ชวนเด็กกินผัก ปลูกฝังพฤติกรรมเริ่มที่ ‘ครอบครัว’

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ชวนเด็กกินผัก ปลูกฝังพฤติกรรมเริ่มที่ 'ครอบครัว' thaihealth


สร้างชุมชนชวนเด็กกินผัก ปลูกฝังพฤติกรรมเริ่มที่ครอบครัว


สนุกสนานทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง ครู เมื่อ 30 โรงเรียนทั่วประเทศที่เข้าร่วม “โครงการโรงเรียนเด็กกินผัก ชุมชนโรงเรียนเด็กกินผัก Organic to school community 2018” โดยพืชผักที่ถูกนำมาจัดบูธ ขายภายในงานล้วนเป็นฝีมือของเด็กนักเรียนที่ช่วยกันปลูก และเหลือจากเมนูอาหารกลางวันนำมาแลกเปลี่ยน แจกจ่าย ขายภายในงานซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


นฤมล กลิ่นด้วง ผู้ประสานงานของโครงการโรงเรียนเด็กกินผัก เล่าว่า “พฤติกรรมเด็ก ๆ ปัจจุบันน้อยมากที่จะรับประทานผัก บางส่วนก็เพราะพ่อแม่ของเด็ก ๆ มีนิสัยไม่ทานผักด้วย” เป็นที่มาของโครงการที่มีเป้าหมายส่งเสริมให้นักเรียนมีพฤติกรรมการรับประทานผัก รวมถึงทำอย่างไรให้เด็กได้กินผักผลไม้ที่ดีและปลอดภัยในโรงเรียน โดยเริ่มจากสอนให้เด็ก ๆ ได้รู้จักผักแต่ละชนิด ให้ได้ลงมือปลูก แล้วสุดท้ายเชิญชวนให้กินผักที่เด็ก ๆ นั้นปลูกเอง


“ส่วนใหญ่เราเจอโรงเรียนที่เขาปลูกผักเองอยู่แล้ว เช่น โรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนศาสตร์พระราชา แต่ว่าปลูกเพื่อเป็นกระบวนการการเรียนรู้ของเด็ก ๆ เราจึงเข้าไปเสริมส่วนที่ปลูกผักให้ปลอดภัย แต่ในบางโรงเรียนไม่มีพื้นที่มากพอในการปลูกผักเพื่อบริโภค เช่น โรงเรียนในกรุงเทพฯ ก็ต้องคิดว่าเราควรทำกิจกรรมอะไรเสริม สามารถบูรณาการกับแต่ละรายวิชาได้ไหม ซึ่งเรามีโมเดลกิจกรรมหลายรูปแบบมาก” นฤมล กล่าว


ผู้ประสานงานของโครงการโรงเรียนเด็กกินผัก กล่าวต่อไปว่า สำหรับโรงเรียนที่ไม่มีพื้นที่ปลูกผักก็จะเข้าไปช่วยพัฒนาหลักสูตรการปลูกผัก และการรู้จักผักที่หลากหลายชนิดผ่านบทเรียนในวิชาต่างๆ ขณะที่บางโรงเรียนนำไปพัฒนาแปลงผักสู่จานข้าวของเด็ก ๆ บางโรงเรียนนำไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นองค์ความรู้เสริมของเด็ก ๆ เช่นการพาเด็ก ๆ ไปดูสวนผักอื่นๆ หรือเชิญวิทยากรมาสอนทำอาหารให้กับเด็ก ๆ ซึ่งในระยะเวลาเพียงไม่นาน ก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ โรงเรียนที่เริ่มโครงการ อาทิ กลุ่มโรงเรียนในฉะเชิงเทรา ที่นอกจากปลูกผักในโรงเรียนเองแล้วยังนำมาประกอบอาหารด้วย หรือในบางโรงเรียนมีการพูดคุยกับผู้ปกครองว่าใครปลูกผักอยู่ก็สามารถนำมาส่งที่โรงเรียนได้ เพราะจะไว้ใจได้ว่าผักที่นำมาให้เด็ก ๆ นั้นพ่อแม่ทำเองย่อมไม่ใส่สารเคมีหรือใส่ยามาให้ลูกกินอยู่แล้ว บางโรงเรียนการนำงบไปสนับสนุนต่อยอดให้กับเด็ก ๆ อย่างการให้เก็บผักมาขายที่โรงครัวของโรงเรียน แทนที่จะต้องซื้อวัตถุดิบในตลาด


“การเปลี่ยนแปลงจะไม่ได้หยุดอยู่แค่ 30 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในปีนี้เท่านั้น ทางโครงการยังต้องการต่อยอดขยาย โดยปีหน้าคาดว่าจะมีโรงเรียนเข้าร่วมมากขึ้น อยากทำให้ยั่งยืนจึงมีแนวคิดกันต่อไปว่าใน 30 โรงเรียนนี้ โรงเรียนไหนที่เข้าร่วมกับเราแล้วทำได้ดี น่าชื่นชมเราก็จะให้เขาเป็นต้นแบบในปีถัด ๆ ไป แล้วจะขยายไปรอบ ๆ ให้เขาเป็นพี่เลี้ยงขยายไปใกล้ ๆ กับโรงเรียนเขา เพราะแต่ละโรงเรียนโดดเด่นไม่เหมือนกัน บางโรงเรียนก็เด่นเรื่องการบูรณาการรายวิชา บางโรงเรียนเด่นเรื่องการทำอาหาร เราก็จะให้เขาเป็นพี่เลี้ยงในแต่ละเรื่อง” นฤมล ระบุ


ผู้ประสานงานของโครงการโรงเรียนเด็กกินผัก กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า ยังมีความท้าทายในอนาคต เช่น บางโรงเรียนที่ชุมชนรอบ ๆ ปลูกผัก แต่พบว่ายังใช้สารเคมี ดังนั้นจะทำอย่างไรแปลงผักเหล่านี้ปลอดภัย ซึ่งเป้าหมายต่อไปของโรงเรียนเด็กกินผักคือการส่งเสริมให้ครอบครัวผู้ปกครองหันมาพัฒนาอาหาร และสร้างความเข้าใจในการเปลี่ยนพฤติกรรมการกินผัก โดยปลูกฝังให้เด็ก ๆ รู้จักคุณค่า รู้จักที่มาของอาหารนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยทั้งหมดต้องทำร่วมกันทั้งโรงเรียน บ้าน และชุมชน

Shares:
QR Code :
QR Code