ชวนเยาวชน ถอดบทเรียนภาพยนตร์ชีวิต ‘เอมี ไวน์เฮาส์’
ชีวิตที่ก้าวพลาดของศิลปินดังชาวอังกฤษ 'เอมี ไวน์เฮาส์' เป็นข่าวดังไปทั่วโลกจากการติดสารเสพติด และจบชีวิตลงในวัยเพียง 27 ปี ในปี พ.ศ. 2554 จากการติดสุราอย่างหนัก ซึ่งเป็นบทเรียนชีวิตให้คนทั่วโลกตระหนักถึงภัยของสุราและสารเสพติด และหันกลับมาตระหนักในเส้นทางที่ก้าวพลาดของเธอ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) และสำนักงานเครือข่ายองค์กร งดเหล้า (สคล.) ได้จัดกิจกรรม "เรียนรู้ ดูหนัง Amy Winehouse เหล้า หรือใคร หรืออะไรทำร้ายเธอ" โดยมีเครือข่ายกลุ่มคนทำงานด้านปัจจัยเสี่ยงหลัก พร้อมทั้งศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก เข้าร่วมชมภาพยนตร์ เกือบ 300 คน เพื่อเรียนรู้ปัญหาของวัยรุ่นในการจัดการปัจจัยเสี่ยง สิ่งเร้าจากอบายมุขต่างๆ
ภาพยนตร์ชีวิตของ 'เอมี ไวน์เฮาส์' นำมาสร้างโดยใช้ฟุตเตจ (Footage) ที่บันทึกไว้จริง นำมาเรียงร้อยเหตุการณ์นับตั้งแต่ช่วงวัย 9 ขวบ ที่เธอต้องเผชิญความอ้างว้าง เนื่องจากการหย่าร้างของพ่อและแม่ ทำให้เธอเป็นโรคซึมเศร้า และโรคบูลิเมีย (ภาวะความผิดปกติในเรื่องของการรับประทานอาหาร ด้วยการทำให้ตัวเองอาเจียน) เหล้า บุหรี่ และเซ็กซ์ เป็นทางออกที่เธอเลือกใช้กับชีวิต เธอก้าวเข้าสู่การเป็น นักร้องในวัยเพียง 16 ปี ด้วยความสามารถทางด้านการเล่นดนตรีและการแต่งเพลงทำให้เธอประสบความสำเร็จในการเป็นนักร้องแจ็ซในเวลาเพียงไม่นาน
แต่เธอกลับใช้ยาเสพติด เฮโรอีนและโคเคนเพื่อสร้างความสุขโดยคำชักชวนจากสามี ยิ่งนานวันเธอยิ่งมัวเมาอยู่กับเหล้า บุหรี่ และยาเสพติด เอมีเคยได้รับการบำบัดเพื่อให้เลิกยาเสพติดถึง 3 ครั้ง สื่อต่างๆ เฝ้าโหมกระหน่ำข่าวด้านลบของเธอ ทำให้เธอตกเป็นเหยื่อของสังคมอย่างรุนแรง รวมทั้งถูกกดดันจากตารางงานที่ต้องออกทัวร์คอนเสิร์ต จนเธอหันมาพึ่งสุราเพื่อเป็นทางออกของปัญหาทั้งหมด และเสียชีวิตจากการดื่มสุรามาก เกินไป
ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. สะท้อน บทเรียนจากการดูภาพยนตร์ชีวิตของเอมี ไวน์เฮาส์ ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถวิเคราะห์ออกมาได้ 3 ประเด็นที่น่าสนใจ คือ 1) ช่วงชีวิตก่อนที่จะเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียง การที่พ่อแม่หย่าร้างทำให้ความสุขที่มีหายไป เธอจะทำอะไรกับชีวิตก็ได้ไม่ว่าจะเป็น กินเหล้า สูบบุหรี่ มีเพศสัมพันธ์ เพื่อเป็นการประชดชีวิต และแม่ชดเชยสิ่งที่เจ็บปวดด้วยการตามใจเธอ 2) ช่วงชีวิตที่เป็นนักร้องดัง เอมีเลือกหนีปัญหาด้วยการดื่มเหล้า และเนื่องจากเป็นโรคซึมเศร้าหลังจากที่พ่อกับแม่หย่าร้าง บวกกับโรคบูลิเมีย จึงไม่มีความภูมิใจกับสิ่งที่ตัวเองเป็น ในชีวิตเราเมื่อเจอสิ่งใดมากระทบเราควรหยุดคิด เรามีอิสระในการเลือกการแสดงออกในทางสร้างสรรค์ ยั้งการกระทำที่จะโต้ตอบ (proactive) แต่เอมีเลือกวิธีการเข้าหาสุรา แทนที่จะเลือกคนที่ จะพาเขาไปรักษา 3) สิ่งแวดล้อม เอมีเป็นคน เปราะบาง ยืนหยัดด้วยตัวเองไม่ได้ โอกาสในชีวิตมีมากมาย ถ้าเราเจอใครที่เป็นเช่นนี้ให้ช่วยเหลือเขาด้วยความเมตตาและอดทน สิ่งสำคัญอีกประการคือ ธุรกิจและสินค้า ไม่ว่าจะเป็นสุราหรือยาเสพติด มีผลทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมมาก บุหรี่เป็นต้นทางนำมาสู่การติดสุราและนำไปสู่ยาเสพติด การเข้าถึงสุราต้องควบคุมพิเศษ ถ้ามีการเข้าถึงยากขึ้นคนจะเลือกเข้าถึงความสุขที่เป็นทางเลือกที่สร้างสรรค์อื่นๆ
ด้าน คำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังกลยุทธ์อุตสาหกรรมสุรา และเป็นผู้จุดประกายการนำภาพยนตร์เรื่องนี้มาฉาย กล่าวว่า เอมีเป็นครูให้เราเรียนรู้ถึงวิชาชีวิต เธอแสดงถึงการผลิตซ้ำทางความผิดพลาดถึง 3 ครั้ง ในการบำบัดรักษายาเสพติด และล้มเหลว สุดท้ายเสียชีวิตเพราะแอลกอฮอล์ การเป็นดาราได้รับแรงกดดัน ความคาดหวังสูง ยากที่จะหาใครที่ไว้ใจได้อยู่เคียงข้าง สะท้อนความไม่เข้มแข็งของคนรอบข้างที่ปกป้องเธอ ภาพยนตร์ให้คำถามกับเราว่า ถ้าเราเป็นเพื่อน คนในครอบครัว คนรักหรือผู้ร่วมงานเราควรแก้ปัญหาอย่างไร
ป้ามล หรือ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า เอมีเป็นคนที่มีอารมณ์อ่อนไหวง่ายมาก (over sensitive) ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ใจเธอแตกสลาย ถ้อยคำที่ว่า "อย่าให้แม่ยอมหนูมากนัก" "ห้ามหนูบ้าง" นั่นหมายถึงพ่อกับแม่ และคนเคียงข้างเธอต้องหนักแน่นแต่ไม่ทำร้าย เธอเติบโตภายใต้เงื่อนไขที่ผิดพลาด ด้วยความเปราะบางนี้เธอจึงเหมือนชีวิตในตู้ปลา ชีวิตไร้ทางเลือก รับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นมาไม่ได้ ส่วนการกระทำ 'หิวรัก' ที่ถ่ายทอดทางบทเพลงของเธอ เนื้อหากล่าวถึงชีวิตส่วนตัวทั้งหมดนั่นแสดงถึงการอยู่ผิดที่ผิดทาง และเธอไม่มีทุนในการรับมือกับเรื่องที่เกิดขึ้น จึงส่งผลให้ชีวิตล่มสลาย
สำหรับ ณัฐธิดา สาธิสิทธิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ม.รามคำแหง เยาวชนที่เข้าร่วมชมภาพยนตร์ เล่าถึง บทเรียนที่ได้รับในวันนี้ว่า การอยู่ร่วมกันในสังคม คนในสังคมต้องมีส่วนช่วยกันรับผิดชอบ ไม่ควร เพิกเฉยกับปัญหาเพราะมันจะกลายเป็นปัญหาไปยัง วงกว้างต่อสังคม "งานวันนี้ที่ทาง สสส. และภาคี จัด ทำให้จุดประกายความคิดในเรื่องของเหล้า บุหรี่ สะท้อนว่าดาราดังยังจบชีวิตด้วยการเลือกเดินไปในทางที่ผิด ทำให้เราตระหนักคิดถึงภัยของสารเสพติดมากกว่าเดิม"
ขณะที่ ลัญจกร คล่องแคล่ว จากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก พบว่า บทเรียนที่ได้จากการดูหนังคือ ชีวิตเรามี ทางเลือก เอมีก็มีทางเลือกเช่นกัน แต่เลือกชีวิตไปในทางที่ผิดพลาด ชีวิตเรามันไม่สายเกินไปที่จะเลือก ขณะที่เขาไม่มีโอกาสได้เลือกแล้ว สำหรับเพื่อนที่กำลังเดินผิดพลาดอยากบอกว่า การที่เดินออกมาไม่ใช่การเดินหนีปัญหาแต่เป็นการไม่เสี่ยงมากกว่า การเลือกเดินหนีบ้างมันไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่ผลดีสำหรับตัวเราในอนาคต เราต้องนำเรื่องที่ดูไปปฏิบัติได้จริงด้วย และทำตัวเป็นแบบอย่างให้เพื่อนๆ ได้เห็นด้วยแล้วเขาจะทำตามเองโดยที่เราไม่ต้องบอกเลย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด