ชวนประชาชน ลด ละ เลิก เหล้าครบพรรษา

กรมสุขภาพจิต เผย สุรา ทำป่วยจิต ครอบครัวรุนแรง นัดดื่มหน้าใหม่เพิ่มเสี่ยงสมองถูกทำลาย ชวน เข้าพรรษา "รักกันจริงไม่พึ่งพิงสุรา"


ชวนประชาชน ลด ละ เลิก เหล้าครบพรรษา thaihealth


แฟ้มภาพ


นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้เชิญชวนประชาชนให้ ลด ละ เลิก เหล้า เข้าพรรษา "รักกันจริงไม่พึ่งพิงสุรา" เพื่อคนที่คุณรักโดยได้เปิดเผยถึงสถานการณ์ปัญหาการดื่มสุราว่า จากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรีและการดื่มสุราของประชากร พ.ศ.2557 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ประชากรอายุตั่งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 54.8 ล้านคน เป็นผู้ดื่มสุรา ถึง 17.7 ล้านคน (ร้อยละ 32.3) ผู้ชายมีอัตราการดื่มสุราสูงกว่าผู้หญิงประมาณ 4 เท่า กลุ่มวัยทำงาน (25-59 ปี)มีอัตราการดื่มสุราสูงกว่ากลุ่มอื่น และจากการสอบถามครอบครัวที่มีสมาชิกดื่มสุรา เมื่อปี 2554 พบว่า ร้อยละ 36.6 มีปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัว หรือปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว สามีที่ดื่มเหล้ามีการทำร้ายภรรยาถึงร้อยละ 19.2 สูงกว่าในกลุ่มสามีที่ไม่ดื่มถึง 3 เท่า (ร้อยละ 6.8) ซึ่งสะท้อนได้ว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมีความสัมพันธ์กับการดื่มสุรา และปฏิเสธไม่ได้ว่า สุรา คือ ตัวการสำคัญที่ทำลายความรัก และสายสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวดังเห็นได้จากการปรากฎเป็นข่าวการทำผิดคดีอาญาหรืออาชญากรรมร้ายแรงอยู่บ่อยครั้ง ทั้งที่เกิดขึ้นในครอบครัวและสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ที่มีผลต่อการควบคุมอารมณ์และสติสัมปชัญญะ


อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า การดื่มสุราก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพในเชิงลบมากกว่าเชิงบวกหลายสิบเท่า ซึ่ง จากการรายงานของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ในปี 2556 พบว่า ภาระโรคที่สำคัญจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในประเทศไทย คือ ปัญหาสุขภาพจิต คิดเป็นร้อยละ 56 รองลงมา คือ บาดเจ็บ(ร้อยละ 23) และเป็นโรคตับแข็ง(ร้อยละ 9) ทั้งนี้การดื่มสุราจะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและทำร้ายตนเองดื่มแล้วไม่รู้ตัวว่ามีปัญหา ดื่มจนไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและคนรอบข้างโดยเฉพาะเด็กที่ต้องอาศัยอยู่ร่วมกับผู้ปกครองที่ดื่มสุราจะต้องรองรับอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงง่ายของพ่อและแม่ตอนเมา เช่นการตวาดและขว้างข้าวของ ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ จะทำให้เด็กเครียดและมีความวิตกกังวลจนกลายเป็นคนขี้โมโห ซึมเศร้าง่าย รู้สึกอับอาย โดดเดี่ยว ขาดที่พึ่งและขาดความภูมิใจในตนเอง เด็กๆที่เติบโตขึ้นมากับสิ่งเหล่านี้ จะถูกส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นวงจรปัญหาซ้ำซาก และวนเวียนปัญหาต่อไปอีกไม่สิ้นสุด


ด้าน นพ.ปริทรรศ ศิลปกิจ รักษาการผอ.รพ.สวนปรุง จ.เชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า ระหว่างปี พ.ศ.2544-2554 แนวโน้มของนักดื่มชายลดลงเล็กน้อยหรือ เฉลี่ยร้อยละ 0.45 ต่อปี แต่สำหรับนักดื่มหญิงมีแนวโน้มการดื่มของเยาวชนอายุ 15-24 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 ในระยะเวลาสิบปี หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1 ต่อปี โดยในแต่ละปี ประเทศไทยมีนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น 2.5 แสนคน ส่วนใหญ่นักดื่มเหล่านี้ คือ กลุ่มเด็กและเยาวชน โดยเริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่ออายุประมาณ 14 ปี ซึ่งสอดคล้องกับสถิติของ รพ.สวนปรุง ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งพัฒนาองค์กร สู่ความเป็นเลิศด้านการบำบัดรักษาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตจากแอลกฮอล์ พบว่า ภาพรวมของผู้ที่เข้ามารับการรักษาปัญหาสุขภาพจิตจากแอลกอฮอล์แบบผู้ป่วยในไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่กลับพบ กลุ่มเยาวชนที่มีอายุ 15-24ปี เข้ามารับการรักษาเพิ่มขึ้นในปี 2555 มีจำนวน 13 คน ปี 2556 และ 2557 มีจำนวน 17 คนเท่ากัน ปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อพฤติกรรมการดื่มของเยาวชน ได้แก่ การเปิดรับสื่อการเติบโตในครอบครัวที่มีนักดื่ม อิทธิพลของเพื่อนบริบทในชุมชนที่มีการดื่มมาก ค่านิยมทางสังคม และความยากง่ายในการซื้อหรือการเข้าถึง จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะเยาวชนที่ดื่มสุราจะมีความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลงหรือการถูกทำลายของสมองมากกว่า และคงอยู่ติดตัวไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ อายุที่เริ่มดื่มจึงมีความสำคัญต่อปัญหาความผิดปกติที่จะตามมาโดยเฉพาะ โรคจิตเวชที่เกิดจากการดื่มสุรา เช่น โรคจิต โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า ปัญหาด้านการนอน ปัญหาด้านเพศสัมพันธ์ โรคความจำบกพร่อง และโรคสมองเสื่อม เป็นต้น ซึ่งการรักษาจะมีหลายประเภทตามความรุนแรงของโรค เช่น การรักษาแบบจิตสังคมบำบัด การรักษาเพื่อถอนพิษสุราและการบำบัดรักษา เพื่อป้องกันการกลับไปติดเชื้อ หรือ การรักษาด้วยยา ฯลฯ ทั้งนี้ผู้มีปัญหาจากการดื่มสุราหรือต้องการเลิกสุราสามารถเข้ามารับบริการตรวจรักษาหรือปรึกษาได้ที่ รพ.สวนปรุง จ.เชียงใหม่ หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน ตลอดจนขอคำปรึกษาได้ทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ