ชวนอ่าน ‘ 108 การ์ตูนไทย – เทศ’ น้ำดี
กล่าวกันว่าสมองของคนจดจำได้สั้นมากยิ่งกว่าปลาทองเสียอีก มนุษย์จะจำได้อย่างน้อย 7-8 นาที อย่างมาก 3 วัน อีกทั้งมนุษย์จะไม่สามารถจดจำอะไรได้เลย ถ้าเรื่องราวไม่ผ่านทางสมองและหัวใจ
ทว่า “การ์ตูน” มีทั้งภาพ มีทั้งอารมณ์ มีหัวใจ จึงสามารถทำให้ผู้อ่านจดจำได้ นอกจากนี้ยังมีความมหัศจรรย์ คือเมื่อใครเสพเข้าแล้ว จะสามารถสร้างงานขึ้นมาเองได้ ดังจะเห็นว่าเด็กๆ สามารถเขียนการ์ตูนเป็นก่อนจะเขียน ก-ฮ เป็น นั่นเพราะภาษาภาพจะมาก่อนภาษาเขียนเสมอ และคนเราจะจดจำทุกอย่างเป็นภาพเป็นอารมณ์ เป็นความรู้สึก ทั้งหมดทั้งมวลล้วนมีอยู่ใน… “หนังสือการ์ตูน”
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่าง กรุงเทพเมืองหนังสือโลก แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และภาคีเครือข่ายเปิดโลกการเรียนรู้ผ่านหนังสือการ์ตูน ประกาศผลคัดสรรหนังสือในโครงการ “ชวนอ่าน 108 การ์ตูนโลก การ์ตูนไทย” ที่เด็กไทยควรจะได้อ่าน โดยใช้พื้นที่ภายในอุทยานการเรียนรู้ ที เค พาร์ค อาคารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 8 เป็นสถานที่จัดงาน พร้อมกับตั้งโต๊ะให้หนอนหนังสือรุ่นใหญ่ร่วมเสวนาในหัวข้อ “ชวนอ่านการ์ตูนไทย การ์ตูนเทศ” นำโดย อ.นับทอง ทองใบ หัวหน้าโครงการฯ “ดร.ป๊อป” ฐาวรา สิริพิพัฒน์ นักเขียนวัยรุ่นและพิธีกรรายการเปิดโลกเปิดเล่ม ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงประสบการณ์ดีๆ ที่จะได้มาจากการท่องสวนอักษร
ในฐานะหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่าเพราะปัจจุบันหนังสือการ์ตูนมีหลากหลายประเภท ทั้งที่มีคุณภาพดีและด้อยคุณภาพ จึงเป็นหน้าที่ของโครงการ “ชวนอ่าน 108 การ์ตูนไทย การ์ตูนเทศ” ทำหน้าที่คัดหนังสือการ์ตูนที่มีสุนทรีย์ทางด้านภาพและเรื่องซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีทั้งในการ์ตูนไทย 108 เล่ม และการ์ตูนเทศ 108 เพื่อแนะนำและเชิญชวนให้เด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครองได้อ่านหนังสือดีมีประโยชน์และคุณภาพ อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดนักเขียนหนังสือการ์ตูนรุ่นใหม่ที่มีพลังสร้างสรรค์ และกระตุ้นให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายตระหนักในการผลิตหนังสือการ์ตูนที่มีคุณภาพดีออกสู่สังคม
“ภาพวาด เนื้อหา และการดำเนินเรื่องในหนังสือการ์ตูนจะชวนให้เด็กเกิดความรู้สึกร่วม สนุกสนานไปกับเนื้อหาที่มากระทบจิตใจในมิติต่างๆ ทั้งความสุข ความทุกข์ มิตรภาพ ความเข้าใจเห็นอกเห็นใจ ดี-เลว การมีคุณธรรม การเรียนรู้ที่ผ่านอารมณ์ความรู้สึกของเด็กที่มีต่อหนังสือการ์ตูนเช่นน้ำ จะทำให้เกิดการพัฒนาและการจดจำของสมอง การสร้างความจำถาวร ซึ่งจะกลายเป็นคลังข้อมูลในสมองต่อไป ดังนั้น หากนำสิ่งดีๆ ใส่เข้าไปในการ์ตูน หรือการ์ตูนน้ำดี ให้เด็ก หรือกระทั่งผู้ใหญ่ ได้อ่าน ย่อมจะทำให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีนิสัยพึงประสงค์ เป็นคนที่มีคุณภาพของสังคมต่อไป” ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ให้มุมมอง
“ดร.ป๊อป” ฐาวรา กล่าวว่า การ์ตูนเป็นจุดเริ่มต้นของการอ่านที่ดี เคยมีงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาเขาบอกว่า ถ้าเด็กเริ่มอ่านการ์ตูนตั้งแต่เด็ก เปอร์เซ็นต์ที่เด็กจะรักการอ่านสูงกว่าเด็กที่ไม่อ่านหนังสือการ์ตูนเลย เนื่องจากเป็นการสื่อสารผ่านภาพและข้อความ ที่สำคัญให้เด็กมีโอกาสเลือกเอง”ถ้าอยากให้ลูกรักการอ่านก็ควรปล่อยให้เขาเลือกเอง อย่าไปยุ่งกับเขา เขาจะหยิบหนังสือเล่มละพันสองพันอย่าไปห้าม
“การลงทุนกับหนังสือเป็นสิ่งที่คุ้มค่า อย่าลงทุนในสิ่งที่อยากให้เขาเป็น แต่ให้ลงทุนในสิ่งที่เขาอยากเป็น ในทางตรงข้ามหากเด็กเกลียดหนังสือตั้งแต่แรกจับ เขาจะเกลียดการอ่านไปตลอดชีวิต จึงควรให้เขาเลือกเอง ตัวผมเองมีสิทธิ์ในการเลือกหนังสืออ่านเองตั้งแต่เด็กๆ ผมอ่านหมดแล้วมันจะถูกต้องหรือเปล่าไม่รู้ แต่ผมรู้สึกว่ารสนิยมของแต่ละคนไม่มีถูกหรือผิดชอบหรือไม่ชอบ กรณีที่เด็กชอบการอ่านตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเขาจะเปิดใจรับการอ่านที่มันซับซ้อนมากขึ้น เด็กที่อ่านการ์ตูนบางคนกลายเป็นผู้กำกับ เป็นนักเขียน นั่นหมายความว่า การอ่านการ์ตูนสร้างพัฒนการหลายๆ ด้าน ไม่ใช่แค่จินตนาการแต่ยังพัฒนาด้านภาษาอย่างที่เราคาดไม่ถึง” ดร.ป๊อป ให้ความเห็น
หัวหน้าโครงการฯ อ.นับทอง ทองใบ พูดถึงจุดเด่นของการ์ตูนเทศและการ์ตูนไทยว่า ทางคณะกรรมการเลือกแนะนำการ์ตูนเทศที่แปลเป็นภาษาไทย จึงมีข้อจำกัดบ้าง แต่การ์ตูนเทศที่เห็นชัดๆ เด็กไทยอ่านมากครองตลาด 90 เปอร์เซ็นต์คือ การ์ตูนญี่ปุ่น เพราะฉะนั้น 108 เรื่อง จะมีการ์ตูนญี่ปุ่นเป็นอันดับแรก รองลงมาเป็นจีน เกาหลี รองลงมา จุดเด่นญี่ปุ่นพูดเรื่องความมุ่งมั่นตั้งใจชัดมาก นั่นเป็นสิ่งที่แฝงมาอย่างแนบเนียน จุดเด่นอีกอย่างของการ์ตูนญี่ปุ่นคือโครงเรื่อง สร้างคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกันออกไป ปมต่างๆ ให้น่าติดตาม แก่นของเรื่อง แต่ถ้าเป็นการ์ตูนไทยเน้นให้ความรู้มากๆ เน้นลายเส้นง่ายๆ มีความหลากหลายเยอะมากไปไกลกว่าที่คิดเยอะ ขณะเดียวกันก็อยากฝากถึงคนเขียนการ์ตูน คนที่เขียนการ์ตูนใต้ดิน อยากให้คิดนิดหนึ่งว่าอย่าเพียงแค่ต้องการถ่ายทอดควรนึกถึงผู้อ่านด้วย โดยเฉพาะผู้อ่านที่เป็นเด็ก
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก