ชวนคนไทยเช็คสุขภาพ ลดเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
กรมควบคุมโรคห่วงใยอยากเห็นคนไทยสุขภาพดี ชวนตรวจเช็คสุขภาพลดเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 16-19 มิถุนายนนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในงานมติชน เฮลธ์ แคร์ 2011 พร้อมแนะประชาชน เริ่มต้น…ป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วยการปฏิบัติตัวตามหลักง่ายๆ ที่เรียกว่า ใส่ใจ 3 อ. บอกลา 2 ส.
นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นกลุ่มโรคที่เป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุขของไทย ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง (หรือที่บางท่านเรียกว่าอัมพฤกษ์อัมพาต) โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นเหตุคนทั่วโลกเสียชีวิตปีละกว่า 17 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก
องค์การอนามัยโลก คาดว่าในปี 2558 การเสียชีวิตจากโรคนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคนทั่วโลก ส่วนคนไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ปีละ 35,050 ราย หรือกล่าวได้ว่ามีผู้ที่เสียชีวิตจากโรคนี้ 1 คนในทุกๆ 15 นาที ส่วนผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลกว่า 6 แสนราย เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวในรอบ 10 ปี และแนวโน้มพบป่วยในคนอายุน้อยลง
ต้นเหตุที่ส่งเสริมให้คนไทยเป็นโรคนี้กันมากขึ้นและเกิดในอายุที่น้อยลง เป็นเพราะรูปแบบการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต มีความไม่สมดุลระหว่างการกินและการออกแรง โดยการกินมากเกินพอดี ไม่ถูกสัดส่วน กินอาหารรสเค็ม หวานและมันสูง กินผักผลไม้น้อย ใช้เครื่องอำนวยความสะดวกมากขึ้น เคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ประกอบกับมีการสังสรรค์โดยการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ซึ่งวิถีชีวิตดังกล่าวเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน อ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และส่งผลให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตามมา
โรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ร้อยละ 80 แต่เมื่อป่วยเป็นโรคแล้วจะรักษายากมาก ไม่หายขาด ดังนั้นประชาชนควรเริ่มต้นป้องกันตัวเองเสียแต่วันนี้ ด้วยการปฏิบัติตามหลักง่ายๆ ที่เรียกว่า ใส่ใจ 3 อ. บอกลา 2 ส. ได้แก่ กินอาหารแต่พอดี ออกกำลังกายพอเพียง อารมณ์ผ่อนคลาย และไม่สูบบุหรี่ ลดดื่มสุรา และถ้าประชาชนสามารถรู้ความเสี่ยงของตนเอง ถึงแม้ยังอยู่ในกลุ่มเสี่ยงน้อยก็ควรที่จะเริ่มดำเนินชีวิตที่สมดุล ส่วนคนที่เสี่ยงสูงนอกจากการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตแล้ว ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และสังเกตอาการผิดปกติของตนเอง หากมีอาการให้ไปพบแพทย์ก่อนวันนัด ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
ด้านนางนิตยา พันธุเวทย์ นักวิชาการสาธารณสุข สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า ในเบื้องต้นประชาชนสามารถตรวจสอบความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ด้วยตัวเองตามแบบทดสอบความเสี่ยงด้านล่างนี้การแปลผลความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด หากพบว่าคุณมีรายการความเสี่ยงข้างต้น 0-1 ข้อ แปลว่าเสี่ยงน้อย, มีรายการความเสี่ยง 2-4 ข้อ แปลว่าเสี่ยงสูงปานกลาง และหากมีรายการความเสี่ยง 5-7 ข้อ แปลว่าเสี่ยงสูงมาก
รายการความเสี่ยง (มี/ไม่มี)
1. มีอายุ 35 ปี ขึ้นไป
2. ปัจจุบันสูบบุหรี่ หรือ ดมควันบุหรี่เป็นประจำ
3. มีรอบเอวเกินในชาย 90 เซนติเมตรขึ้นไป (36 นิ้ว) หรือหญิง 80 เซนติเมตรขึ้นไป
4. เคยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง
5. เคยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคเบาหวาน หรือตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
6. เคยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่ามีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ
7. มีญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่น้อง ลูก) ที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย, เคยได้รับการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ, ใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ, อัมพฤกษ์ อัมพาต, เสียชีวิตจากไม่ทราบสาเหตุ หรือเสียชีวิตจากหลอดเลือดหัวใจ ก่อนอายุ 55 ปี ในเพศชาย หรือก่อนอายุ 65 ปี ในเพศหญิง
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง