‘ชาห้าถ้วย’ สู้โรคเรื้อรังที่ ‘ชุมชนบ้านไม้ขาว’

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า 


ภาพประกอบจากเว็บไซต์แนวหน้า 


‘ชาห้าถ้วย’ สู้โรคเรื้อรังที่ ‘ชุมชนบ้านไม้ขาว’ thaihealth


หลายปีมานี้ สถิติการเป็นโรคเรื้อรังแบบไม่ติดต่อของคนไทยอันได้แก่ “เบาหวาน” และ “ความดัน” เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ และนอกจากผู้ป่วยสูงอายุแล้ว มีแนวโน้มที่คนวัยทำงานและเด็กในวัยเรียนจะเป็นโรคเรื้อรังสองชนิดนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากพฤติกรรมทั้งการใช้ชีวิตที่ออกกำลังกายน้อยลง และบริโภคอาหารที่ไม่ถูกสุขบัญญัตินั่นเอง


รสหวาน เป็นรสชาติที่แทบทุกคนไม่ปฏิเสธความชื่นชอบ จากข้อมูล 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยบริโภคน้ำตาลในอัตราที่สูงขึ้นต่อเนื่อง เฉลี่ยคนละประมาณ 34 กิโลกรัมต่อปี สาเหตุมาจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของผู้ผลิตที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคอยากกินมากขึ้น อีกประการหนึ่งคือพฤติกรรมการกิน ที่พ่อแม่มักให้ลูกกินหวานตั้งแต่เด็ก จึงติดอาหารรสหวานไปจนโต กลายเป็นพฤติกรรมจากรุ่นสู่รุ่นปัญหานี้จึงแก้ยาก เช่นเดียวกับการติดรสเค็ม ผู้ที่กินเค็มมักจะกินเค็มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความเคยชิน และในที่สุดก็มักจะติดการกินอาหารรสจัดทั้งหวานและเค็มจนกระทั่งนำมาสู้โรคเรื้อรังที่สำคัญคือเบาหวานและความดันในที่สุด


ที่ บ้านไม้ขาว อำเภอถลาง ชุมชนชายทะเลตอนเหนือของเกาะภูเก็ต ยังคงวิถีชีวิตกึ่งชนบทประสานกับการรองรับเศรษฐกิจการท่องเที่ยวได้อย่างลงตัว ที่นี่เป็นชุมชนที่ดำรงทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ภูมิปัญญาและเศรษฐกิจชุมชนไว้ได้อย่างดีเยี่ยมภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


ขณะเดียวกัน นอกจากหาดไม้ขาวจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับ Amazing Thailandด้วยการเป็น “หาดชมเครื่องบิน” ที่โด่งดังไปทั่วโลก ยังมีความเข้มแข็งต่อการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสะท้อนผ่านการจัดการท่องเที่ยววิถีชุมชนภายใต้สโลแกน “นาผืนสุดท้ายของภูเก็ต” “สปาทราย” และสินค้าอัตลักษณ์ท้องถิ่น“จักจั่นทะเลแปรรูป”


แม้ว่าจะเป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตกึ่งชนบทใกล้ชิดธรรมชาติ มีทุ่งนาป่าเขาและชายทะเล แต่ปัญหาทางด้านสุขภาวะของชุมชนก็ยังน่าเป็นห่วงไม่ต่างจากชุมชนเมือง โดยเฉพาะปัญหาโรคเรื้อรังจากพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตสร้างปัญหาให้แก่ผู้สูงอายุไปจนกระทั่งวัยทำงานและเด็ก


โชคดีที่ความเข้มแข็งของชุมชนนี้มีหลากมิติรวมไปถึงมิติด้านสุขภาพ จากโรงพยาบาลในชุมชนจากจุดกำเนิดชมรมออกกำลังกายของผู้สูงอายุ ขยายผลเข้าสู่กิจกรรมทางสุขภาวะในหลายด้านรวมถึงความรู้ด้านโภชนาการจนเกิดนวัตกรรมการตรวจวัดพฤติกรรมการกินหวานกินเค็มในชื่อ “ชาห้าถ้วยน้ำปลาห้าถ้วย” ภายใต้โครงการสานสายใยรักบ้านไม้ขาวร่วมจัดการโรคเรื้อรังโดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จนเกิดการพัฒนาองค์ความรู้ไปสู่การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและสร้างความเข้มแข็งของสภาผู้นำ ที่สามารถขยายผลสรรหารูปแบบการจัดการชุมชนแห่งนี้ได้อย่างเป็นระบบ และพัฒนาต่อยอดไปได้อย่างต่อเนื่อง


“เรื่องชา 5 ถ้วยได้คิดค้นขึ้นเพราะชุมชนกินหวานมากก็เลยมีความคิดขึ้นมาว่า ชา 5 ถ้วย จะวัดระดับน้ำตาลของแต่ละคนได้ว่าอยู่ระดับไหน มีอยู่ 5 ระดับ ระดับที่ 1ไม่หวาน ระดับที่ 2 คือหวานนิดหนึ่ง ระดับที่ 3 อยู่ที่ปานกลาง ระดับที่ 4 จากปานกลางขึ้นไปนิดหนึ่ง พอ 5คือหวานฉ่ำเลย พอวัดแล้วแต่ละคนจะรู้ว่าตัวเองกินหวานระดับน้อย ปานกลาง และสามารถแนะนำให้กับคนในชุมชนได้ว่าเราต้องการให้เขาลดเรื่องน้ำตาลลงมากน้อยแค่ไหน” สายฝน แปลกฤทธิ์ ประธาน อสม. ผู้รับผิดชอบโครงการชาห้าถ้วยฯ เล่าถึงที่มา


จากชาห้าถ้วยซึ่งสามารถวัดค่าระดับการกินหวานของแต่ละบุคคล ได้ถูกพัฒนามาเป็นน้ำปลาห้าถ้วยวัดสำหรับวัดระดับการกินเค็มต่อ โดยใช้ไข่เจียวที่เติมน้ำปลามากน้อยต่างกันเป็นเครื่องมือทดลอง ผลที่ได้ก็คือผู้ที่เข้าตรวจวัดจะรู้ค่าระดับการกินหวานและเค็มของตนเองและได้รับคำแนะนำในการลดการกินหวานและกินเค็มได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และใช้ได้กับทุกระดับอายุ และนอกจากนั้นคณะทำงานยังมีการติดตามพฤติกรรมการกินของกลุ่มเป้าหมายโดยกิจกรรมการเยี่ยมบ้านและการทดสอบชาห้าถ้วยฯ ซ้ำเพื่อวัดผลด้วย


“ตั้งแต่เราได้กลุ่มเป้าหมาย คนมีอายุ 60 ปีขึ้นไป พยายามให้เขาลดเรื่องของความหวานความเค็ม หลังจากนั้นก็มีควบคุมอาหาร จะมีสมาชิกที่เป็นคณะกรรมการไปตามแต่ละบ้าน มีสมุดเล่มหนึ่ง จดบันทึกการกินอาหาร วันนี้คุณกินอะไร มีอะไรบ้าง ระยะเวลาที่ทำอยู่หกเดือน ในหกเดือนนี้เราใช้นวัตกรรมชา 5 ถ้วย คัดกรอง จดสถิติเอาไว้ เดือนนี้อยู่ในระดับไหน เดือนแรกอยู่ระดับไหน เราทำทั้งสองอย่างได้ สัก 6 เดือน พอ 6 เดือนหลังเราก็มาวัดระดับเขาอีกทีหนึ่งว่าระดับลดหรือเพิ่ม ถ้าเพิ่มคุณต้องปฏิบัติตัวเพิ่มเติม หมายถึงว่าต้องออกกำลังกายในครัวเรือนเพิ่มเติม และควบคุมอาหาร 2 อย่างนี้เพิ่มเติมอีก


ผ่านไป 6 เดือน เราสามารถทำให้ผู้สูงอายุลดพฤติกรรมการกินหวานเค็มไปได้มาก แม้ไม่เต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะผู้สูงอายุมักจะเป็นเบาหวานและความดันมาก่อนอยู่แล้ว แต่ก็ได้ผลหากนับพฤติกรรมการลดเค็มหวาน” มาโนช สายทองผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 บ้านไม้ขาว สรุปผลสำเร็จของโครงการ


บ้านไม้ขาวจึงเป็นชุมชนต้นแบบที่ใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนเข้ามาดูแลแก้ปัญหาต่างๆ ของชุมชน ควบคู่ไปกับการป้องกันดูแลสุขภาพของสมาชิกทุกช่วงวัย ที่พร้อมก้าวไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่คือการเป็นชุมชนสุขภาวะที่ยั่งยืน

Shares:
QR Code :
QR Code