ชวนคนไทยปลุกพลังเผือกในตัวคุณ
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ไทยโพสต์
เอ่ยถึงความเผือก ใครได้ยินต้องเบ้ปาก เพราะถูกสังคมตีตราไปโดยปริยายว่า "คนชอบเผือก" นั้น ต้องมี "นิสัย" ไม่น่ารัก
แต่หารู้ไม่ว่าหากเราลองมองอีกด้านของความเผือก มันก็มีแง่บวก และ ได้ประโยชน์มากกว่าที่คิด
หากอยากรู้จักวิธีเผือกยังไงให้สร้างสรรค์ ต้องรู้จักพลังเผือกทีมนี้!
นิยามความ "เผือก"
หากถามว่าอะไรคือความเผือก เรื่องนี้ ถูกขยายโดย ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เล่าถึงที่มาของความ เผือกว่า เกิดจากการรับรู้ปัญหาความ ไม่ปลอดภัยของผู้หญิงไทยที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามทางเพศตลอดเวลา ไม่เว้นแม้แต่ในที่สาธารณะ
ดังนั้น ทีมเผือกจึงหมายถึงการเข้าแทรกแซงเมื่อพบเจอเหตุการณ์การคุกคามทางเพศ
โดย ภรณี เอ่ยว่า ส่วนหนึ่งเพราะสังคมผู้หญิงยุคใหม่ที่จำเป็นต้องออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น จึงยากที่จะหลีกเลี่ยง ความเสี่ยงกับ "ภัย" ต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่การถูกคุกคามทางเพศในที่สาธารณะ และทั้งที่รู้กันดีว่า "การคุกคามทางเพศ" เป็นการละเมิดสิทธิ์ที่ไม่ใช่เรื่องปกติ แต่ปัจจุบันกลับพบมากขึ้น ที่สำคัญคนในสังคมส่วนใหญ่กลับเลือกที่จะ เพิกเฉยที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำดังกล่าว
"การคุกคามทางเพศทำให้สังคมไม่ปลอดภัย และบั่นทอนคุณภาพชีวิตของคนในสังคม การโดนละเมิด ทั้งทางกาย ทางคำพูด ด้วยการตั้งคำถามด้วยเรื่องส่วนตัวหรือกิริยาต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นการละเมิดสิทธิ ผู้อื่น สสส. จึงสนับสนุนให้มีการพัฒนา และ เสริมศักยภาพกลไกปัญหาการคุกคามทางเพศ รวมทั้งหนุนเสริมการทำงานของเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงเพื่อสร้างให้ เกิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและคนทุกเพศวัย"
เรื่องนี้มันต้อง เผือก
อีกฝ่ายที่ช่วยเสริมตีแผ่ปัญหาเรื่องนี้ รุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง ผู้จัดการฝ่ายโครงการและนโยบาย องค์กรแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ให้ข้อมูลระบุชัดว่า ชีวิตผู้หญิงไทย ไม่ปลอดภัยอย่างที่คิดจริง และปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้หญิงมีโอกาสถูกลวนลามและคุกคามทางเพศสูง ทั้งยังเกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะ สถานที่เปลี่ยว หรือแม้แต่บนรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งผลสำรวจปี 2560 พบว่าผู้หญิงไทยเคยผ่านประสบการณ์ถูกคุกคามทางเพศในที่สาธารณะสูงถึงร้อยละ 45
ภรณี กล่าวต่อว่า การคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นบ่อยบนระบบขนส่งสาธารณะถือเป็นความรุนแรงทางเพศรูปแบบหนึ่ง โดยกว่า 1 ใน 3 ของผู้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เพศต่างๆ เคยถูกคุกคามทางเพศ ทั้งนี้ ผู้ที่เคยถูกคุกคามทางเพศบนขนส่งสาธารณะ อายุมากสุด คือ 74 ปี และ อายุน้อยสุด คือ 12 ปี โดยเป็นเพศหญิง ทั้งสองกรณี
"สสส. พยายามเจาะลึกลงไปว่า รถโดยสารสาธารณะมีอะไรบ้าง ที่เราเข้าไปขอความร่วมมือจัดการ ซึ่งที่ผ่านมามีความร่วมมือในส่วนของ ขสมก.ไปแล้ว"
และแนวทางดังกล่าวยังขยายผลมา ในช่วงปีใหม่ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประชาชน ส่วนใหญ่จะเดินทางกลับบ้าน หรือท่องเที่ยวใน ต่างจังหวัด โดยใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ เป็นจำนวนมาก สสส. และเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง จึงเริ่มขยายความ ร่วมมือกับทาง บขส.เพิ่มขึ้น โดยจับมือ กับบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ร่วมกัน ยกระดับรถทัวร์ไทยให้ปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศ ภายใต้ชื่อ "บขส. มอบของขวัญปีใหม่ ยกขบวนชวนพนักงานเผือก เพื่อรถทัวร์ปลอดภัยไร้การคุกคามทางเพศ" พร้อมเปิดตัว "ทีมพนักงานเผือก" จากพนักงาน บขส. ที่ผ่านการอบรมการสอดส่องป้องกันและแก้ไขปัญหาเมื่อมี ผู้โดยสารถูกคุกคามทางเพศ
รู้จักทีมเผือก
"เรามองว่าเจ้าหน้าที่นี่แหละจะเป็นคนที่เข้ามาช่วยเป็นสื่อกลางที่นุ่มนวล กับสถานการณ์เทาๆ ที่เรายังไม่แน่ใจ ด้วยความประนีประนอม และให้เกียรติทุกฝ่าย เช่น อาจชวนย้ายที่ เอาที่กั้นแขนลง หรือ วิธีอื่นๆ เพื่อป้องปรามไม่ให้เหตุการณ์บานปลาย" ภรณีกล่าว
เสริมด้วย รุ่งทิพย์ ที่ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการรถขนส่งสาธารณะของ บขส. 8-9 หมื่นคน/วัน โดยจากการศึกษาพบผู้หญิงไม่น้อยตกเป็นเป้าการถูกคุกคามทางเพศ แต่ไม่กล้าตอบโต้ ซึ่งหากตกเป็น ผู้ถูกคุกคามทางเพศหรือเห็นผู้อื่นถูกคุกคาม ทั้งผู้โดยสารและพนักงานของ บขส. ช่วยยุติการคุกคามทางเพศได้ โดยทุกฝ่ายต่างหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยสร้างกระแสให้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมหันมาให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศไม่เฉพาะบนระบบ ขนส่งสาธารณะเท่านั้น แต่รวมถึงทุก ๆ พื้นที่ในสังคมด้วย
อีกหนึ่งผู้บุกเบิกทีมเผือก วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ เล่าไอเดียว่า การ "เผือก" หรือเข้าไปแทรกแซงเพื่อหยุดการคุกคามครั้งนี้ เครือข่ายเมืองปลอดภัยฯ ได้ร่วมกับ บขส. เสนอมาตรการลดการคุกคามทางเพศบนรถสาธารณะ 3 แนวทาง คือ จัดอบรมพนักงาน ติดกล้องวงจรปิดภายในรถ และพัฒนาระบบการแจ้งเหตุ ถ้ามีการคุกคามทางเพศเกิดขึ้น และ ทำคลิปวีดีโอประชาสัมพันธ์วิธีรับมือสถานการณ์สำหรับผู้ที่ตกเป็นเป้าการคุกคามทางเพศด้วย
"จากในสถานการณ์พื้นที่สาธารณะที่คนกระทำต่อกัน เราพบว่าแรงจูงใจหนึ่งที่มันยังเกิดขึ้นเพราะทำแล้วก็ไม่มีใครเข้าไปยุ่งหรือแทรกแซง หรือคนที่ถูกกระทำก็ ไม่กล้าโวยวายทำให้ผู้กระทำยิ่งได้ใจ เราก็จึงตีโจทย์ออกมาว่า อย่างน้อย ถ้ามีคนไปแทรกแซง หรือส่งสัญญาณบางอย่างให้ ผู้กระทำเขารู้ตัวว่า คุณถูกจับตาดูอยู่ เห็นในพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเขานะ ก็จะช่วยหยุดยั้งปัญหาได้บ้าง"
อยากเผือกบ้างต้องเริ่มยังไง
สำหรับการรณรงค์ในแคมเปญ "เผือก" นั้นจะมีการเสนอแนวทางและวิธีการง่ายๆ ในการเข้าช่วยเหลือ แทรกแซก การคุกคามทางเพศ เช่น ตะโกนส่งเสียง หยิบมือถือขึ้นมาถ่าย แจ้งพนักงานรถโดยสาร ทำเป็นทีว่ารู้จักผู้ถูกกระทำ เป็นต้น เพื่อให้ผู้โดยสารตระหนักและรับรู้แนวทางการรับมือกับปัญหาและแหล่งให้ความช่วยเหลือ
โดยทางทีมงานให้การอบรมให้แก่พนักงานคนขับ 1 ชั่วโมงและ พนักงานต้อนรับ 2 ชั่วโมง
"ตอนแรกเราก็เกรงใจเขานะ เพราะกลัวเขาเหนื่อยลงจากรถมา แต่กลายเป็นว่า เขาอยากทำ คึกคักกันมาก" วราภรณ์ กล่าวต่อว่า "แต่ก่อนหน้าที่จะมาอบรมเขา เราเคยถามจากพนักงานว่าเคยได้รับการอบรมมาก่อนไหม ปรากฏว่ามีพนักงานต้อนรับที่เคยผ่านการอบรมจากทางสหภาพบ้างไม่กี่คน ส่วนคนขับนี่แทบจะไม่เคยเลย ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่เรื่องนี้ อีกปัญหาคือ จะมีพนักงานเข้าออกเยอะเพราะฉะนั้น การมีคู่มือมันดีตรงที่ใครก็สามารถศึกษาและปฏิบัติตามได้เลย ยิ่งถ้าเราผลักดันให้หลักสูตรนี้เป็นเทรนนิ่งและสอดแทรกไปกับเรื่องการพัฒนาคุณภาพการบริการด้านอื่นๆ ก็เชื่อว่าจะเกิดการขยายผลในระยะยาว"
อย่างไรก็ดี เพราะพนักงานของ บขส. มีจำนวนมาก และมีพนักงานเข้าออกในตำแหน่งงานต่างๆ อยู่ตลอด การจัดฝึกอบรมเพียงอย่างเดียวอาจไม่ครอบคลุมพนักงานทั้งหมด ขณะเดียวกัน บริการขนส่งสาธารณะ ประเภทอื่นก็มีปัญหาการคุกคามทางเพศ ดังนั้น เพื่อกระจายพลังทีมเผือกให้แพร่หลายในพนักงาน ทางคณะทำงานฯ จึงพัฒนาช่องทาง E-learning เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานของหน่วยงานขนส่งสาธารณะอื่น สามารถเข้ามาร่วมเรียนรู้ด้วยตนเองได้ด้วย
ผ่านเว็บไซต์ teampueak.org แล้วคลิกเลือก "พนักงานเผือก" ก็จะพบสื่อการเรียนรู้ รูปแบบและตัวอย่างการคุกคามทางเพศ ที่พบบ่อยบนขนส่งสาธารณะ การช่วยเหลือ ผู้ที่ถูกคุกคาม และแหล่งช่วยเหลือที่เป็นตัวช่วยสำหรับพนักงานในการระงับเหตุ นอกจากนี้ ยังมีแบบทดสอบให้ทดลองทำ ด้วยตัวเอง พร้อมเฉลยและคำอธิบาย เพื่อ เสริมสร้างความเข้าใจและทักษะของพนักงาน ในการรับมือกับปัญหาการคุกคามทางเพศ
นอกจากการอบรมเจ้าหน้าที่พนักงาน บขส.ยังเปิดวิดีโอ การติดกล้องวงจรปิด การปรับปรุงระบบร้องเรียนด้วยคิวอาร์โค้ด ซึ่งเป็นมาตรการที่ครบวงจร
"ในอนาคตเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ยังสนใจที่จะขยายวิธีคิดเหล่านี้ ไปสู่ระบบมวลชนแบบอื่น ที่มีคนใช้เป็นจำนวนมาก ที่แม้ว่าอาจจะมีการดูแลเรื่องความปลอดภัยมากอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีมิติอื่นที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน เราไม่ได้คิดว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกันช่วยสอดส่องดูแล" ภรณี เอ่ยเสริม
ด้าน จิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า ปัจจุบัน บขส. มีรถโดยสารจำนวน 480 คัน และรถร่วมของบริษัทเอกชนที่อยู่ในความดูแลของ บขส. กว่า 4,000 คัน มีเจ้าหน้าที่ 2,800 คน โดยตั้งเป้าภายในสิ้นปี 2562 พนักงานและรถในระบบของ บขส. จะเข้าร่วมกับโครงการนี้ทั้งหมด
"บขส. รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือ กับเครือข่ายเมืองปลอดภัยฯ ในการออกมาตรการและวิธีการที่หลากหลายและ เป็นรูปธรรมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศที่อาจเกิดขึ้นบนรถในระบบของ บขส. โดยมาตรการเหล่านี้ถือเป็นของขวัญจาก บขส. ที่มอบให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการในช่วงปีใหม่"
โดยผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน สามารถร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ของ บขส. "transport.co.th" และฮอตไลน์ 1490 หรือร้องเรียนผ่านคิวอาร์โค้ด ซึ่งในอนาคต บขส.จะติดไว้บนรถทุกคัน