ชวนน้องๆ เยาวชน ร่วมสืบวิถีชุมชน ฟื้นศิลปะรอบรั้วบ้าน

โครงการฟื้นฟูศิลปะรอบรั้วบ้าน ฟื้นตำนานป้อมปราบฯ-พระนคร โครงการจากหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับหอศิลป์ตาดู และสสส. จัดกิจกรรมดีๆ เน้นให้เด็กๆ ในชุมชนและคนทั่วไปได้ใช้เวลาว่างสร้างสรรค์ประสบการณ์ดีๆ โดยมีศิลปินร่วมสมัยและศิลปินแห่งชาติเข้าร่วมโครงการ

ชวนน้องๆ เยาวชน ร่วมสืบวิถีชุมชน ฟื้นศิลปะรอบรั้วบ้าน

งานครั้งนี้ เกิดจากการผสานความร่วมมือของชาวชุมชนเขตพระนคร-ป้อมปราบศัตรูพ่ายประกอบด้วย ชุมชนวังกรมพระสมมตอมรพันธ์ชุมชนบ้านบาตร ชุมชนวัดสระเกศ (ตรอกเซี่ยงไฮ้)ชุมชนสิตาราม ชุมชนวัดสุนทรธรรมทานและชุมชนจักรพรรดิพงษ์ ร่วมกับหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร และหอศิลป์ตาดู สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ในโครงการประกอบด้วยกิจกรรมเวิร์กช็อปและโครงการทางศิลปวัฒนธรรมที่คิดขึ้นโดยชุมชนเอง มีการพัฒนาโครงการขึ้นร่วมกับหน่วยงานผู้จัด ช่วยส่งเสริม สนับสนุนด้านการบริหารจัดการด้านวิชาการ ข้อมูลประวัติศาสตร์ แลกเปลี่ยนความรู้ ความรู้สึกนึกคิดร่วมกันในการพัฒนาชุมชนด้านต่างๆ เช่น ศิลปะร่วมสมัย ดนตรี การละคร แฟชั่น หรือแม้แต่วัฒนธรรมดั้งเดิมภายในชุมชน อย่างเช่น การรำวงพื้นบ้าน หัตถกรรมแบบดั้งเดิมที่หาดูที่ไหนไม่ได้อีก

นายจิตต์สิงห์ สมบุญ ดีไซเนอร์จากเกรย์ฮาวน์ นายจิตต์สิงห์ สมบุญ ดีไซเนอร์จากเกรย์ฮาวน์ กล่าวว่า ชุมชนมีอะไรน่าสนใจมาก เหมือนเข้าไปในยุคเก่าในอดีต เราเห็นชีวิตผู้คนที่ยังดำรงชีพเหมือนเดิม โดยเฉพาะที่ผมคิดว่ามันพอดีลงตัวกับสายงานผมเลย คือชุมชนวังกรมพระสมมตอมรพันธ์ ที่ชาวชุมชนมีอาชีพเกี่ยวกับการตัดเย็บผ้าที่ใช้ในกิจของสงฆ์ ผมเห็นเศษผ้าที่ถูกตัดทิ้งเลยเกิดความคิด ผมจะเอามาทำให้ชุมชนดูว่าเศษผ้าที่จะทิ้งนั้นทำอะไรได้บ้าง

ผลงานศิลปะชุมชนของจิตต์สิงห์ในครั้งนี้ นำเอาความสามารถเฉพาะตน คือเรื่องการออกแบบแฟชั่นเข้ามาร่วมกับวัสดุท้องถิ่นในชุมชน และความต้องการในชุมชน เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่แปลกตาสำหรับชุมชน เช่น ชุดกระเป๋าดีไซน์หรู ชุดทักซิโด้จากเศษผ้าจีวร

นายไพจิตร ศุภวารี ประธานสมัชชาศิลปินแห่งประเทศไทย ด้าน นายไพจิตร ศุภวารี ประธานสมัชชาศิลปินแห่งประเทศไทย ศิลปินแห่งชาติ เป็นอีกคนหนึ่งที่เมื่อได้สัมผัสกับชุมชนบ้านบาตรแล้วถึงกับเอ่ยว่า “ผมก็เหมือนเป็นคนบ้านบาตรไปแล้ว”

อาจารย์ไพจิตรและพี่น้ำตาลเข้ามาร่วมงานกับชุมชนในฐานะครูสอนร้องเพลง เนื่องจากเพลงรำวงบ้านบาตรนั้น เป็นการฟื้นฟูโดยคนเฒ่าคนแก่ที่ยังพอจำได้ว่า สมัยก่อนนั้นเนื้อร้อง ทำนองเป็นอย่างไร และนำมานั่งร้องกันยามว่างที่ศาลากลางบ้านบาตร เมื่อเกิดโครงการฟื้นฟูฯ ทีมงานจึงเชิญอาจารย์ไพจิตรมาสอนการร้องเพลง และอนาคตอาจจะสอนแต่งเพลง ในฐานะที่คนปัจจุบันยังรักและหวงแหนประเพณีของชุมชนเพื่อสืบทอดต่อไป

กิจกรรมเด็กในชุมชน การพัฒนาในแนวทางต่างๆ นั้นต้องเริ่มที่เด็ก ในโครงการฟื้นฟูฯ ดังกล่าวเริ่มที่เด็กๆ ในชุมชนโดยมีผู้ใหญ่อย่าง พี่ผาแก้วชุมชนสิตาราม ซึ่งรวบรวมเด็กในชุมชนก่อเกิดเป็นโครงการนาฏศิลป์สิตาราม นำเด็กๆ จากเพื่อนชุมชนมาเรียนรำไทย โขนเด็ก

“ดีกว่าที่เด็กๆ พวกนี้ไปเฝ้าอยู่ที่ร้านเกม หรือไปเล่นอย่างอื่น มาที่นี่ได้เล่นและมีวิชาของชุมชนเรากลับไป โตขึ้นอาจจะเอาไปใช้เข้าเรียนต่อ หรือหนูๆสืบวิถีชุมชนเป็นอาชีพได้ สมัยก่อนแถวนี้เป็นย่านศิลปะไทย ดนตรีไทย รำไทย เดี๋ยวนี้หายหมด” พี่ผาแก้วกล่าว

โครงการทำกระปุกออมสินวังกรมฯ โครงการตีบาตรเด็กของบ้านบาตรโดยครูป้าไก่ และโครงการศิลปะเด็กชุมชนตรอกเซี่ยงไฮ้ โดยพี่หนิง พี่หญิงและพี่โจ้ ก็ยกมือถามเด็กๆ ว่าอยากเรียนศิลปะ และในชุมชนมีขี้เลื่อยเยอะ เอามาปั้นเป็นประติมากรรมฉบับเด็กๆ ได้มั้ย

ชวนน้องๆ เยาวชน ร่วมสืบวิถีชุมชน ฟื้นศิลปะรอบรั้วบ้าน

มีหรือที่พี่ๆ อะเลย์แก๊งส์จะกล้าขัด อะเลย์แก๊งส์คือ กลุ่มนักศึกษาคนทำงานที่รักศิลปะและรักชุมชน รวมตัวกันเข้ามาช่วยทำโครงการโดยสอนเด็กๆ วางหลักสูตรให้เด็กๆ นอกจากสนุกแล้วยังได้ความรู้ ศิลปะยังเป็นเครื่องชักชวนให้เกิดความคิด

…ผลงานของเด็กๆ แต่ละชุมชนที่ออกมา คือภาพสะท้อนความคิดของเด็กๆ ได้เห็นทั้งความสดใส ความหม่นเศร้า และเรื่องราวที่มากกว่าคำพูดที่พวกเขาจะหาได้จากคลังคำคนวัยเยาว์

“เด็กซนมาก น่ารักมาก ผมเรียนฝึกสอนเด็กทำศิลปะมา ถือว่าประสบการณ์ครั้งนี้ไม่มีสอนในโรงเรียนจริงๆ ความเป็นอิสระ สดใส มีที่วิ่งเล่นอยู่ในชุมชน ผมเห็นความอบอุ่นที่ไม่เกิดจากเงินตรา แต่เกิดจากความใกล้ชิดกันในครอบครัว ในชุมชน ผมได้เห็นตัวเอง เรียนรู้ และรู้จักตัวเองจากการทำงานกับชุมชนและเด็กๆ ครับ” พี่นาวิน นิสิตฝึกสอนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เข้ามาร่วมกิจกรรมกล่าว

โครงการฟื้นฟูศิลปะรอบรั้วบ้าน

กิจกรรมดีๆ จะมีทุกวันเสาร์-อาทิตย์ตลอดเดือนพฤษภาคม ทั้งกิจกรรมอบรมสอนศิลปะนาฏศิลป์ไทย เช่น โขนและรำไทย เวิร์กช็อปทำเปเปอร์มาเช่ เรียนทำบาตรเด็ก หรือจะไปดูชาวบ้านบาตรซ้อมเพลงรำวงบ้านบาตรอย่างสนุกสนานกันทุกตอนเย็นก็ดี พร้อมเดินเที่ยวชมพื้นที่ดั้งเดิมเกาะรัตนโกสินทร์ กินอาหารอร่อยดั้งเดิมตั้งแต่สำราญราษฎร์ถึงนางเลิ้ง

ส่วนในเดือนกรกฎาคม จะมีกิจกรรมที่ศิลปินแลกเปลี่ยนกับชุมชนเพื่อพัฒนาผลงานดั้งเดิมสู่ผลงานศิลปะ ก่อนจะไปดูนิทรรศการศิลปะสู่ชุมชนตอนตะลุยชุมชนอย่างคนมีศิลปินในช่วงเดือนสิงหาคม ที่รวบรวมเอาผลงานและไอเดียของชาวชุมชนขนมาให้ดูกัน ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร

ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในทุกหลืบของมุมเมืองที่เราสามารถเจอได้ ไม่มา…ไม่รู้

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

Shares:
QR Code :
QR Code