ชะลอส่งเสริมอีสปอร์ตเป็นกีฬา

ที่มา : มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ข่าวสด


ชะลอส่งเสริมอีสปอร์ตเป็นกีฬา  thaihealth


มูลนิธิอินเทอร์เน็ตฯ และองค์กรภาคีเครือข่ายกว่า 50 แห่ง ร้อง สนช. ชะลอส่งเสริมอีสปอร์ตเป็นกีฬา ย้ำต้องรับฟังผลกระทบรอบด้าน หวั่นซ้ำเติมปัญหาเสพติดเกมอันตราย มอมเมาสู่การพนัน-ความรุนแรง ด้านเครือข่ายเยาวชนหวั่นปูทางสู่นักพนันหน้าใหม่ จี้จัดการปัญหาเก่าให้ดี เตรียมการรอบด้านเสีย


ก่อนเร็วๆ นี้ ที่รัฐสภา ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย นำกลุ่มนักศึกษาจากเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน เครือข่ายผู้ปกครอง เครือข่ายครอบครัว เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย 20 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานกรรมาธิการ การพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และ ประธานอนุกรรมการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ เพื่อขอให้ชะลอและเตรียมการรอบด้านก่อนส่งเสริมให้ E-Sports เป็นกีฬา


ดร.ศรีดา กล่าวว่า ตามที่ E-Sports (เกมอิเล็กทรอนิกส์) กำลังจะถูกผลักดันให้เป็นกีฬาชนิดหนึ่ง โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นั้น จากประสบการณ์การทำงานกับเด็กและเยาวชน พ่อแม่ผู้ปกครอง โรงเรียนและชุมชน และองค์กรภาคีเครือข่ายมากกว่า 50 แห่ง พบว่า ไทยยังมีปัญหาการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องการเสพติดเกม เสพติดอินเทอร์เน็ต การล่อลวง การเข้าถึงเนื้อหาที่ผิดกฎหมายและเป็นอันตราย เช่น สื่อลามกอนาจารและความรุนแรง ฯลฯ เด็กและเยาวชนยังขาดทักษะรู้เท่าทันสื่อและไม่เท่าทันโฆษณาทางธุรกิจ พ่อแม่ยังขาดความตระหนักและทักษะในการดูแลลูกยุคดิจิทัล โรงเรียนยังไม่มีหลักสูตรรู้เท่าทันสื่อที่จะช่วยเสริมสร้างทักษะและความฉลาดในการใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลได้อย่างเหมาะสม จึงเห็นว่า ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะให้ E-Sports เป็นกีฬา เพราะอาจเป็นการซ้ำเติมปัญหา โดยเฉพาะปัญหาการเสพติดเกมของเด็กและเยาวชน ซึ่งภาครัฐควรทบทวนและเปิดรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมสร้างมาตรการความร่วมมือในการจัดการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้านในการส่งเสริมให้ E-Sports เป็นไปในทางสร้างสรรค์ รวมถึงสามารถป้องกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ


โดยมีข้อเสนอให้ภาครัฐเร่งดำเนินการในเรื่องต่อไปนี้


1.เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ความตระหนัก และทักษะพ่อแม่ผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลานยุคดิจิทัล ยกระดับการมีส่วนร่วมของครอบครัวและสังคมในการดูแลเด็กและเยาวชนไม่ให้เสพติดเกม


2. มีหน่วยงานดูแลรับผิดชอบให้คำแนะนำป้องกัน ช่วยเหลือ บำบัดรักษาการเสพติดเกมทั่วประเทศ เพื่อรองรับปัญหาการติดเกม


3.พัฒนาทักษะรู้เท่าทันสื่อและความเป็นพลเมืองดิจิทัล โดยโรงเรียนจะต้องมีหลักสูตรรู้เท่าทันสื่อเพื่อเสริมสร้างทักษะและความฉลาดในการใช้ชีวิต


4.เพิ่มพื้นที่การแสดงออกอย่างสร้างสรรค์และมีกิจกรรมเชิงบวกที่หลากหลาย เพื่อเป็นทางออก ทางเลือกให้ห่างไกลจากปัญหาเสพติดเกม ติดอินเทอร์เน็ต การล่อลวง การใช้เวลาให้มีคุณค่า ไม่ยึดติดกับค่านิยมหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆ


5.กำหนดมาตรการ แนวทางกำกับดูแล E-Sports ให้เป็นไปในทิศทางสร้างสรรค์ เช่น หลักเกณฑ์การคัดเลือกเกม การคัดเลือกนักกีฬา ควบคุมเวลาฝึกซ้อม สร้างบุคคลต้นแบบในการใช้เกม ดูแลไม่ทำให้ส่งผลกระทบต่อการเรียนและการดำเนินชีวิตของเด็กและเยาวชน การป้องกันการเข้าสู่การพนัน การล่อลวงหรือแสวงหาประโยชน์ผ่านเกมออนไลน์ รวมถึงมาตรการส่งเสริมจริยธรรมผู้ประกอบการให้มีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อสังคม


ด้านนายณัฐพงษ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน กล่าวว่า ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า อายุของเด็กที่เข้าถึงเกมมีแนวโน้มต่ำลงเรื่อยๆ อัตราการเสพติดเกมของวัยรุ่นไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เด็กทุกคนที่เล่นเกม มีโอกาสติดเกม ยิ่งเล่นมากตั้งแต่อายุยังน้อยก็ยิ่งมีปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิตรุนแรง จนเป็นความเจ็บป่วยเรื้อรังและมีผลเสียอื่นๆ ตามมา เช่น ปัญหาด้านการเรียน สติปัญญาลดลง มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงสัมพันธ์กับการเลียนแบบเกมรุนแรง พฤติกรรมเสี่ยงในการเข้าถึงเกมการพนันและเป็นนักพนันรุ่นใหม่ การเข้าถึงการพนันออนไลน์ทุกวันนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายมากเพราะมีระบบออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนอยู่แล้ว การให้ E-Sports เป็นกีฬา หากไม่ได้เตรียมการป้องกันและชี้แจงทำความเข้าใจกับสังคมให้ดี E-Sports อาจถูกใช้เป็นข้ออ้างของเด็กในการเล่มเกมมากขึ้น ร้านเกมอาจฉวยโอกาสเปิดให้บริการเกินเวลาและส่งเสริมให้เด็กเล่นเกมนานขึ้น ซึ่งที่ผ่านมายังไม่สามารถจัดการดูแลในส่วนนี้ได้ดีพอ จึงอยากเป็นการแก้ปัญหาที่มีอยู่และเตรียมการรับมือเรื่องนี้ให้ดี

Shares:
QR Code :
QR Code