ชีวิตที่เหลือเพื่อนักเรียน’ครูศุภรา แสงแก้ว’

            ต้นกล้วยกว่า 300 ต้น บนเนื้อที่ 3 ไร่ ภายในรั้วโรงเรียนร่วมใจ 1 ต.แวงน่าง อ.เมือง จ.มหาสารคาม โรงเรียนระดับประถมศึกษาขนาดเล็ก เนื้อที่ 33 ไร่ มีเด็กนักเรียนทั้งสิ้น 52 คน ภายใต้การบริหารงานของ ชูชาติ หารัญดา ผู้อำนวยการโรงเรียน สภาพเศรษฐกิจของชุมชนโดยรอบค่อนข้างยากจน นักเรียนส่วนใหญ่อยู่กับปู่ย่าตายายและญาติ ที่ไม่มีเวลาดูแลอย่างเต็มที่ เพราะต้องไปทำงานรับจ้างหาเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หลายคนต้องขาดเรียนเพื่อมาดูแลน้องในระหว่างที่ตากับยายต้องไปทำงาน 

/data/content/19665/cms/cdinopqrtu58.jpg

            ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต การจัดการเรียนการสอน รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กๆ ในโรงเรียน คณะครูจึงพยายามหาหนทางที่จะช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพลูกศิษย์ของตนเองมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครูศุภรา แสงแก้ว ครูในวัยใกล้เกษียณ ได้คิดทำโครงการเพื่อส่งเสริมวินัยในโรงเรียนด้วยการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแลพื้นที่ต่างๆ ของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็น “ปุ๋ยหมัก” ที่จำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ 5 บาท “พืชผักสวนครัว” รวมถึง “ปลูกและแปรรูปกล้วย” ใน “โครงการพัฒนาทักษะอาชีพนักเรียน โรงเรียนบ้านร่วมใจ 1”

          ความพยายามต่อสู้เพื่อนักเรียน ทำให้ ครูศุภรา ได้รับทุน “ครูสอนดี” สนับสนุนต่อยอดจาก สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ภายใต้โครงการ “สังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ ยกย่องเชิดชู ครูสอนดี” นอกจากนี้โรงเรียนแห่งนี้ได้รับการรับรองให้เป็น “สถานศึกษาแบบอย่างเศรษฐกิจพอเพียง” อีกด้วย

           ครูศุภรา เล่าว่า เหตุผลที่ปลูกกล้วย โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้า เพราะเป็นพืชที่ปลูกง่าย ในท้องถิ่นก็หาพันธุ์ได้ง่าย เป็นไม้ผลที่มีประโยชน์ ดูแลง่าย สามารถที่จะบูรณาการหรือแปรรูปได้หลายๆ อย่าง หน่อกล้วยก็ขายได้ แล้วปลีกล้วย ดอกกล้วย ใบกล้วย ผลกล้วยมีประโยชน์หมด แม้กระทั่งกาบกล้วย และลำต้นก็ยังเอามาทำตะกร้า หรือนำมาจักสานอะไรก็ได้ทั้งนั้น

           “โครงการนี้เด็กๆ ในทุกระดับชั้นมีส่วนร่วมกับครูและผู้ปกครองในการปลูกและดูแลสวนกล้วยของโรงเรียนตามถนัดและความเหมาะสมของช่วงวัย ตั้งแต่การปรับพื้นที่ ปลูก ดูแล รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย รวมไปถึงการนำกล้วยมาแปรรูปเป็นอาหารหรือขนมต่างๆ เช่น กล้วยฉาบ กล้วยกวน กล้วยตาก และกระยาสารทกล้วย โดยมีครูภูมิปัญญาพื้นบ้านมาช่วยถ่ายทอดความรู้” ครูศุภรา กล่าวด้วยรอยยิ้ม

          เมื่อแปรรูปกล้วยเสร็จ นักเรียนจะนำไปฝากขาย โดยมีฝ่ายการตลาดคอยติดต่อร้านค้าในหมู่บ้าน คือ จันทร์สุดา คำชมภู หรือน้องเปีย ชั้น ป.6 วัย 12 ปี ส่งขายร้านค้าประมาณ 10 ถุง เพราะปริมาณการแปรรูปกล้วยจะทำเพียงครั้งละ 20-30 ถุง คนที่ลงมือแปรรูปส่วนใหญ่จะเป็นชั้น ป.5-ป.6 เด็กเล็กจะให้มาดูกระบวนการทำ เพราะจริงๆ แล้วโครงการนี้ไม่ได้มองเรื่องรายได้ แต่เน้นให้เด็กได้ทักษะ ได้ความรู้ ได้พื้นฐาน โตขึ้นจะได้จดได้จำและสามารถนำไปใช้เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตได้

           นอกจากความรู้และทักษะด้านการเกษตรที่เด็กๆ จะได้รับจากการลงมือปฏิบัติ ตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ ปลูก ดูแล เก็บผลผลิต แล้ว “เรื่องกล้วยๆ” ยังสามารถบูรณาการควบคู่ไปกับการเรียนรู้ด้านการแปรรูป การตลาด การขาย การทำบัญชีรับ-จ่าย ต้นทุน กำไร ที่ถึงแม้จะมีมูลค่าเพียงแค่หลักร้อย แต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้คือทักษะพื้นฐานที่สำคัญต่อไปในอนาคต

           “เมื่อเด็กมีความรับผิดชอบในส่วนไหนก็จะฝึกนิสัยให้เขาเกิดความเคยชินในการรับผิดชอบในเรื่องอื่นไปด้วย รวมไปถึงเรื่องการเรียน เช่น การเรียนรู้เรื่องกล้วย และเขาก็สามารถที่จะถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้ คือมาเขียนเป็นรายงาน มีใบงานให้ ฝึกทักษะและส่งเสริมการเขียน การอ่าน การพูด นอกจากนี้เรายังสามารถบูรณาการเรื่องกล้วยไปกับทุกกลุ่มสาระวิชาได้ เช่น ในขณะที่เรียนเราจะถามว่า กล้วยดิบสามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง ถ้ากล้วยสุกห่ามแล้ว ทำอะไรได้บ้าง แล้วกล้วยดิบสามารถรักษาโรคกระเพาะได้ แล้วผลผลิตของกล้วยถ้ามันสุกงอม เรา/data/content/19665/cms/giloptxz3467.jpgขายไม่หมดเราจะไปทำอะไรได้บ้าง ก็ทำกล้วยตาก กล้วยกวน แต่ถ้ากล้วยดิบ กล้วยยังไม่สุก กล้วยห่ามๆ เราก็มาทำกล้วยกระยาสารท หรือกล้วยฉาบ เราคลุกคลีอยู่กับกล้วย ป่ากล้วย จนมีวันหนึ่งนักเรียนผู้ปกครองถามว่า ครูจะอยู่กับต้นกล้วยใช่ไหม ครูเลยตอบว่า “ใช่ ครูจะอยู่กับต้นกล้วยจนกว่าจะตาย อยู่ในป่ากล้วยนี่แหละ ชีวิตที่เหลือครูจะอยู่กับป่ากล้วยและเด็กๆ ของครู ทำเพื่อนักเรียนของครู” ครูศุภรา กล่าวในที่สุด

           จันทร์สุดา คำชมภู เล่าว่า ใน 1 สัปดาห์ครูจะพาทำกล้วยแปรรูป 2 ครั้ง เมื่อทำเสร็จเธอจะเป็นคนติดต่อกับร้านค้า เพื่อวางขายกล้วยแปรรูป ร้านค้า 1 ร้านวางขายประมาณ 10 ถุง ในหมู่บ้านมีวางขาย 2 ร้าน ซึ่งทำให้มีรายได้ให้เธอและเพื่อนๆ สามารถนำเงินไปซื้ออุปกรณ์การเรียน เช่น ดินสอ ยางลบ กระเป๋านักเรียน เป็นต้น ช่วยลดภาระครอบครัว ส่วนหนึ่งเก็บไว้เป็นทุนการศึกษาต่อไป และเมื่อจบการศึกษา อนาคตเธออาจเลือกอาชีพแม่ค้าขายกล้วยแปรรูปก็เป็นได้

 

 

            ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก โดย ขวัญเรียม แก้วสุวรรณ

Shares:
QR Code :
QR Code