ชวน KIDS พิชิตขยะ ค่ายฝึกคิดจัดการขยะด้วยหลัก 3R

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ Sook by สสส. และแฟ้มภาพ


ชวน KIDS พิชิตขยะ ค่ายฝึกคิดจัดการขยะด้วยหลัก 3R thaihealth


เผอิญปีนี้มีกระแสเรื่องขยะในประเทศไทยเรากำลังร้อนแรง ปิดเทอม ในช่วงตุลาคมนี้ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) จึงหยิบยกวิกฤตขยะ  ซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติ และระดับโลก มาปลูกฝังให้กับเด็กๆ ได้ใช้เวลาว่างช่วง ปิดเทอมให้เป็นช่วงเวลาแห่งความสนุก แถมยังได้ความรู้ติดตัวกลับบ้าน


ค่ายเด็ก "ชวน KIDS พิชิตขยะ" คืออีกหนึ่งกิจกรรมรักษ์โลก รู้ทันปัญหาและผลกระทบใกล้ตัวที่เกิดจากขยะ เข้าใจสาเหตุและเห็นแนวทางแก้ปัญหา ด้วยทักษะการจัดการแบบ 3R พร้อมทั้งฝึกความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดเป็นนวัตกรรมรักษ์โลกในแบบของตัวเอง


พลุ ณัฐฐ์ฐนันท์ พนานุรักษา ครีเอทีฟผู้ออกแบบกิจกรรมค่ายครั้งนี้  เล่าถึงแนวคิดว่า เกิดจากการความต้องการสร้างความตระหนักให้เด็กรู้ว่าวันๆ หนึ่ง คนเราสร้างขยะมากมาย ตั้งแต่ตื่นยันนอน เปิดประตูบ้านมา ก็สร้างขยะกันแล้ว


"เรากินขนมห่อหนึ่ง หรือทานแซนวิช ไม่หมดก็สร้างขยะแล้ว เพราะฉะนั้นเราพยายามให้เขาเรียนรู้ว่าการลดปริมาณขยะเริ่มต้นได้ที่ตัวเรา ถ้าเราสร้างความตระหนัก ให้เขาได้มันอาจถ่ายทอดไปครอบครัว ถึงคนใกล้ตัว หรือโรงเรียน กิจกรรมของเรา จึงเริ่มจากการสร้างการเรียนรู้ว่าให้เด็กเห็นว่า ถ้าไม่มีการจัดการขยะถูกวิธีจะเกิดปัญหาอะไรบ้าง และถ้าเรามีการจัดการที่ดีจะต้องทำอย่างไรบ้าง"


รูปแบบกิจกรรมจึงแบ่งเป็น 3 วัน  3 ช่วงสำคัญ ได้แก่ สถานการณ์ขยะ  การจัดการขยะ และแนวทางการแก้ไข


โดยในวันแรก เป็นกิจกรรมที่เริ่มจากการให้เด็กเรียนรู้ปัญหาขยะ ว่าสามารถสร้างปัญหาอะไรให้กับสังคมหรือโลกอย่างไรบ้าง


ชวน KIDS พิชิตขยะ ค่ายฝึกคิดจัดการขยะด้วยหลัก 3R thaihealth


"เรื่องที่บอกเขาก็มีเช่นว่า ถ้าเรานำจำนวนขยะตกค้างในประเทศไทยทั้งปี มาต่อกันจะได้ความสูงเท่าตึกใบหยกถึง 147 ตึก หรือพลาสติกชิ้นหนึ่งมีอายุ หรือกว่าจะย่อยสลายได้ 450 ปี หรือบอกเล่าว่างบต่อปีที่ใช้จัดการขยะจำนวนมาก หรือ การประเทศไทยมีพื้นที่เก็บขยะใช้พื้นที่เปลืองมาก ถ้านำมาเทียบอาจทำสนามฟุตบอลให้เด็กได้เป็นร้อยสนาม


นอกจากนี้ยังมีการนำตัวอย่างที่ดีอย่างในด้านการจัดการขยะ เช่น สวีเดนประเทศที่มีการจัดการขยะได้ดีจนต้องซื้อขยะมาแปรรูปเป็นพลังงานต่างๆ หรือญี่ปุ่น สิงคโปร์เขาเอาขยะไปถมทะเลทำพื้นที่เป็นต้น"


หากแต่การจะสื่อสารบอกเล่าให้เด็กฟังว่าสถานการณ์ขยะวิกฤตอย่างไร ตกค้างเท่าไหร่ หรือสร้างปัญหาอะไรให้กับประเทศไทยมากน้อยแค่ไหนในด้านเศรษฐกิจและสังคม ข้อมูลเหล่านี้ก็คงจะหนักหน่วงเกินไปที่จะอัดใส่ให้กับเด็กๆ  ที่มีวัยเพียง 7-12 ปี ครีเอทีฟหนุ่มจึงเลือกการนำเสนอ คอนเทนท์ จากเรื่องราวที่ใกล้ตัวเด็กๆ


"จริงๆ เรื่องขยะเป็นเรื่องใกล้ตัวเด็กนะ ถ้าเราพยายามจะทำให้ใกล้มันก็ใกล้ และเราพยายามให้เขาแชร์ไอเดียจากตัวเขา เป็นสิ่งที่เขาเห็นในชีวิตประจำวัน เพราะถ้าจะมานั่งพูดมาบอกเขาเฉยๆ เด็กจะไม่สนใจและมันน่าเบื่อ เราจึงสร้างการเรียนรู้ด้วยการสื่อสารผ่านกิจกรรม ในวันแรก ที่ชื่อ สถานการณ์ขยะใกล้ตัว โดยการปล่อยเด็กระดมความคิดว่าขยะในบ้านเรามีอะไรบ้าง หรือสิ่งที่อยู่รอบตัว เช่น โรงเรียน บนถนน ส่วนช่วงต่อไป จะเป็นเกมแฟนพันธุ์แท้สถานการณ์ขยะ เป็นการเล่นเกมตอบคำถาม"


สำหรับตอนบ่ายเป็นฐานกิจกรรม แบ่งประเภทขยะ เพื่อให้เห็นวิธีการจัดการของขยะแต่ละประเภท จากนั้นคือการสะท้อนให้เห็นปัญหาขยะ โดยให้เด็กเลือกว่า เขาคิดว่าปัญหาไหนเกิดจากขยะ รวมถึง การเรียนรู้เรื่องโรคที่เกิดจากขยะ เพื่อที่เยาวชนเหล่านี้จะได้ทราบว่าปัญหาหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นรอบตัวเขาเอง ล้วนเกิดจากขยะที่พวกเขาละเลยทั้งสิ้น


"เกมของเราจะเปิดกว้าง ไม่ใช่คำตอบว่าผิดหรือถูก เขาสามารถตอบได้มันมาจากอะไร รวมถึงชี้ให้เห็นว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างปัญหาและโรคเหล่านั้น เช่น พยาธิที่เกิดจากอาหารเน่าเสีย หรือบ้านเราไม่มีการจัดการขยะที่ดีก็มีหนูสัตว์ร้าย มาทำรังได้ การเกิดเชื้อโรค ปัญหาน้ำเน่า รถติด"


ส่วนฐานที่สี่เป็นเรื่องระยะเวลาย่อยสลาย ซึ่งจะชี้ให้เห็นว่าขยะแต่ละประเภทใช้เวลาต่างกัน พลาสติกหรือโฟมใช้เวลานานมากย่อยสลาย ดังนั้นไม่ควรใช้ ไปจนถึงเรียนรู้ประโยชน์จากขยะว่านำไปใช้อะไรได้บ้าง


ชวน KIDS พิชิตขยะ ค่ายฝึกคิดจัดการขยะด้วยหลัก 3R thaihealth


"พอวันที่สองเราจะมาเรียนรู้วิธีการจัดการขยะ โดยใช้แนวทาง 3R คือ  Reduce Reuse และ Recycle โดยในตอนเช้าก็จะพาเด็กทัวร์ชมนิทรรศการและวิธีการจัดการขยะในอาคารเรียนรู้สุขภาวะของ สสส. นี่เอง รวมถึงพาไปชมการทำแปลงปลูกผักโดยใช้ปุ๋ยจากเศษอาหารหรือขยะที่ดาดฟ้า ส่วนนิทรรศการขยะ ที่ สสส.จัดจะทำให้เห็นว่าขยะแต่ละอย่างมีวิธีการจัดการอย่างไร


ซึ่งตรงนี้เด็กๆ จะเริ่มเข้าใจวิธีการแยกขยะที่ถูกวิธีจริงๆ เช่น ขวดพลาสติก จากเมื่อก่อนเวลาที่เราจะแยกขยะ คนส่วนใหญ่จะโยนขวดใส่ถังแยก รีไซเคิลเลย แต่ความจริงแล้ว ก่อนจะทิ้งขวดพลาสติกคุณต้องแยกเอาฝาและฉลากที่ขวดออกก่อนถึงจะเป็นการแยกที่ถูกวิธี หรืออย่างปากกาสามารถแยกได้ แต่ต้องเอาไส้ปากกาเคมีออกเพราะเป็น ขยะอันตราย"


หลังจากได้เรียนรู้จากการศึกษาดูงานของจริงมาแล้ว ก็ถึงเวลาที่ทีมชวน Kids พิชิตขยะต้องลงมือทำเอง ผ่านกิจกรรม  5 ฐานที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การไม่สร้างขยะของเด็กๆ ในอนาคต


"เราจัดเป็นฐาน 5 ฐานเรียนรู้เรื่อง 3R ฐานแรกเน้นกิจกรรมให้รู้ว่าของใช้บางอย่างสามารถเลือกใช้ของแทนกันได้ เช่น  กระบอกน้ำกับขวดพลาสติก ถุงพลาสติกกับ ถุงผ้า คือสอนให้เด็กเห็นว่าถ้าเราหันมาใช้ของบางอย่างที่ใช้ซ้ำได้ ก็จะเป็นการลดขยะได้ฐานที่ 2 จะเป็นการจัดการขยะทิ้ง ฐาน 3 จะเป็นนำมาใช้ใหม่คือสอนการทำที่คั่นหนังสือหรือสมุดทำมือจากกระดาษที่เรามองว่าเป็นขยะแล้ว ฐานที่ 4 เป็นเรื่องซ่อมได้ สอน ให้เห็นว่าของบางอย่างไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่ เพียงแค่นำมาซ่อมก็ใช้ได้ เช่น ปกสมุดขาด กระดุมขาด และฐานที่ 5 จะเป็นฐานที่ให้เด็กรู้จักแยกขยะเองจากการที่เขาเรียนรู้ ไปก่อนหน้า"


ในช่วงบ่ายยังมีการสอนให้รู้จักการทำสิ่งประดิษฐ์จากขยะ นั่นคือ กระเป๋า ใส่ดินสอจากขวดน้ำพลาสติก แม้แต่ ปกหนังสือหรือดินสอที่สั้นๆ ก็สามารถ นำกระดาษใช้แล้วมาพันที่ปลายทำด้าม ให้ยาวขึ้นได้


"กิจกรรมการมาเข้าค่ายครั้งนี้เราพยายามสอดแทรกทุกกิจกรรม แม้แต่การกินข้าว เราต้องการจะสอนเขาไม่ให้กินข้าวเหลือ ซึ่งเราจะแบ่งกลุ่มเป็น 5 กลุ่ม วันที่หนึ่งและสองเราจะมีการเก็บคะแนน หากกลุ่มไหนสมาชิกมีอาหารเหลือเราจะนำมาชั่งน้ำหนักรวมกัน กลุ่มที่มีเหลือน้อยที่สุดจะได้คะแนนมากที่สุด กลายเป็นว่าการจัดค่ายครั้งนี้เด็กทานข้าวเหลือน้อยมากถ้าเทียบกับครั้งที่ผ่านๆ มา กินน้ำก็ไม่เหลือทิ้ง เขาจะพยายามทานให้หมด จากนั้นคะแนนที่เด็กๆ สะสมไว้ จะสะสมเพื่อให้เอามาแลกของ สำหรับการทำโครงงานใหญ่ในวันรุ่งขึ้น"


ชวน KIDS พิชิตขยะ ค่ายฝึกคิดจัดการขยะด้วยหลัก 3R thaihealth


พลุ บอกกับเราว่า เด็กๆ ที่มาค่ายครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีความสนใจ ค่อนข้างแอคทีฟกับกิจกรรมนี้มาก ทำให้เขาคาดหวัง เล็กๆ ว่าสิ่งที่เขาพยายามนำเสนอผ่านกิจกรรมสร้างเรียนรู้นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างการรับรู้และปลูกฝังจิตสำนึก เชิงบวกให้กับเด็กๆ เรื่องการจัดการขยะ


"เราเชื่อว่าสิ่งที่เราสอนเขาไปมันใช้ประโยชน์ได้จริง และยังสามารถบอกต่อไป ยังคนข้างๆ ตัวเขา ไม่แน่ว่าวันหนึ่งเขา อาจเป็นคน คนสร้างแรงบันดาลใจ เช่น  มีส่วนร่วมในการเป็นต้นแบบของการจัดการขยะ หรือเขาเป็นคนที่ลุกมาเปลี่ยนโดย พกกระบอกน้ำแทนการใช้แก้วหรือ ขวดน้ำพลาสติกในโรงเรียน"


หนึ่งในคนที่ได้ร่วมประสบการณ์ ค่ายชวน Kids พิชิตขยะ ด.ญ.พิมภะภา เจียรวิทยากิจ หรือน้องพอ สาวน้อยวัย  9 ขวบ บอกเล่าถึงความรู้สึกจากการได้ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่า


"ตอนแรกที่คุณแม่ชวนมาก็ไม่อยากมา หนูอยากเล่นอยู่กับพี่ที่บ้านมากกว่า คิดว่า คงน่าเบื่อมาก แต่มาจริงกิจกรรมได้ทำหลายอย่าง เพื่อนก็ตลกมากเลย"


น้องพอ เล่าว่า ค่ายนี้ทำให้ได้รู้เรื่องขยะมากขึ้น พอดีกับเธอกำลังเรียนเรื่องขยะจากที่โรงเรียนเลยยิ่งสนุกสนานเข้าไปใหญ่


"กิจกรรมหนูชอบสุดคือกิจกรรม ดีไอวาย ที่ทำปกหนังสือ ที่บ้านหนูเองก็เก็บไม้ไอติมที่กินเอามาสร้างบ้านจำลอง จริงๆ ที่บ้านหนูก็แยกขยะนะคะ แต่ไม่ได้แยกแบบนี้ แค่ขวดกล่องพลาสติก แต่ที่นี่เลยรู้แล้วว่าจะต้องแยกถึงขยะได้หลายแบบ"


ด้านผู้ใหญ่ที่จุดประกายให้เกิดงานนี้ เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยว่าเพราะเป้าหมาย สสส.คือการผลักดัน ให้คนมีสุขภาวะดี โดยมีแนวทางปรับเปลี่ยน พฤติกรรมคน ซึ่งศูนย์เรียนรู้สุขภาวะก็ดำเนินการมาด้วยแนวทางนี้โดยตลอด


"ตอนที่เราจัดใหม่ๆ ก็ยังมีคนร่วมกิจกรรมน้อย แต่เดี๋ยวนี้มีลูกค้าประจำเยอะแล้ว เป้าหมายของการจัดกิจกรรมของศูนย์เรียนรู้สุขภาวะไม่ใช่แค่การได้จัด แต่เราต้องการให้เกิดการกลับมาทำซ้ำหรือลงมือทำจริง ไม่เน้นการท่องจำ ซึ่งจะเห็นว่ากิจกรรมของศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.  มีเด็กมาเยอะมากขึ้น"


ส่วนกิจกรรมช่วงปิดเทอม เบญจมาภรณ์ เล่าว่าเริ่มทำมา 3 ปีแล้ว จนตอนนี้กลายเป็น อีกหนึ่งกิจกรรมปิดเทอมยอดฮิตที่มีพ่อแม่สนใจอยากให้ลูกเข้าค่ายจนถึงขั้นต้องจองกิจกรรมกันข้ามเทอมเลยทีเดียว


"ทางศูนย์ก็พยายามเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ให้มีความหลากหลายและส่วนกิจกรรมค่ายครั้งนี้คือการส่งเสริมให้เด็กรู้เท่าทันและเข้าใจถึงผลกระทบปัญหาเรื่องขยะ รวมถึงรู้จักฝึกคิดตาม


สสส.จะเน้นทักษะการส่งเสริมให้เด็ก ได้เรียนรู้ โดยเอาเรื่องสุขภาพเข้าไปจับ โดยแนวทางการทำงานของศูนย์ฯ มุ่งการสร้าง Health Literacy นั่นคือเด็กต้องเข้าใจที่มาและรู้ถึงสาเหตุของปัญหา  ไม่ใช่แค่ต้องทำ จึงใช้กระบวนการเรียนรู้ มากกว่าการท่องจำ พอเขาเริ่มเข้าใจเขา ก็จะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาของตัวเอง" ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ กล่าวทิ้งท้าย

Shares:
QR Code :
QR Code