ชีวิตพอเพียงของ “สั้น พรหมช่วย”
หลายคนมีเงินเดือน 7,000 บาท หรือแม้แต่ 70,000 บาท ยังเป็นหนี้…แต่ผู้หญิงคนนี้มีเงินแค่ 700 บาท นอกจากจะไม่เป็นหนี้แล้ว เธอยังมีเงินเหลือพอจุนเจือญาติพี่น้อง นอกจากจะไม่เป็นหนี้แล้ว เธอยังมีเงินเหลือพอจุนเจือญาติพี่น้อง และบางครั้งก็ยังให้เพื่อนร่วมชุมชนหยิบยืมยามขาดแคลนได้อีกด้วย มิหนำซ้ำ เธอยังได้ชื่อว่าเป็นคน “อ่อนกว่าวัย” เพราะยังดูสาวใส เปล่งปลั่ง ทั้งที่เฉียดวัยเกษียณเข้าไปทุกทีแล้ว
คมคิดชีวิตของ สั้น พรหมช่วย วัย 57 ปี หรือ “ป้าสั้น” แห่งบ้านไสยนาขัน ต.ควนขนุน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง จึงเป็นเรื่องราวที่น่าติดตาม เพราะเรื่องราวของเธอ อาจทำให้คุณได้ตระหนักว่าแท้จริงแล้ว “ความสุข” (รวมถึงความร่ำรวยและสวยใส) เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำได้…ง่ายนิดเดียว
ไม่อายทำกิน
ป้าสั้น พื้นเพเดิมเป็นคน ต.ควนมะพร้าว แต่เมื่ออายุ 16 ปี ก็ได้แต่งงานกับสามี ซึ่งเป็นคนบ้านไสยนาขัน นับจากนั้นป้าสั้นจึงเปลี่ยนนิวาสสถานมาเป็นชาวไสยนาขัน สองคนสามีภรรยาช่วยกันทำมาหากิน แม้ไม่ร่ำรวยแต่ก็ไม่ยากจน ชีวิตครอบครัวที่ยังมีลูกอีก 5 คน ก็มีความสุขไปตามอัตภาพ แต่แล้วในปีที่ป้าสั้นมีอายุได้ 33 ปี สามีของป้าก็ถูกฟ้าผ่าตายขณะที่กำลังจูงวัวที่เลี้ยงไว้ไปหลบฝน นับจากนั้นชีวิตของป้าสั้นก็เปลี่ยนไป..
ป้าสั้นทำงานหนักโดยไม่เลือก ขอเพียงให้เป็นงานสุจริตเท่านั้น จนในที่สุดก็สามารถเก็บเล็กผสมน้อย จนบริหารทรัพย์สินที่เป็นมรดกจากสามี อันได้แก่ วัวและที่ดินได้เป็นอย่างดี ป้าสั้นมีเงินพอที่จะปลูกบ้าน เลี้ยงลูกจนโต และมีเงินเก็บสะสม เป็นทุนสำรองไว้ใช้จ่ายได้อย่างพอเพียง
ไม่หมิ่นเงินน้อย
ทุกวันนี้ แม้จะมีเงินเก็บและความมั่นคงในระดับหนึ่ง แต่ป้าสั้นก็ยังไม่หยุดทำงาน เธอยังยินดีกับหน้าที่ลูกจ้างทำความสะอาดของสถานีอนามัยไสยนาขัน ที่ได้รับเงินเดือนเพียงเดือนละ 700 บาทต่อไป เพราะถือว่าตัวเองยังมีเรี่ยวแรงพอที่จะทำงานได้ก็ควรทำต่อ และเงิน 700 บาท ก็มีค่าควรแก่การเก็บหอมรอมริบ ..
ปัจจุบันป้าสั้นมีหลาน 12 คน ลูกๆ ต่างก็ปลูกบ้านอยู่ใกล้ๆ กัน หากใครมีเงินไม่พอใช้ แม่สั้นก็พร้อมจะช่วยเหลือลูกๆ เพราะเธอเป็นคนใช้จ่ายอย่างประหยัด กินอยู่แบบพอเพียง ไม่เคยเป็นหนี้ใคร จึงมีแต่คนมาขอเป็นหนี้อยู่เรื่อยๆ ซึ่งเธอจะพิจารณาช่วยเหลือไปตามสมควร แต่หากเป็นการทำบุญในงานศพแล้ว ป้าสั้นจะช่วยงานละ 100 ไม่เคยขาดทุกงานไป
ไม่คอยวาสนา
สมัยก่อนป้าสั้นมักมีอาการปวดเมื่อยร่างกายเป็นประจำ เพราะความที่ทำงานหนัก จะรอให้โชควาสนามาช่วยให้เธอหายปวดคงไม่เข้าที ว่าแล้วป้าสั้นก็ลงมือจัดตารางเวลาให้ตัวเองได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทั้งยังเผื่อแผ่ไปถึงเพื่อนร่วมชุมชน จนกลายเป็นผู้นำการเต้นแอโรบิคในหมู่บ้านตั้งแต่ปี 2546
ป้าสั้นลงแรงเองทุกอย่างแม้แต่การติดตั้งเครื่องเสียง และยังดูแลตัวเองด้วยการเลือกรับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ ปลอดสารพิษ โดยเฉพาะผักพื้นบ้าน อีกทั้งยังยึดหลัก “ทำใจให้สนุก ไม่ทุกข์ ไม่เครียด” จนทำให้ป้าสั้นกลายเป็นคนสดชื่นกระปรี้กระเปร่าอยู่เสมอ
เพราะเป็นคนเปล่งปลั่งอ่อนกว่าวัยที่ใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเองเป็นอย่างดี ชาวไสยนาขันจึงให้สมญาป้าสั้นว่า “เด็กอนามัย” ขณะที่ป้าสั้นเองก็น้อมรับสมญานั้นแต่โดยดี ทั้งยังย้ำด้วยว่า หากต้องการแลดูอ่อนกว่าวัยและมีสุขภาพดี ก็ขอให้ลดละความเครียด ความกังวลต่างๆ ลง และปฏิบัติตนตามหลักธรรมชาติให้มากที่สุด
อย่าไปแสวงหา อย่าฟุ้งเฟ้อให้เกินตัว สมญา “เด็กอนามัย” (ในความหมายของคนสุขภาพดีที่ดูอ่อนกว่าวัย) ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
ที่มา: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
update 27-01-51