ชวนนักดื่มพักตับ ท้ามิชชั่น Virtual Run 90 วัน 90 กิโลเมตร
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ภาพโดย สสส.
ใครๆ ก็รู้ว่า การดื่มแอลกอฮอล์นั้น มีแต่ "เสีย" กับ "สูญเสีย" นอกเหนือจากการที่คนไทย เสียชีวิตจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปีละ มากกว่า 26,000 คน ทั้งด้วยสาเหตุ "เมาแล้วขับ" ที่ทำให้อุบัติเหตุทางถนนสูงติดอันดับโลก ไม่รวมบาดเจ็บและพิการ อีกมากมาย ไปจนถึงปัญหาสังคม ซึ่งหากจะคิดมูลค่าความเสียหายปีละมากกว่า 2 แสนล้านบาท แม้แต่ในระดับปัจเจกบุคคลเอง การดื่มแอลกอฮอล์ ก็ยังเป็นต้นเหตุสำคัญของการเสียสุขภาพมากมาย โดยเฉพาะแอลกอฮอล์มีผลกระทบโดยตรงต่อ "ตับ" ที่คร่าชีวิตคนไทยมาแล้วไม่น้อยเช่นกัน
"ตับ" เป็นอวัยวะที่อยู่ชายโครงด้านขวา เป็นอีกหนึ่งอวัยวะในร่างกายเราที่ต้องรับบทหนักที่สุด หน้าที่ของตับนั้น เป็นแหล่งผลิตและ สะสมพลังงาน กำจัดของเสียออกจากร่างกาย เรียกว่าทุกครั้งที่ร่างกายย่อยและ ดูดซึมอาหารจากกระเพาะอาหารและลำไส้ สารอาหารและวิตามินจะถูกตับสะสมและปรับเปลี่ยนดัดแปลงไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับร่างกาย และสะสมเป็นพลังงาน เพื่อใช้ในคราวจำเป็น รวมทั้ง แยกกรอง กำจัดสารพิษออกจากร่างกาย และผลิตน้ำย่อย เรียกว่าน้ำดี เพื่อย่อยสารอาหารจำพวกไขมันผ่านทางท่อน้ำดี เพื่อย่อยไขมันในลำไส้ ตับจึงเหมือนบ่อบำบัดน้ำเสียที่ต้องคอยกรองสิ่งไม่ดีออกจากร่างกายตลอดเวลา
โดยปกติแล้วตับเป็นอวัยวะที่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าหากมีการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ จะทำให้เกิดผลเสียต่อตับในระยะยาว เกิดการสะสมของพังผืดและทำให้ตับแข็ง การดื่มที่ "ถี่" เกินไป จะไปทำร้ายเซลล์ของตับได้ และยังเป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดโรคตับ ไม่ว่าจะเป็นโรคตับแข็ง ตับวาย รวมถึงมะเร็งตับตามมา แต่ทุกคนอย่าเพิ่งตกใจ เพราะยังพอ มีข่าวดีอยู่บ้าง นั่นคือ ถ้าหากเรามีการเว้นระยะหรืองดการดื่มแอลกอฮอล์ ตับก็จะฟื้นฟูตัวเองได้ แม้จะเริ่มตับแข็งก็ยังฟื้นได้ในระดับหนึ่ง เพียงเริ่มหันมา"พักตับ" อย่างจริงจัง
ในช่วงปีที่ผ่านมา หลายคนอาจได้ยินวาทกรรม "พักตับ" ที่กลายเป็นกระแสกระตุกใจชาววัยทีนไม่น้อย แนวคิดดังกล่าวเกิดจากไอเดียของสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ต้องการกระตุ้น และปลุกกระแสการรณรงค์งดเหล้า เข้าพรรษา พร้อมทั้งเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไป และผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์หันมาตั้งใจดูแลสุขภาพ ลด ละ เลิกแอลกอฮอล์และอบายมุข ร่วมส่งเสริมค่านิยมการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงในห้วงเวลา 3 เดือน "พักตับ" นอกจากจะหมายถึงการ งดดื่มเหล้าช่วงเข้าพรรษาแล้วยังสื่อเรื่องการหันมาดูแลตับของเรา ให้อยู่ไปนานๆ
จากความสำเร็จของการรณรงค์ ปีที่ผ่านมา ทำให้ใกล้ฤดูกาลเข้าพรรษาที่กำลังจะเวียนมาครบรอบในปีนี้ ทาง สคล. และ สสส. จึงขอผลักดันงานรณรงค์งดเหล้า กันอีกครั้ง โดยจัดกิจกรรม "วิ่งพักตับ ปอด ขยับตับพักผ่อน Season 2" ปี 2562 สำหรับปีนี้ได้สอดแทรกความแปลกใหม่ของกิจกรรม ด้วยการหยิบเทรนด์ Virtual Run ที่กำลังได้รับความสนใจมาชวนทุกคนวิ่งในมิติใหม่ และช่วยสร้างสีสันและความคึกคักให้คนไทยสามารถวิ่งพักตับสะดวกง่ายกว่าเดิม ในชื่อกิจกรรม "วิ่งพักตับ 90K. 90 days ตับ..จะกลับมาดี เริ่มวันนี้งดเหล้า"
ธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า สคล. และ สสส. ได้เริ่มรณงค์งดเหล้าเข้าพรรษา มาตั้งแต่ปี 2546 มีการรณรงค์เชิญชวนให้ ประชาชนตระหนักและร่วมงดเหล้าเข้าพรรษา มาหลายวิธี หลายรูปแบบ สำหรับปีนี้ด้วยกระแสสุขภาพที่มาแรง ทางสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายเยาวชน SDN ชมรมคนหัวเพชร และภาคีเครือข่ายร่วมจัด โครงการเดิน-วิ่งรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา "วิ่งพักตับ ปอดขยับตับพักผ่อน Season2 ปี2562 " ตอน "วิ่งพักตับ 90 k. 90 days ตับ…จะกลับมาดี เริ่มวันนี้งดเหล้า" ซึ่งนอกจากจะการวิ่งแบบ VIRTUAL RUN (วิ่งเก็บระยะ) ยังมีกิจกรรมวิ่งสนามจริง วิ่งพักตับฯใน 9 ภาค 10 พื้นที่ เพื่อเชิญชวน ให้ประชาชนทั่วไป และผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ หันมารักสุขภาพ ใช้โอกาสเข้าพรรษานี้ตั้งใจดูแลสุขภาพลดละเลิกอบายมุข
"สสส. และสคล. พยายามหาแนวทางรณรงค์ใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อให้คนที่ตั้งใจงดเหล้าเข้าพรรษาตลอด 3 เดือนไม่หันกลับไปหาเหล้าเบียร์อีก แคมเปญ "วิ่งพักตับ" จะเป็นกิจกรรมใหม่ในช่วงเข้าพรรษา ให้คนหันมาดูแลรักษาสุขภาพด้วยกิจกรรมการออกกำลังกายเดินวิ่งพร้อมไปกับการลดละเลิกเหล้า ซึ่งเป็น 2 เรื่องที่ทำพร้อมกันได้ในเวลาเดียวกัน และการเดินวิ่งนั้น เป็นการดูแลสุขภาพที่ทำได้ง่าย ใช้อุปกรณ์น้อยชิ้น เป็นเทรนด์สุขภาพที่สำคัญ ที่กำลังเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในทุกพื้นที่" ธีระ กล่าว
ด้าน ครูดิน หรือ สถาวร จันทร์ผ่องศรีอดีตนักวิ่งมาราธอนทีมชาติไทย และ ยังเป็นครูผู้สร้างนักวิ่งหน้าใหม่ในการดูแลสุขภาพร่างกาย กล่าวว่า ตับคนเรามีความมหัศจรรย์ คือฟื้นฟูตัวเองได้ เมื่อเรา ออกกำลังกายไป และให้เขาได้รับ สารอาหารที่ดีจะทำให้เขาลดปริมาณของเสียที่ต้องกำจัดทิ้ง ไม่ต้องทำงานหนัก
"เคยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นจังหวัดอันดับต้นๆ ที่มีปัญหาผู้ดื่มสุรามากที่สุด ผลวิจัยนั้นค้นพบว่าคนที่ ไม่ดื่มสุราภายใน 3 เดือน หรือเขาได้พักตับ สามารถมีวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงได้ รวมถึงมีสุขภาพดีขึ้น ผิวพรรณ อาการนอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิทก็ดีขึ้น"
หากถามว่าระหว่างพักตับเฉยๆ กับพักตับแล้วออกกำลังกายด้วยต่างกันไหม ผมยกตัวอย่างนะ ถ้าเราพักตับอย่างเดียว ไม่ออกกำลังกาย ก็เหมือนเราไม่ได้เติมสารหรือสิ่งที่เป็นพิษเข้าไปสู่กระบวนการทำงานของตับ ตับก็จะกลับมาทำงานดีขึ้น แต่ในกระบวนการสกัดแอลกอฮอล์ของตับจะเกิดสารพิษ ที่ทำลายผิวตับ ให้ตับอักเสบและทำให้เก็บสะสมไขมันที่ตับไว้ และอาจพัฒนาไปเป็นตับแข็งและตับวาย แต่การออกกำลังกายจะยิ่งช่วยให้มีการดึงไขมันที่พอกตับไปใช้ จะลดไขมันที่พอกตับลง เมื่อสารอาหารต่างๆ เข้าสู่ตับก็จะได้รับเต็มๆ มีประสิทธิภาพขึ้น นอกจากนี้เรื่องโภชนาการก็มีความสำคัญ เพราะมีส่วนช่วยการบำรุงตับ เช่น การบริโภคอาหารมี โฟเลทสูง กากใย ผักผลไม้ โปรตีน และ ลดในส่วนที่มีไขมันและอาหารรสจัด
"เมื่อคุณออกกำลังกายต่อเนื่องๆ จะเป็นนิสัย ในหลักวิชาการ 21 วัน แต่จริงๆ แล้วต้องประมาณ 29-30 วัน ร่างกายจะคุ้นชิน และเริ่มปรับเปลี่ยน คุณจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี โดยจะมี การซ่อมแซมสร้างเสริม ชดเชยสิ่งที่เรา เอาเข้าหรือออกไปเมื่อร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ สกัดส่วนที่เคยมีสารพิษ พอเรา เอาเข้าไปอีกจะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านนิดๆ นี่คือความมหัศจรรย์ของร่างกายมนุษย์" ครูดินอธิบาย
การออกกำลังกายมีความมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง เพราะจะส่งผลให้สมรรถภาพหรือกลไกการทำงานร่างกายมีการปรับเปลี่ยน และจะมีปฏิกิริยาต่อต้านสิ่งที่เป็นสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย ครูดินยกตัวอย่างว่า ถ้าคนดื่มเหล้า เมื่อได้มาออกกำลังกายแข็งแรงแล้ว หากกลับไปดื่มอีกร่างกายเราจะมีปฏิกิริยา ไม่ว่าจะเป็นแอลกอฮอล์ หรือบุหรี่ เพราะมันระคายเคืองต่อการดำรงชีวิต
"การออกกำลังกายทุกประเภทมีผลดีต่อสุขภาพ แต่การวิ่งเป็นกิจกรรมที่ง่ายที่สุด ใครเดินได้ ก็วิ่งได้ เป็นกิจกรรมที่ไม่ซ้ำซ้อน ไม่ใช้เทคนิคเยอะ หากเราวิ่งอย่างต่อเนื่อง สัก 5-6 วันเราจะเริ่มรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลง ไม่เฉพาะร่างกายและเป็น ทางจิตใจ" ครูดินให้ข้อมูล
"ในกรณีนักวิ่งหน้าใหม่ให้เริ่มจาก เดินก่อน" ครูดินแนะนำต่อว่า "แล้วค่อยเพิ่มอัตราความเร็วและระยะเวลามากขึ้น จากนั้นก็เดินช้าสลับเดินเร็ว แล้วค่อยๆ ลดการเดินช้าลง จนสามารถที่เราจะเดินเร็วได้อย่างต่อเนื่อง 20 นาที แล้วจึงเพิ่มเลเวลให้สลับกับเดินเร็ว และค่อยๆ เพิ่มการวิ่งมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญ เราต้องรู้ข้อจำกัดของร่างกายตัวเอง ว่าควรออกกำลังกายมากน้อย แค่ไหน เพื่อความปลอดภัย ถ้าเป็นไปได้ ควรพบแพทย์ ไม่ได้หมายความว่าเราผิดปกติ แต่การพบแพทย์จะทำให้เราวางแผนความหนักเบาของการออกกำลังกายที่ปลอดภัย"
การออกกำลังกายไม่มีข้อห้าม แต่มีข้อจำกัดสำหรับคนที่มีโรคภัย ซึ่งมีภาวะขีดจำกัด อย่างเช่น เบาหวาน หัวใจ ความดันเป็นต้น ควรเลือกการเคลื่อนไหวที่หลีกเลี่ยงไปกระทบกับส่วนที่ร่างกายกำลังบอบช้ำอยู่ หรืออย่าหักโหมมากนัก คนที่เป็นพิษสุราเรื้อรัง หรือตับแข็งก็สามารถพอออกกำลังกาย ได้ เพียงแต่วางแผนให้เหมาะสม ที่สำคัญเมื่อคนเรารู้สึกว่าสุขภาพดีขึ้น จะทำให้เราสามารถจัดสรรการดำรงชีวิต ที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การรับประทานอาหาร การพักผ่อน การทำงาน และนี่เป็นที่มาของวิ่งเปลี่ยนชีวิตนั่นเอง