ชาวบ้านคูสว่าง อุบลฯ ร่วม สสส.สร้างบ้านหนีน้ำท่วมซ้ำซาก เผยเป็นบ้านน็อกดาวน์ใช้ได้ 10 ปี
ชาวบ้านในอำเภอวารินชำราบ อุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ถูกน้ำท่วมซ้ำซาก ร่วมกับ สสส.และภาคธุรกิจเอกชน ทำบ้านน็อกดาวน์ถอดประกอบ หลังต้องนอนบนพื้นถนน เมื่อเกิดน้ำท่วมทุกปี เผยบ้านที่ทำขึ้นเองสามารถใช้งานนานกว่า 10 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.อุบลราชธานี ชาวบ้านคูสว่าง ต.หนองกินเพล อ.วารินชำราบร่วมกันทำบ้านน็อกดาวน์แบบถอดประกอบได้เพื่อใช้พักอาศัยระหว่างน้ำจากแม่น้ำมูลไหลท่วมชุมชน ซึ่งเกิดเป็นประจำทุกปี เพราะหมู่บ้านตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำ และเป็นที่ลุ่มถูกน้ำท่วมทั้งหมู่บ้าน
โดยเมื่อปี 2554 ชาวบ้านคูสว่างกว่า 210 ครอบครัว ถูกน้ำท่วมขังนานกว่า 2 เดือน ต้องไปอาศัยอยู่ในเต้นท์ที่ อบต.จัดหาให้ แต่ไม่สะดวก เพราะฝนตกน้ำไหลเข้าที่นอน และต้องระวังสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์มีพิษที่หนีน้ำมาเช่นกันชาวบ้านที่เป็นอาสาสมัครป้องกันภัยและพัฒนาชุมชนภาคประชาชน จ.อุบลราชธานี จึงระดมความเห็นออกแบบบ้านใช้พักอาศัยตามความต้องการของชุมชน โดยทำเป็นโครงเหล็ก ยกพื้นสูง 1 เมตร มุงหลังคาและผนังบ้านด้วยผ้าใบ
บ้านพักชั่วคราวที่สร้างขึ้น หลังหนึ่งมีความยาว 11 เมตร กว้าง 2.40 เมตร ใช้พักอาศัยได้ 3 ครอบครัว และสามารถถอดประกอบเก็บไว้ใช้ได้ถึง 10 ปี สำหรับงบประมาณที่ใช้สร้างบ้านชั่วคราวจำนวน 10 หลังและเรือ 1 ลำ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงาน สสส.และภาคธุรกิจเอกชนเป็นมูลค่าราว 3 แสนบาท
สำหรับเรือหางยาวที่ชาวบ้านสร้างขึ้น สามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้ 1.2 ตัน มีความเร็ว 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนเรือท้องแบนที่ราชการจัดมาช่วยไม่เหมาะใช้ในพื้นที่ของหมู่บ้านที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยว ทำให้การแล่นจากหมู่บ้านไปถึงถนนใหญ่ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร ต้องใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง ทำให้ชาวบ้านและนักเรียนไปเรียนและเข้าทำงานสาย แต่เรือที่ชาวบ้านทำขึ้นใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้น
นายสังคม พันธุ์สถิตย์ แกนนำชาวบ้านคูสว่าง กล่าวว่า ชุมชนคูสว่างถูกน้ำท่วมทุกปี และมีชาวบ้านกว่า 40 ครอบครัวที่มีบ้านชั้นเดียว ทำให้ไม่มีที่พักอาศัย ต้องไปอยู่ในเต้นท์ชั่วคราวที่ไม่สะดวก การทำบ้านพักชั่วคราวให้ชาวบ้านที่อพยพหนีน้ำท่วมครั้งนี้ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่ต้องนอนหวาดระแวงสัตว์ร้ายมากัดต่อยเหมือนทุกปี หลังน้ำท่วมผ่านไปก็ถอดเก็บไว้ใช้ได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี ส่วนเรือหางยาวทำให้ลดเวลาในการเดินทางให้น้อยลง ไม่ต้องไปทำงานหรือไปเรียนสาย เมื่อชุมชนถูกน้ำท่วม
ด้านนายศักดิ์สิทธิ์ บุญญะบาล หัวหน้าศูนย์อาสาสมัครป้องกันภัยและพัฒนาชุมชนภาคประชาชน จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ก่อนทำบ้านพักชั่วคราว ได้มีการหารือความต้องในกลุ่มชาวบ้านว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร เพราะที่ผ่านมามีการนำงบประมาณของรัฐมาใช้ทุกปี
แต่ชาวบ้านไม่ได้รับประโยชน์ เพราะความช่วยเหลือที่ส่งมาให้ไม่ตรงตามความต้องการใช้งาน เช่น เรือท้องแบนที่ราชการส่งมา แต่ลักษณะของเรือที่ต้านกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวของหมู่บ้านทำให้เรือแล่นช้าไม่ตอบสนองความต้องการ หรือเต้นท์ที่สำนักงาน อบต.ให้ชาวบ้านพักชั่วคราวมีแต่หลังคา แต่ไม่มีผ้าใบล้อมรอบ เมื่อฝนตกทำให้ผู้อยู่อาศัยเปียกฝน รวมทั้งพื้นแฉะนอนไม่ได้
ชาวบ้านจึงร่วมกันคิดออกแบบบ้านและเรือที่แล่นตัดกระแสน้ำได้ดีขึ้นมาใช้เอง จึงเป็นการตอบโจทก์ในความต้องการของชาวบ้าน และสามารถใช้ประโยชน์ได้นานไม่น้อยกว่า 10 ปี ช่วยให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านที่ต้องอพยพหนีน้ำท่วมดีขึ้น ส่วนการบริหารดูแลสิ่งของทั้งหมด ชาวบ้านได้ตั้งคณะกรรมการมาควบคุมดูแลกันเอง เพราะเป็นสิ่งของส่วนกลางไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่ทุกคนสามารถร่วมใช้กันได้
สำหรับระดับแม่น้ำมูลล่าสุด มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยขณะนี้มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากช่วง 3-4 วันที่ผ่านมากว่า 80 เซนติเมตร จากอิทธิพลของน้ำฝนที่ตกต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันมีระดับน้ำสูง 2.69 เมตร เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 11 เซนติเมตร โดยน้ำมีความเร็ว 282 ลบม./ต่อวินาที แต่ยังมีน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 4.31 เมตรที่สะพานเสรีประชาธิปไตย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ astv ผู้จัดการ