ชวนคนไทยปรับพฤติกรรมสุขภาพ

ห่างไกลโรคหัวใจและหลอดเลือด

 

 

          กระทรวงสาธาณสุข เผยตัวเลขทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดกว่า 17.5 ล้านคน และมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนคนไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เฉลี่ยชั่วโมงละ 4 คน และที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสูงขึ้น 3 เท่าตัว เพื่อป้องกันการสูญเสีย กระทรวงสาธารณสุขจัดกิจกรรมรณรงค์ “วันหัวใจโลก” ภายใต้แนวคิด “รักษ์หัวใจ ในที่ทำงาน”

ชวนคนไทยปรับพฤติกรรมสุขภาพ 

          ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยในงานวันหัวใจโลก เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา กล่าวว่า โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นอีกโรคหนึ่งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตติดอันดับหนึ่งของโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปี 2558 จะมีผู้เสียชีวิตจากโลกนี้เพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน สำหรับประเทศไทยเอง พบว่าอัตราการเสียชีวิตโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้นติดอันดับ 1 ใน 2 มาโดยตลอด โดยปี 2552 มีผู้เสียชีวิต 35,050 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 4 คน ส่วนผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดระหว่างปี 2542-2551 เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า

 

          “กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคที่เกิดจากวิถีชีวิตที่ขาดสมดุล สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี ขาดการใส่ใจดูแล ควบคุม ป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน โรคอ้วน ภาวะเครียด ไม่ออกกำลังกาย บริโภคอาหารไม่ถูกสัดส่วน สูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งร้อยละ 80 ของโรคหลอดเลือดและหัวใจสามารถป้องกันได้ โดยการปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตในแต่ละวันให้ลดปัจจัยเสี่ยง โดยใช้หลักใส่ใจ 3 อ. คือ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ และ 2 ส. คือ ไม่สูบบุหรี่ ลดดื่มสุรา”

          รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเสริมสร้างมาตรการลดปัจจัยเสี่ยงและปรับพฤติกรรมสุขภาพ ลดภาระโรค และภัยคุกคาม โดยบูรณาการดำเนินงานทุกหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งงานส่งเสริมสุขภาพ เฝ้าระวัง ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูความพิการที่เกิดจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเรื้อรังอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการรณรงค์ไปสู่ประชาชนให้เกิดความตระหนักและสามารถจัดการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าวได้ โดยการสร้างวัฒนธรรมสุขภาพใหม่ ปรับพฤติกรรมสุขภาพ กินพอดี ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักผลไม้ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดเหล้า บุหรี่

 

          ทางด้าน นายแพทย์มานิตย์ ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่ขยายวงกว้างและทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น มีการดำเนินโรคที่ใช้เวลานานกว่าจะแสดงอาการให้เห็น ทำให้ผู้ที่เป็นโรคในระยะเริ่มต้นมักไม่รู้ตัว ประกอบกับไม่ทราบวิธีการดูแลสุขภาพตนเองเพื่อป้องกันโรค จึงมีวิถีชีวิตที่ไม่เหมาะสมและขาดสมดุล

 

          “ประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรไปตรวจสุขภาพปีละครั้ง เพื่อจะได้ทราบว่าท่านมีความเสี่ยงหรือไม่ เพื่อที่จะได้รับคำแนะนำในการปรับพฤติกรรมความเสี่ยง หากพบกว่าเป็นโรคแล้วจะได้รีบรักษา ไม่ปล่อยให้โรครุนแรงมากขึ้น จนเกิดภาวะแทรกซ้อน กลายเป็นปัญหาสาธารสุขของประเทศ

 

          การป้องกัน ควบคุมการเกิดโรคและหลอดเลือดอย่างยั่งยืน ควรให้บุคคล ชุมชน และเครือข่ายต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม เน้นการสร้างและพัฒนาระบบการเฝ้าระวัง การพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการดำเนินงานในการป้องกันควบคุมโรค การสื่อสารข้อมูลสุขภาพ และสื่อสารความเสี่ยงที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง”

 

          ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ อินเตอร์เน็ต วิทยุและโทรทัศน์ รวมทั้งได้จัดส่งประเด็นรณรงค์ พร้อมสนับสนุนสื่อต้นแบบ ให้หน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศ เพื่อให้นำไปเผยแพร่รณรงค์ในระดับภูมิภาค จะได้เข้าถึงประชาชนในระดับท้องถิ่น เป็นการสร้างกระแสให้ประชาชนตื่นตัว เกิดความเข้าใจ ตระหนักถึงธรรมชาติและความรุนแรงของโรคดังกล่าว รวมถึงวิธีการปรับพฤติกรรมสุขภาพให้ถูกต้อง เหมาะสม ช่วยลดปัญหาจากภาระโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือเมื่อเป็นโรคแล้วก็สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

 

update:29-09-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

Shares:
QR Code :
QR Code