ชวนสูงวัยออกกำลังกายให้ถูกวิธี กระตุ้นกล้ามเนื้อ
ที่มา : ข่าวสด
แพทย์แนะผู้สุงอายุรู้จุดอ่อนของตัวเอง ออกกำลังกายอย่างตรงจุด และพอดี จะทำให้สุขภาพแข็งแรงอยู่เสมอ
นพ.พิศิฐ อิสรชีววัฒน์ แพทย์ผู้ เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย ศูนย์ส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การออกกำลังกายของผู้สูงอายุตอนนี้ หลายคนยังติดภาพว่า ต้องเต้นแต่แอโรบิก จริงๆ แล้วควรมีการออกกำลังกายที่ทำให้ร่างกายมีการยืดหยุ่น เช่น ยกเวต เพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ซึ่งที่ผ่านมา สังคมไทยยังไม่คุ้นชินกับการที่ผู้สูงอายุมายกเวต หรือเข้าฟิตเนส ทั้งที่จริง เป็นเรื่องจำเป็น และต้องมีแนวทางการออกกำลังกายที่เหมาะสม หรือผู้สูงอายุสามารถประยุกต์การออกกำลังกายได้ เช่น การยกขวดน้ำดื่มขึ้นลง
แต่การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละคน แตกต่างกัน ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์ ว่าสามารถออกกำลังกายแบบไหนได้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย โดยเฉพาะ คนที่ป่วยเป็นโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ
เช่นเดียวกับผู้สูงอายุที่มีน้ำหนักเกิน หรือไม่เคยตรวจสุขภาพมาก่อน ควรไปพบแพทย์ เพราะการออกกำลังกายบางอย่างอาจเพิ่มความเสี่ยง ที่มีผลกระทบถึงชีวิต โดยจะเห็นว่า ช่วงหลังๆ มีคนที่ออกกำลังกาย แล้วมีอาการช็อกหมดสติ เพราะออกกำลังกายเกินกว่าที่ร่างกายรับได้
ด้วยเทคนิคการแพทย์ปัจจุบัน ทำให้เราสามารถรู้ได้ว่า การออกกำลังกายหนักขนาดไหนที่สภาพร่างกายจะรับได้ ซึ่งคนที่มีโรคประจำตัวคือ โรคหัวใจ โดยเฉพาะกลุ่มคนไข้ ที่เคยบายพาสหัวใจ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ใช่ออกกำลังกายไม่ได้ แต่เขาต้องรู้ว่า ออกกำลังกายหนักขนาดไหนถึงเหมาะสม
ปัจจุบันเทคโนโลยีนาฬิกาสมัยใหม่ ที่บอกการเต้นของหัวใจ ระหว่างออกกำลังกาย ไม่สามารถระบุถึงปัญหาการเต้นของหัวใจในระหว่างออกกำลังกายได้อย่างชัดเจน เพราะนาฬิกาจะบอกแค่ว่า หัวใจเต้นกี่ครั้งต่อนาที แต่ไม่มีการบอกว่า หัวใจมีภาวะปั๊มเลือด ที่ออกมาได้ดีแค่ไหน เพราะการเสียชีวิตเฉียบพลัน ส่วนใหญ่เกิดจาก เลือดที่ปั๊มเข้ามาในหัวใจใหม่ไม่ได้
การสังเกตว่ามีการออกกำลังกายที่หนักเกินไป ดูได้จากอาการเหนื่อย หายใจไม่ทัน ควรพักก่อน ไม่ควรโหมออกกำลังกายต่อ แต่บางกรณี ที่เป็นการแข่งขัน อาจมองว่า ต้องเล่นต่อจนจบ ซึ่งถ้าเป็นอะไรไปก็ไม่คุ้ม เพราะที่ผ่านมา มีบางคนที่ล้มฟุบไปแล้วฝืนลุกขึ้นมาเล่นต่อ จนมีผลอันตราย จากภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน
"ในคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย การมาตรวจสุขภาพกับแพทย์ นอกจากจะทำให้รู้ภาวะของร่างกายตัวเองแล้ว บางครั้งเราสามารถรู้ถึงโรคบางอย่างที่ซ่อนอยู่ จะได้ทำการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่โรคจะร้ายแรงมากขึ้น"
แต่ถ้าผู้สูงอายุ จะเริ่มต้นออกกำลังกาย อาจเริ่มทำได้ด้วยการเริ่มเดินเร็วภายในบ้าน หรือปั่นจักรยานทางราบ โดยทดลองว่า พอปั่นไปในระยะนี้ มีอาการเหนื่อย และแน่นหน้าอกหรือไม่ ถ้าไม่มีอาการอะไร ก็ค่อยๆ เพิ่มระยะทางที่ปั่นไปเรื่อยๆ
สำหรับผู้สูงอายุอยากจะให้มองว่า การออกกำลังกาย ไม่ใช่การแข่งขัน แต่เป็นการต่อสู้กับตัวเอง ไม่ใช่ว่า เห็นคน
อื่นวิ่งได้ 5 รอบ เรามาวันแรก แล้วต้องวิ่งให้ได้เท่าเขาเลย เพราะสิ่งนี้เกิดจากการฝึกฝนของแต่ละคน ขณะที่ข้อมูลของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายอย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ หรืออีกทางเลือกคือ ให้เคลื่อนไหวออกแรง ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น ทำงานบ้าน เดินไปธุระ ทำสวน โดยทำกิจกรรมอย่างน้อยวันละ 30 นาที
ผู้ที่มีปัญหาการทรงตัวให้พิจารณาการฝึกความแข็งแรง โดยเหยียดยืดกล้ามเนื้อก่อน แต่ถ้าทรงตัวดี แล้วพิจารณาเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิกได้ และควรฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในท่านั่ง ได้แก่ การเหยียดคอ ข้อเท้า หลังและเข่า เตะเท้า ยกแขน.