ชวนคนไทยรวมพลังบริจาคโลหิต
ที่มา : แนวหน้า
แฟ้มภาพ
สภากาชาดไทย เปิดตัวแคมเปญ "Big Blood Campaign" กับ 2 โครงการใหญ่ ประจำเดือนมิถุนายน ได้แก่ วันผู้บริจาคโลหิตโลก 2561 (World Blood Donor Day 2018 ) วันแห่งการขอบคุณผู้บริจาคโลหิต ทั่วโลก ปีนี้มีคำขวัญคือ "Be there for someone else. Give blood. Share life – ทุกชีวิตมีความหมาย ให้โลหิต ให้ชีวิต" และอีก 1 โครงการ คือ Missing Type ภายใต้คำขวัญ "1 ตัวอักษร ABO ที่หายไป = ลมหายใจ ของผู้ป่วย" เชิญชวนร่วมรณรงค์ให้มีความตระหนักเรื่องการบริจาคโลหิต เป็นครั้งแรกของประเทศไทย
นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการ สภากาชาดไทย กล่าวว่า สภากาชาดไทย ได้จัดโครงการ "Big Blood Campaign" เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึง ความจำเป็นของการบริจาคโลหิต และร่วมกันเป็นผู้ให้ด้วยการบริจาคโลหิตด้วยความสมัครใจ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ซึ่งมีถึง 2 โครงการใหญ่ ได้แก่ โครงการ วันผู้บริจาคโลหิตโลก 2561 ซึ่งสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC), องค์การอนามัยโลก (WHO), สหพันธ์ผู้บริจาคโลหิตระหว่างประเทศ (FIODS) และสมาคมบริการโลหิตระหว่างประเทศ (ISBT) ที่ได้กำหนดให้วันที่ 14 มิถุนายน เป็นวันผู้บริจาค โลหิตโลก และเป็นวันที่ระลึกถึง คาร์ล แลนด์สไตเนอร์ ชาวออสเตรีย ผู้ค้นพบหมู่โลหิตระบบเอบีโอ ซึ่งมี ความสำคัญอย่างยิ่งต่องานบริการโลหิตของโลก และเชิญชวนให้ กาชาดทั่วโลก จัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง เพื่อขอบคุณผู้บริจาคโลหิต
วันผู้บริจาคโลหิตโลก ปีนี้มี สโลแกน "Be there for someone else. Give blood. Share life – ทุกชีวิตมีความหมาย ให้โลหิต ให้ชีวิต" ได้จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ถนนอังรีดูนังต์ เพื่อเป็นวันแห่งการขอบคุณ ผู้บริจาคโลหิตทั่วโลก และเพื่อสร้างความตระหนักเรื่องของการบริจาคโลหิตด้วยความสมัครใจ ไม่หวังสิ่งตอบแทน ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนด ให้ทุกประเทศทำให้ได้ในปี พ.ศ. 2563 และเพื่อส่งเสริมให้คนในสังคมมองเห็น คุณค่าของการให้ และเกิดความช่วยเหลือ ซึ่งกันและกัน
อีกหนึ่งโครงการคือ Missing Type ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ได้ตอบรับร่วมรณรงค์โครงการร่วมกับ องค์กร Alliance of Blood Operators เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและ รณรงค์ด้านการบริจาคโลหิตด้วยความสมัครใจ ร่วมกับอีก 34 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา แคนาดา อิตาลี ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เป็นต้น ภายใต้สโลแกน "1 ตัวอักษร ABO ที่หายไป = ลมหายใจของผู้ป่วย" เพราะตัวอักษร A B O บนชื่อต่างๆ ที่หายไป หมายถึง ความหมายที่เปลี่ยนไป เช่นเดียวกันหาก A B O คือ กรุ๊ปเลือดที่หายไป ก็หมายถึงลมหายใจของชีวิตผู้ป่วยที่หายไปด้วยเช่นกัน เพื่อให้ตัวอักษรเหล่านี้กลับมาก็ขอให้ทุกคนช่วยกันบริจาคโลหิต
นาวาโทหญิงแพทย์หญิง อุบลวัณณ์ จรูญเรืองฤทธิ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เผยถึง สถานการณ์การจัดหาโลหิตในประเทศไทย ในภาพรวม กล่าวว่า ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ยังไม่สามารถจัดหาโลหิตได้สม่ำเสมอตลอดปี บางช่วงเวลามี ปริมาณโลหิตสำรองไม่เพียงพอ ในขณะที่ ความต้องการโลหิตเพิ่มมากขึ้น พบว่า มีผู้บริจาคโลหิตปีละ 1 ครั้ง จำนวน 55% ส่วนผู้บริจาคโลหิตปีละ 4 ครั้ง สม่ำเสมอทุก 3 เดือน มีเพียงจำนวน 8% เท่านั้น ดังนั้น หากมีการบริจาค โลหิตสม่ำเสมอทุก 3 เดือน และเพิ่มการบริจาคโลหิตจากปีละ 1 ครั้ง เป็น 2 ครั้ง จะทำให้มีโลหิตเพียงพอตลอดทั้งปี จะเห็นได้ว่าประเทศไทยกำลังใกล้บรรลุเป้าหมาย การมีโลหิตที่เพียงพอจากผู้บริจาคโลหิตด้วยความสมัครใจ ไม่หวังสิ่งตอบแทน ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดให้ทุกประเทศทำให้ได้ในปี พ.ศ. 2563
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ยังได้จัดทำ Viral Video เพื่อรณรงค์สร้างกระแสการ บริจาคโลหิตในโครงการ คาดหวังว่า การจัดโครงการครั้งนี้ จะทำให้คน ในสังคมเกิดความตระหนัก และรับรู้เรื่องการบริจาคโลหิตเป็นเรื่องจำเป็น และเป็นหน้าที่ที่ทุกคนรับผิดชอบร่วมกัน เพราะหากตัวอักษร A B O ซึ่งเปรียบเสมือนกรุ๊ปเลือดหายไป นั่นหมายถึง ลมหายใจของผู้ป่วยที่หายไปด้วยเช่นกัน สอบถามรายละเอียดได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และจัดหาผู้บริจาคโลหิต โทร.02-2564300, 02-2639600-99 ต่อ 1760, 1101 ติดตามได้ที่ Fanpage ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย