ชวนวัยซน กินผัก-ผลไม้ ต้านโรค
ที่มา : เดลินิวส์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ newsplus.co.th
ปัจจุบันคนไทยเจ็บป่วยด้วยโรคเอ็นซีดี หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพิ่มมากขึ้น อย่าง เบาหวาน ความดัน โรคหลอดเลือดหัวใจ มะเร็ง และอื่น ๆ สาเหตุหนึ่งมาจากการบริโภคอาหารไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ซึ่งผลวิจัยจากองค์การอนามัยโลกชี้ชัดว่า ถ้าประชากรโลกหันมาบริโภคผักผลไม้ให้ได้ตามที่องค์การอนามัยโลกระบุ จะช่วยลดภาระการเจ็บป่วยเหล่านี้ลงได้
โครงการปฐมเชื่อมโยงอาหารอินทรีย์สู่ผู้บริโภค ที่ขับเคลื่อนโดย Patom Organic Living หนึ่งในโครงการ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ส่งเสริมการบริโภคผัก ผลไม้ ให้ได้วันละ 400-600 กรัมต่อวัน ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีให้กับคนไทย ล่าสุดได้นำทีมเจ้าหน้าที่ไปให้ความรู้กับนักเรียน โรงเรียนบ้านดงเกตุ อ.สามพราน จ.นครปฐม ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้ เป็นหนึ่งในโรงเรียนเครือข่ายสามพรานโมเดล ที่ทำโครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์เพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียน โดยมีพื้นฐานความรู้เรื่องอาหารปลอดภัยอยู่บ้างแล้ว ขาดเพียงความเข้าใจเรื่องหลักโภชนาการที่ถูกต้อง
คุณอนัฆ นวราช หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า โครงการฯ ร่วมกับมูลนิธิสังคมสุขใจเข้ามาต่อยอดช่วยเติมเต็มเรื่องหลักโภชนาการ ให้เด็ก ๆ บริโภคผักและผลไม้ ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เพื่อเสริมสร้างร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็ไปให้ความรู้กับ เด็ก ๆ ที่โรงเรียนวัดเดชานุสรณ์ และโรงเรียนบ้านคลองใหม่ สำหรับครั้งนี้เราเลือกมาให้ความรู้กับเด็ก ๆ ที่โรงเรียนบ้านดงเกตุ
"กิจกรรมนี้ต้องการกระตุ้นให้นักเรียนใส่ใจสุขภาพของตัวเอง รู้จักเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์และปลอดภัย ซึ่งปกติอาจรับประทานได้น้อย แต่เมื่อถูกกระตุ้นและได้รับความรู้ที่ถูกต้อง จะช่วยปรับพฤติกรรมการบริโภคได้" คุณอนัฆ กล่าว
ทั้งนี้จะเน้นให้ความรู้ สอดแทรกตามฐานกิจกรรม อาทิ ให้ เด็ก ๆ ทำวุ้นผลไม้ด้วยวัตถุดิบอินทรีย์ เล่นเกมบันไดงูบนแผ่นกระดาษใหญ่ เดินไต่ไปบนบันไดงูก็จะมีเรื่องราวผักผลไม้ที่มีประโยชน์บันทึกไว้ มีการตอบคำถามรับรางวัล นอกจากนี้ น้อง ๆ ยังได้เติมความรู้เรื่องการทำเกษตรระบบอินทรีย์ โดยการลงมือทำแปลงปลูก และปลูกผักด้วยตัวเอง มีพี่ ๆ ทีมงานมูลนิธิสังคมสุขใจมาสอนอย่างใกล้ชิด
อาจารย์ประเมศ เพียรความสุข รอง ผอ.โรงเรียนบ้านดงเกตุ บอกว่า เด็กส่วนใหญ่ไม่กินผักเพราะพื้นฐาน มาจากครอบครัวละเลยการกระตุ้นเด็ก โรงเรียนพยายามทำโครงการให้เด็กบริโภคผัก เช่น ครูด้านโภชนาการมาจัดเมนูอาหารกลางวันให้กับเด็ก โดยทุกเมนูจะมีผักซึ่งกำหนดให้เด็กรับประทานผักสี่ช้อนโต๊ะต่อวัน
"โรงเรียนไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กรู้จักกินผักอย่างเดียว แต่สอนให้เขารู้จักเลือกกินอย่างปลอดภัย โดยนักเรียนมีการปลูกผักอินทรีย์ส่งขายให้กับสหกรณ์ในโรงเรียน เพื่อนำไปเข้าโครงการอาหารกลางวันปรุงให้กับเด็ก ๆ เมื่อเขาได้บริโภคผักที่ปลูกเอง นอกจากได้ซึมซับ ทำให้มั่นใจในความปลอดภัยด้วย"
ด.ช.สุกฤษฎ์ คำพวงชัย ชั้น ป.4 บอกว่า กินผักได้หลายชนิด ทั้งแตงกวา มะเขือ เนื่องจากที่บ้านปลูกผักอยู่แล้ว และมาทำอาหาร ซึ่งจะไม่มีสารเคมีปนเปื้อน
ด้าน ด.ญ.ณัฏฐณิชา จูวรรณะ ชั้น ป.2 บอกว่า ชอบกินแตงกวา ผักบุ้ง เพราะไม่ขม พ่อบอกว่ากินผักเยอะจะได้แข็งแรง จึงพยายามฝึกกินผักให้หลากหลาย ร่างกายจะได้แข็งแรง และเรียนเก่ง ๆ ด้วย