ชาวสุพรรณสืบสานเพลงอีแซว
'เพลงอีแซว' ภูมิปัญญาพื้นบ้านร่วมสืบสานสู่ลูกหลานชาวสุพรรณ
"สิ่งที่กลัวและห่วงตอนนี้คือ กลัวประเพณีพื้นบ้านเพลงอีแซวกำลังจะหายไปพร้อมกับพ่อเพลงแม่เพลง เพราะเดี๋ยวนี้หาลูกหลานจะมาสืบทอดหรืออนุรักษ์ประเพณีเหล่านี้เอาไว้ได้ยาก เดิมเพลงอีแซวถือเป็นภูมิปัญญาของชาวสุพรรณบุรีโดยตรง หากต้องการให้เพลงพื้นบ้านยังคงอยู่ชั่วลูกสืบหลาน เราต้องดำเนินการอนุรักษ์และถ่ายทอดความรู้เพลงอีแซวให้กับเด็กๆ ต่อไป" พ่อมนัส แก้วเขียว อาจารย์ประจำโรงเรียนบ้านหนองขุม ผู้จุดประกายความคิดในการสืบสานศิลปะการแสดงเพลงอีแซว ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี เล่าถึงสาเหตุในการสืบทอดศิลปะการแสดงเพลงอีแซว
การสืบทอดศิลปะการแสดงเพลงอีแซวของพ่อมนัสถูกสนับสนุนผ่านองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และเป็นส่วนหนึ่งของตำบลสุขภาวะ โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ (สสส.) ประจำตำบลหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
พ่อมนัสเล่าว่า "เพลงอีแซว" เป็นเพลงพื้นบ้านประจำท้องถิ่นของจังหวัดสุพรรณบุรี ถูกดัดแปลงมาจากเพลงฉ่อย โดยเนื้อหาของเพลงคือการที่หนุ่มสาวใช้ร้องเกี้ยวพาราสีกันอย่างง่ายๆ เครื่องดนตรีประกอบจังหวะเพลงจะมีตะโพน ฉิ่ง กรับ เพื่อการประคับประคองดนตรีให้มีจังหวะสนุกสนาน ส่วนเสื้อผ้าของผู้แสดง ทั้งฝ่ายชายและหญิงจะนุ่งโจงกระเบน ส่วนเสื้อฝ่ายหญิงจะใส่เสื้อแขนสั้นคอกลมหรือคอเหลี่ยมกว้าง ฝ่ายชายมักจะใส่เสื้อแขนสั้นคอกลม สร้างสรรค์ความสะดุดตาด้วยสีที่ฉูดฉาดเพื่อดึงดูดใจผู้ชม
"เมื่อก่อนเล่นแบบไม่มีค่าตัว จุดกำเนิดคือทุกปีจะมีงานนมัสการหลวงพ่อที่วัดป่ามะขวิด (วัดป่าเลไลยก์) เมื่อไปถึงก็รับประทานอาหารเย็น นมัสการหลวงพ่อ ดูมหรสพถึงเที่ยงคืน หลังจากเที่ยงคืนไม่รู้จะทำอะไร เลยหาอะไรมาเล่น เราก็เอาเพลงฉ่อยมาร้องเกี้ยวพาราสี ร้องเล่นเรื่อยมาทุกปี ต่อมาเริ่มหาคนไปเล่นเป็นวงคณะและเริ่มมีค่าจ้าง เวที เครื่องเสียง จนพัฒนามาเป็นเพลงอีแซวจนถึงปัจจุบัน" พ่อมนัสเล่าถึงที่มาที่ไปของเพลงอีแซว
อีแซวจะไม่มีข้อกำหนดเรื่องจำนวนผู้แสดง แต่ในวงหนึ่งๆ จะมีการจัดสรรตำแหน่งหน้าที่ของผู้แสดง ประกอบด้วย พ่อเพลง (ผู้ร้องนำฝ่ายชาย) แม่เพลง (ผู้ร้องนำฝ่ายหญิง) คอต้น (ผู้ร้องเพลงโต้ตอบคนแรก) คอสองคอสาม (ผู้ร้องคนที่สองและสาม) และลูกคู่ (จำนวนไม่จำกัด มีหน้าที่ร้องรับ ร้องซ้ำความ ร้องสอดแทรกขัดจังหวะ เพื่อความสนุกสนาน)
พ่อมนัส เล่าต่อว่า ตนมีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นผู้ขับเคลื่อนและสืบสานศิลปะการแสดงเพลงอีแซวให้กับลูกหลานที่เข้าร่วมเรียนรู้เกือบ 20 ชีวิต เหตุที่ทำให้เข้ามายืนอยู่ ณ จุดนี้ได้ เพราะตนเป็นคนที่มีใจรักในการร้องเพลง โดยเฉพาะเพลงลูกทุ่ง อีกทั้งเมื่อตอนเด็กยังได้มีโอกาสคลุกคลีอยู่กับพ่อเพลง แม่เพลงพื้นบ้านคนดัง เมื่อมีโอกาสจึงอยากสืบและถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ให้กับลูกหลานสืบไป
"พ่อมีอาชีพเป็นครูสอนอยู่โรงเรียนบ้านหนองขุม ดังนั้นการหาหรือดึงเด็กเข้ามาเรียนรู้ในแหล่งการเรียนรู้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เด็กๆ ที่เข้ามาสัมผัสกับเพลงอีแซวจะมีทั้งระดับประถมและมัธยม คุณสมบัติต่างๆ ก็ไม่ได้มีอะไรหรูหรามากนัก
เพียงแค่มีใจรักในการร้อง เล่น บางคนอาจจะร้องไม่เพราะ แต่มีความสนใจที่จะเข้าร่วมอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้านของสุพรรณไว้ ก็สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้แล้ว สำหรับการซ้อมจะซ้อมหลังเวลาเลิกเรียนของทุกวัน วันละ 1-2 ชั่วโมง" พ่อมนัส กล่าว
ไม่ใช่เพียงแต่การถ่ายทอดความรู้เรื่องศิลปะการแสดงพื้นบ้านเพลงอีแซวเท่านั้น พ่อมนัสยังแต่งเนื้อหาในการขับร้องเพลงอีแซวเอง มีทั้งเพลงที่ใช้ในการศึกษาระดับอนุบาลหรือประถมศึกษา เช่น เพลง ก.ไก่ ถึง ฮ.ฮูก ก็นำมาแต่งและร้องทำนองเพลงอีแซวสำหรับใช้ในการศึกษา และเพลงที่ใช้ในการแสดงประจำงานต่างๆ ได้อีกด้วย
พ่อมนัส บอกต่อว่า เพลงอีแซวเป็นเพลงที่ร้องง่าย สนุกสนาน และการแสดงโชว์ยังสามารถออกไปโชว์ได้ง่ายตามงานต่างๆ เช่น ประเพณีสงกรานต์ ขึ้นปีใหม่ งานแต่งงาน เป็นต้น เพียงแต่เนื้อหาในการร้องจะถูกเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของงานที่ไปแสดง
"เมื่อมายืนอยู่ ณ จุดนี้ พ่อมีความสุขมากนะ ที่เห็นเด็กๆ รุ่นลูก หลาน เขาขึ้นแสดงโชว์ตามงานต่างๆ และที่สำคัญ เด็กๆ เหล่านี้เขาได้ทำตามความฝันอย่างที่เขาอยากจะทำและอยากจะเป็น อีกทั้งการแสดงโชว์แต่ละครั้งเด็กมีรายได้จากการแสดง เพื่อนำไปเก็บหอมรอมริบหรือซื้อของที่จำเป็นต่อไปในการศึกษา" พ่อมนัสเล่าด้วยน้ำเสียงที่ภาคภูมิใจ
เมื่อเกิดกลุ่มหรือแหล่งการเรียนรู้ขึ้นในตำบลหนองสาหร่าย พ่อมนัสยังเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงตรงนี้อีกว่า เด็กที่เข้าร่วมอนุรักษ์ศิลปะการแสดงพื้นบ้านเพลงอีแซวเขามีความรับผิดชอบและตรงต่อเวลามากขึ้น เพราะเด็กต้องไปท่องบท ท่องกลอนที่ใช้แสดง โดยให้เวลาเด็กไปซ้อมหรือท่องบท เพียงไม่กี่วันเด็กก็ท่องได้ ทำได้ เห็นได้ชัดเจนว่าเด็กมีความกระตือรือร้น และใส่ใจในหน้าที่ที่เขาต้องรับผิดชอบ "การสืบและถ่ายทอดศิลปะพื้นบ้านเพลงอีแซวของชาวจังหวัดสุพรรณบุรีจะไม่สูญหายตายจากไปพร้อมกับพ่อเพลง แม่เพลง หากลูกหลานชาวสุพรรณบุรีเข้ามาร่วมอนุรักษ์ ประเพณี และวัฒนธรรม ภูมิปัญญาเหล่านี้เอาไว้ การร้องรำ หรือขับกล่อมภูมิปัญญาพื้นบ้านเพลงอีแซวไม่ใช่เรื่องยาก ใครๆ ก็ทำได้ อยู่ที่ใครต้องการทำหรือไม่ต้องการทำเท่านั้นเอง" พ่อมนัส กล่าวทิ้งท้าย
เพลงอีแซวหรือศิลปะพื้นบ้านอาจคงอยู่คู่กับภูมิปัญญาของพ่อเพลง แม่เพลงต่อไป หากแต่ผู้สืบทอดหรือเยาวชนคนรุ่นหลังเพียรศึกษาและสืบทอดภูมิปัญญาเหล่านี้สืบไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต