิหมอชาวบ้าน เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่ผ่านมา
และนี่ก็สอดคล้องโดยตรงกับเรื่อง “สิทธิเด็ก” ที่หมายรวมถึง “สิทธิสำคัญก้าวแรกของเด็กคือ… สิทธิการมีชีวิต” ที่ผู้ใหญ่ไทยทั้งหลายต้องสนใจ ต้องให้ความสำคัญ ต้องไม่ละเมิดสิทธิของเด็ก
ทั้งนี้ ปัญหาร้าย ๆ ที่เด็กต้องเจอ ซึ่งมีหลากหลาย ซึ่งรวมถึงการที่เด็กต้อง “เสียชีวิต”เพราะผู้ใหญ่ มีปรากฏให้เห็นบ่อย ๆในสังคมไทย ทั้งที่เด็กทุกคนมีสิทธิในชีวิต ในการอยู่รอด ในการได้รับการปกป้องคุ้มครองให้มีชีวิตปลอดภัย และต่อเนื่องถึงสิทธิในการได้รับการพัฒนา ในการได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เหมาะสม
แม้แต่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องไม่ละเมิดสิทธิบุตรหลานแต่เอาเข้าจริงพ่อแม่ผู้ปกครองบางคนกลับทำร้ายชีวิตเด็กและมากมายหลายครอบครัวที่ไม่สนใจ “ต้นทุนชีวิตเด็ก”
ในงานเสวนา “ต้นทุนชีวิตเด็ก และเยาวชน” มีวิทยากรที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กมาสะท้อนถึงปัญหาของเด็ก ๆ ในไทย ในหลายด้านยกตัวอย่างเช่น… ด.ต.สมศักดิ์ บุญรัตน์ ตำรวจชุมชนสัมพันธ์สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ซึ่งรับหน้าที่เป็นตำรวจครูข้างถนน สอนหนังสือ-สอนชีวิตให้เด็กเร่ร่อนมากว่า 10 ปี ที่สะท้อนปัญหาสิทธิเด็กว่า… การที่มีเด็กเร่ร่อน ก็เป็นเพราะครอบครัวแตกแยก พ่อมีภรรยาใหม่ แม่มีสามีใหม่
บางครอบครัวใหม่ พ่อหรือแม่เกิดมีลูกใหม่ขึ้นมา เด็กที่เป็นลูกเก่าบางคนจะรู้สึกว่าถูกแย่งความรัก และเด็กบางคนยังได้รับคำยุยงส่งเสริมที่ไม่ดีจากญาติพ่อหรือญาติแม่ของตัวเอง จึงคิดเลยเถิดไปกันใหญ่ หรือเด็กอาจถูกทุบตีทำร้าย ไม่ได้รับความอบอุ่นในครอบครัว จนกระทั่งต้องหนีออกมาจากบ้าน กลายเป็นเด็กเร่ร่อน
นี่ก็เป็นตัวอย่าง….. “เด็กขาดต้นทุนชีวิต”
“เด็กบางคนถูกทิ้งตามถังขยะ ซึ่งผมเคยเก็บได้ 2 รายเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ที่หน้าโรงพยาบาลตำรวจ และที่หัวลำโพงเป็นเด็กอ่อน ซึ่งหากผมไม่พบเข้า ก็ไม่รู้ว่าเด็กจะเป็นอย่างไร??”…ด.ต.สมศักดิ์ กล่าวในเชิงตั้งคำถาม ซึ่งกับคำถามนี้ คำตอบอาจจะคือ… “เด็กเสียชีวิต!!”
นอกจากนี้ ด.ต.สมศักดิ์ยังกล่าวทิ้งท้ายโดยบอกว่า… ความรักความอบอุ่นในครอบครัวมีความสำคัญกับเด็กมาก คนที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองควรจะคำนึงถึงเรื่องนี้ ซึ่งผลที่ตามมาของการเป็นเด็กเร่ร่อนนั้น หากเขาไปพบกับคนที่ไม่ดี ก็อาจกลายเป็นเหยื่อขบวนการค้ายาเสพติด ขบวนการค้ามนุษย์ ถูกนำไปขายตัว-ขายชีวิต!!
ทางด้าน นพ.สุริยเดว ทรีปาตีระบุว่า… ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง เด็กเร่ร่อน เด็กถูกทุบตีทำร้ายการละเมิดชีวิตเด็ก ฯลฯ อาจเกิดขึ้นจากการที่ผู้ใหญ่ไม่ทราบ “สิทธิเด็ก”ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันนอกเหนือจากอนุสัญญาสิทธิเด็กแล้ว ก็ยังมีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กอีกด้วย แต่อย่าว่าแต่พ่อแม่ผู้ปกครองที่ไม่ค่อยทราบเลย แม้แต่หมอเด็กเองก็มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ทราบเรื่องสิทธิเด็กอย่างชัดเจน
การเสนอแนวคิด “ต้นทุนชีวิต” เด็กและเยาวชน ก็เป็นวิธีหนึ่งที่สอดคล้องกับสิทธิเด็ก โดยมุ่งเน้นที่การสร้างพลังตัวตน ครอบครัว ปัญญา เพื่อนและกิจกรรม ชุมชน โดยเปลี่ยนแปลงมุมมองการมองเด็กใหม่
“ต้นทุนชีวิต เป็นปัจจัยสร้าง หรือเป็นปัจจัยเชิงบวก ทางด้านชีวิต จิตใจ อารมณ์ สังคม ที่จะหล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งเจริญเติบโตขึ้นและดำรงชีพอยู่ในสังคมได้” …นพ.สุริยเดว ระบุ พร้อมทั้งบอกว่า… ต้นทุนชีวิต ป้องกันพฤติกรรมเสี่ยง ยิ่งมีมากก็จะยิ่งลดพฤติกรรมเสี่ยงได้มาก ประวิงระยะเวลาการเกิดพฤติกรรมเสี่ยงได้นาน ซึ่งต้นทุนชีวิตมีผลมากกว่าสถานะเศรษฐกิจของครอบครัวและสภาพครอบครัวในบริบทต่าง ๆ ต้นทุนชีวิตมีความเชื่อมโยงแบบบูรณาการกับพฤติกรรมที่ดีของเด็กและเยาวชน
“ต้นทุนชีวิต เปรียบเสมือนขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณีของไทยที่ดีงาม ทำให้เด็กได้มีชีวิต ได้รับการเลี้ยงดูเจริญเติบโต มีความเข้มแข็งด้านจิตใจ สังคม สติปัญญา สามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้อย่างสันติสุข ซึ่งสอดคล้องกับสิทธิเด็กของยูนิเซฟ สิทธิในชีวิต การอยู่รอด การได้รับการปกป้องคุ้มครอง การพัฒนา การได้มีส่วนร่วม ทั้งนี้ ผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญ และให้ความร่วมมือในการทำให้ต้นทุนชีวิตของเด็กเกิดขึ้น”…ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กฯ ระบุ “ต้นทุนชีวิต” จริง ๆ ก็คือสิทธิที่เด็ก ๆ ควรมี-ควรได้แต่ก้าวแรกก็จะต้องได้ “สิทธิในการมีชีวิต” ก่อนด้วยมิฉะนั้นก็ย่อมไม่มีชีวิตเด็ก…ที่จะเติมต้นทุนชีวิตให้!!.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
update:17-08-53
อัพเดทเนื้อหา : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่