ชวนคนไทยไป Run เพิ่มกิจกรรมทางกาย ลดเสี่ยง NCDs
เรื่องโดย อัจฉริยา คล้ายฉ่ำ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจากงานแถลงข่าว Thai Health Day Run 2024 วิ่งสู่วิถีชีวิตใหม่ ครั้งที่ 12
ภาพโดย: อัจฉริยา คล้ายฉ่ำ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
ปัจจุบันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง กลายเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในประเทศไทย โดยปี 2565 มีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 164,720 ราย ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมที่ไม่ดีในการดำเนินชีวิต เช่น ขาดการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์
จากผลสำรวจสถานการณ์กิจกรรมทางกาย โดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีกิจกรรมทางกายลดลงอย่างชัดเจน 74.6% ในปี 2562 เหลือ 54.3% ในปี 2563 เป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข
แม้ว่าอายุคาดเฉลี่ยของคนไทยในปี 2567 จะอยู่ที่ 76.56 ปี และ จัดอยู่ในอันดับที่ 78 ของโลก ตามข้อมูลจาก Worldometers.info แต่การมีชีวิตที่ยืนยาวควรคู่ไปกับ คุณภาพชีวิตที่ดี การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเริ่มตั้งแต่วันนี้ จะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และทำให้ชีวิตในอนาคตแข็งแรงและมีความสุขมากขึ้น
ดังนั้น การเสริมสุขภาพ ด้วยการ “Run” ภายใต้แนวคิด “เมื่อคุณเริ่มวิ่ง หัวใจเต้นแรง” โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมาพันธ์ชมรมเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพไทย ในงาน Thai Health Day Run 2024 ครั้งที่ 12 ใน วันที่ 8 ธันวาคม 2567 ณ สะพานพระราม 8 ไม่เพียงเพื่อเป้าหมายใหญ่กว่าแค่การออกกำลังกายเท่านั้น แต่ยังมีส่วนกระตุ้นให้เกิด “นักวิ่งหน้าใหม่” สร้างสังคมกระฉับกระเฉงสู่สังคมสุขภาพดีอย่างยั่งยืนอีกด้วย
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานแถลงข่าวฯ ถึงภาพรวมการทำงานสร้างเสริมสุขภาพว่า สสส. มุ่งจุดกระแสกิจกรรมทางกายเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้มีสุขภาพดี ลดความเสี่ยงเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ในอนาคต
การวิ่งช่วยให้หัวใจแข็งแรง ลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจและหลอดเลือด กระตุ้นระบบเผาผลาญและควบคุมน้ำหนักปล่อยสารเอ็นโดรฟิน ทำให้จิตใจสดใสและลดความเครียด
การเริ่มต้นด้วยกิจกรรมง่าย ๆ อย่างการวิ่ง จะช่วยปลูกฝังนิสัยรักสุขภาพ ซึ่งสามารถขยายไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านอื่น เช่น การเลือกรับประทานอาหารที่ดี การปรับเวลานอนให้สมดุล การเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
ที่สำคัญ การวิ่งไม่ได้ช่วยแค่ตัวเราเอง แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้คนรอบข้าง เริ่มจากครอบครัวจนถึงชุมชน เมื่อทุกคนเห็นประโยชน์ของการมีสุขภาพดี และ การมีสุขภาพที่ดี ไม่เพียงแต่ช่วยลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แต่ยังช่วยยกระดับอายุคาดเฉลี่ยของคนไทยให้สูงขึ้นได้อย่างยั่งยืน
นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมา สสส. สานพลังภาคีเครือข่ายรณรงค์ส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่บ้าน (Fit from Home) ออกแบบและพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ทำให้ในปี 2565 – 2566 ระดับการมีกิจกรรมทางกายขยับเพิ่มเป็น 62% และ 68.1% ตามลำดับ การจัดกิจกรรมครั้งนี้มุ่งเพิ่มอัตราการมีกิจกรรมทางกายให้เพียงพอกลับมาสู่สภาวะปกติอีกครั้ง
ด้าน น.ส.นิรมล ราศรี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. เล่าว่า กิจกรรมเดิน-วิ่ง เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมสูง และทุกคนสามารถทำเองได้ง่าย อีกทั้งสสส.ยังได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาแอปพลิเคชัน Wind training โดยใช้ AI เข้ามาช่วยฝึกซ้อมวิ่งตามตารางที่เหมาะสม ในการทำกิจกรรมทางกายควบคู่ไปกับการจัดงานวิ่งที่ได้มาตรฐานระดับสากล Safe Fair Fun วิ่งอย่างปลอดภัย กติกายุติธรรมและได้สนุกสนานด้วย
งานนี้ไม่จำกัดเพศ-วัย ไม่ว่าคุณจะเป็นนักวิ่งหน้าใหม่ หรือนักวิ่งวัยเก๋า ก็มาร่วมกิจกรรมกันได้ รองรับนักวิ่งกว่า 3,500 คน มีเส้นทางเพื่อจัดการความปลอดภัยในจุดเสี่ยง มีหน่วยแพทย์ รถพยาบาล จุดปฐมพยาบาลตลอดเส้นทาง
การวิ่งครั้งนี้ มีระยะทาง 3 ระยะ ได้แก่ 3 กม., 5 กม. และ 10 กม. พร้อมกิจกรรมอื่น ๆ ภายในงาน เช่น การออกกำลังกายแบบกลุ่ม ตรวจสุขภาพฟรี การให้คำปรึกษาด้านโภชนาการและสุขภาพจิต พร้อมนิทรรศการการป้องกันโรค NCDs
“เราขอเชิญชวนทุกคนมาร่วมกิจกรรม “Run” ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การวิ่งเพื่อสุขภาพ แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเพิ่มกิจกรรมทางกายที่ช่วยลดความเสี่ยงของ NCDs ได้อย่างชัดเจน สนใจติดตามรายละเอียดได้ที่ https://race.thai.run/ และ เฟซบุ๊กแฟนเพจ Thai Health DaynRun” น.ส.นิรมล กล่าว
เพื่อให้การวิ่งของทุกคนสนุกและได้สุขภาพ ขอนำเทคนิคการเตรียมตัวอย่างไรก่อนวิ่งมาฝากให้เข้าร่วมได้ง่ายที่สุด
- เริ่มจากตัวคุณเอง เตรียมตัวและฝึกซ้อม โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยวิ่ง ให้เริ่มจากการเดินเร็ว หรือวิ่งแบบช้า ๆ และค่อย ๆ ปรับระยะทางกับเวลา ในแต่ละวัน เช่น 10-15 นาที
- สร้างแรงจูงใจโดยเข้าร่วมกิจกรรมวิ่งใกล้บ้าน วิ่งกับครอบครัว เพื่อน หรือเข้าร่วมกลุ่มวิ่งในชุมชน ตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ในสัปดาห์แรก แล้วค่อย ๆ เพิ่มระยะทาง
- เมื่อลงสนาม สังเกตตัวเองอยู่เสมอ หากหายใจไม่ทัน เหนื่อย เวียนศีรษะ เจ็บหน้าอก ควรหยุดวิ่ง และแจ้งเจ้าหน้าที่หรือคนรอบข้างทันที
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ น้ำเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการวิ่ง เพราะทุก ๆ ก้าวจะเสียเหงื่อหากขาดน้ำอาจมีผลกระทบต่อร่างกาย ทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะ หมดแรง รวมถึงเป็นตะคริวได้
- เมื่อวิ่งเสร็จเรียบร้อย จะต้องทำการผ่อนคลายหลังวิ่ง เดินช้า ๆ ก่อนที่จะนั่งพัก เพื่อให้อัตราการเต้นของหัวใจกลับมาเป็นปกติและให้เลือดได้ไหลเวียนในร่างกายได้เต็มที่
สสส. ขอเชิญชวนเข้าร่วมกิจกรรมเดิน-วิ่ง เพื่อสุขภาพที่ดีวันนี้ คือ การลงทุนเพื่ออายุยืนที่มีคุณภาพในวันหน้า ” และ การวิ่งวันนี้ อาจหมายถึงอนาคตที่ดีกว่าในวันพรุ่งนี้” เพื่อสุขภาพคุณเองและคนที่คุณรัก