ชวนคนเมืองบริจาคเงินช่วยปลูกสมุนไพร

สมุนไพรไทยเข้าขั้นหายาก ชวนคนเมืองบริจาคเงินช่วยปลูก


ชวนคนเมืองบริจาคเงินช่วยปลูกสมุนไพร thaihealth


"สมุนไพรหลัก ๆ ที่ตลาดต้องการตลอดเวลา คือ ไพล ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร ว่านชักมดลูก ผิวมะกรูด นำไปใช้ทำลูกประคบ สปาต่าง ๆ นำไปใช้อบสมุนไพร อย่างตอนโรคซาร์สระบาด ฟ้าทะลายโจรของเราขายดีมาก  ชัชวาลย์ ชูวา หัวหน้าศูนย์สมุนไพรตะบัลไพร อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ บอกเล่าถึงตลาดของสมุนไพร ในฐานะองค์กรเอกชนที่ทำงานเรื่องหมอพื้นบ้านโดยใช้ตำรับยาสมุนไพรและการรักษาด้วยหมอพื้นบ้านมาตั้งแต่ปี 2538 ตลอดจนส่งเสริมให้ชาวบ้านหันมาปลูกสมุนไพรเคียงคู่ไปกับอาชีพทำนา จนทำให้มีรายได้เสริมเป็นกอบเป็นกำ


ชัชวาลย์ บอกว่า หัวใจหลักของศูนย์ตะบัลไพร เน้นการพึ่งตัวเองเป็นหลัก สร้างสมดุลทั้งกายใจและสิ่งแวดล้อม แม้มีเทคโนโลยีเข้ามาแต่ก็ยังมีฐานของความรู้เก่า เช่นเดียวกับการรักษาด้วยหมอพื้นบ้าน ศูนย์ตะบัลไพรได้จัดตั้งเป็นโรงงานผลิตยาในปี 2541 และต่อยอดมาส่งเสริมให้คนในชุมชนปลูกสมุนไพร โดย มูลนิธิสุขภาพไทย เข้ามาให้ความรู้ เรื่องวิธีการปลูก ระยะเวลาการเก็บเกี่ยว เพื่อจะให้ยาสมุนไพรมีสรรพคุณเข้มข้นที่สุด ชาวบ้านใช้พื้นที่เล็ก ๆในสวนหลังบ้านปลูกสมุนไพรไม่ว่าจะเป็นขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร มะกรูด เสลดพังพอน เป็นต้น ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่นี่ส่งไปยังโรงพยาบาลชุมชน 17 แห่ง ในจังหวัดสุรินทร์ และยังมีโรงพยาบาลใน จ.ขอนแก่น รวมทั้ง รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ก็สั่งชวนคนเมืองบริจาคเงินช่วยปลูกสมุนไพร thaihealthวัตถุดิบบางชนิดนำไปปรุงยา


"เมื่อชาวบ้านได้ปลูก พบว่าไม่ต้องดูแลใส่ปุ๋ยมากเหมือนกับการปลูกข้าว ลงต้นกล้าครั้งเดียว 1-2 ปีก็เก็บผลผลิตได้ และราคาไม่ขึ้นลงเหมือนข้าวมีรายได้ชัดเจน จัดการง่าย" หัวหน้า ศูนย์สมุนไพรตะบัลไพร บอกเล่า


ชัชวาลย์ บอกว่า จุดแข็งของศูนย์คือทำให้ชาวบ้านมีรายได้เสริม ทั้งมาทำงานแปรรูปสมุนไพรในโรงงานและปลูกสมุนไพรป้อนโรงงาน นอกจากนี้ยังทำให้ผู้สูงอายุในพื้นที่มีรายได้ เช่น ผิวมะกรูดโรงงานซื้อในลักษณะตากแห้ง คนแก่ทำได้เมื่อเก็บได้มากก็นำมาขาย กก.ละ 40-50 บาท แต่จุดอ่อนของศูนย์คือไม่มีทุนหมุนเวียนที่จะขยายให้โรงงานใหญ่ ขึ้น รายได้ที่ได้มาจะเป็นทุนในการดำเนินการ เป็นลักษณะนี้ตลอดมา ซึ่งรายได้แต่ละคนขึ้นอยู่กับพื้นที่ปลูก เฉลี่ยต่อปีบางครอบครัวมีรายได้ถึง 20,000 บาท ในการขายเสลดพังพอน ขมิ้นชัน เป็นต้นความรู้ด้านสมุนไพรของศูนย์ตะบันไพร จะนำมาจัดแสดงในงาน มหกรรมอาหารและสุขภาพวิถีไท ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 25-28 มิ.ย. นี้ อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยแผนงานอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายภูมิปัญญา


สุขภาพวิถีไทและเครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร จัดขึ้น ในเรื่องราวของสมุนไพรหายากต่าง ๆ อยู่ในโซนลานหมอพื้นบ้าน 4 ภาค สำหรับเครือข่ายหมอพื้นบ้าน จ.สุรินทร์ จะมีสมุนไพรรสร้อน มานำเสนอ เป็นยาต้มบำรุงธาตุที่มีส่วนประกอบยาเบญจกูล ดีปลี ชะพลู ตรีผลา และอื่น ๆ เพื่อจะปรับธาตุให้สมดุล รวมทั้งนำเสนอเมนูขิงกรอบแก้ว กระชายกรอบแก้ว


ชัชวาลย์ บอกว่าทั้งกระชายและขิง ทั้งสองตัวนี้มีประโยชน์ทางยาแพทย์แผนไทยที่สำคัญ เพราะขิงเป็นยาขับลมลดท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แก้ปวด ช่วยในเรื่องข้อเข่า โดยนำมาคั่วไฟให้น้ำออกไป แล้วใช้น้ำตาลนำไปผัดจนจับตัวเป็นเกล็ด สามารถทำเป็นของกินเล่น หรือพกติดตัวแทนยาอม ช่วยขับลม เมารถเมาเรือใช้ได้


นอกจากนี้ยังนำสมุนไพรใกล้ตัวมาจำหน่าย เช่น เสลดพังพอน ไพล ว่านหางจระเข้ ใบชะพลูและสมุนไพรหายาก เช่น โคคลาน เถาวัลย์เปรียง กำแพง 7 ชั้น ม้ากระทืบโรง กำลังช้างสาร เป็นต้น


"กลุ่มสมุนไพรหายาก หลายชนิดกำลังสูญพันธุ์ เช่น เถาวัลย์เปรียง เมื่อมีผลวิจัยรับรองสรรพคุณในแง่ตัวยาแก้ปวดเมื่อย เดิมทีมีอยู่ในพื้นที่จำนวนมากตามคันนา แต่เมื่อบริษัทยาจากกรุงเทพฯ สั่งซื้อมากขึ้น มาขนไปเป็นคันรถ 10 ล้อ ทำให้ตอนนี้เริ่มหายากแล้ว"


สมุนไพรกำลังถูกรุกรานเช่นเดียวกับผืนป่าของประเทศไทย การส่งเสริมให้ปลูกจึงมีความจำเป็น ในงานนี้จึงได้จัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อให้คนมาร่วมบริจาคเงินสนับสนุนในการปลูกสมุนไพร โดยผู้สนใจบริจาคเงินซื้อสมุนไพรหายากต้นละ 50 บาท เงินจำนวนนี้จะจัดหากล้าพันธุ์สมุนไพรและการดูแลรักษาให้เติบโต ซึ่งปลูกในพื้นที่ทำงานของเครือข่ายหมอพื้นบ้าน 4 แห่ง เช่น ป่าชุมชน ต.เด่นชัย อ.เด่นชัย จ.แพร่ สมุนไพรที่จะปลูก อาทิ หัวข้าวเย็นเหนือ นมนาง ปลาไหลเผือก เป็นต้น


วีระพงษ์ เกรียงสินยศ ผู้อำนวยการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวเสริมว่า นอกจากพืชดังกล่าวแล้ว ต้นห้อมที่ใช้ย้อมผ้ามีมากใน จ.แพร่ กำลังหายไปจากชุมชนเพราะใช้กันมาก  ชาวบ้านที่มีอาชีพทำผ้าหม้อห้อม ต้องหันมาใช้ครามของภาคอีสานไปย้อมแทน ปัจจุบันผ้าที่ย้อมด้วยต้นห้อมแท้ ๆ หาไม่ง่ายนัก งานนี้จึงมาแสดงให้เห็นความต่างของห้อมและครามทั้งผืนผ้าและต้นพันธุ์


พืชสมุนไพรไทยเริ่มเข้าขั้นหายากแล้ว….


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ