ชีวิตที่เร่งรีบส่งผลคนไทยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
ชี้รักษาหายได้หากตรวจพบในระยะแรก
นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย จากข้อมูลสถิติโรคมะเร็งของประเทศไทยในปี 2541 – 2543 ( cancer in thailand vol.iv,1998 – 2000 ) พบอัตราการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นอันดับ 3 ในเพศชายรองจากมะเร็งตับและมะเร็งปอด โดยมีอุบัติการณ์ 8.8 ต่อประชากร 1 แสนคน และในเพศหญิงพบอัตราการเกิดโรคเป็นอันดับ 5 รองจากมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ และมะเร็งปอด คิดเป็น 7.6 ต่อประชากร 1 แสนคน ทั้งนี้อัตราส่วนการเกิดโรคระหว่างเพศชายต่อเพศหญิงคิดเป็น 1.24 ต่อ 1 และ พบมากในช่วงอายุ 40 ปี ขึ้นไป โดยยิ่งอายุมากขึ้นอุบัติการณ์จะมากขึ้นด้วย
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและเขตเมืองใหญ่ โดยมีวิถีชีวิตที่ เร่งรีบ และมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารแบบประเทศตะวันตก ปัจจัยเสี่ยงของโรคดังกล่าว ได้แก่ การรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์มาก ไขมันสูง กากใยน้อย สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ มีอาการถ่ายผิดปกติท้องผูกสลับท้องเสีย โรคนี้จะไม่ปรากฏอาการในระยะแรกแต่หากพบการเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่าย เช่น อุจจาระเป็นมูกเลือด คลำพบก้อนบริเวณท้อง มักจะเป็นระยะที่ลุกลามแล้ว นอกจากนี้ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับทวารหนักและลำไส้ใหญ่ แผลอักเสบเรื้อรัง ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ รวมทั้งผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรรับการตรวจประเมินลำไส้ใหญ่โดยละเอียด ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาโรคดังกล่าว เช่น การตรวจอุจจาระซึ่งทำได้สะดวก รวดเร็ว และสิ้นเปลืองน้อย การตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยการสวนแป้งแบเรียมเข้าทางทวารหนักแล้วถ่ายเอกซเรย์ และการส่องกล้องลำไส้ใหญ่เพื่อดูรอยโรคและตัดชิ้นเนื้อไปตรวจวิเคราะห์ สำหรับการรักษา จะได้ผลดีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับระยะของโรค จะเห็นได้ว่า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักสามารถรักษาให้หายได้หากตรวจพบและได้รับการรักษาตั้งแต่ในระยะแรก ๆ
ที่มา : หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย
update : 18-08-51